กรมศิลปากรอัพเดทผลกระทบโบราณสถานจากเหตุอุทกภัย ย้ำทุกหน่วยงานปกป้องโบราณสถานสำคัญ ทั่วประเทศ
           นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยสถานการณ์ล่าสุดหลังเกิดน้ำท่วมอย่าง ฉับพลันในหลายพื้นที่ ซึ่งกรมศิลปากรได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานใน จังหวัด ปกป้องโบราณสถานสำคัญและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
น้ำไม่ท่วมโบราณสถาน แหล่งมรดกโลกสุโขทัย – ศรีสัชนาลัย – กำแพงเพชร
           สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย รายงานพื้นที่แหล่งมรดกโลก ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย, อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ซึ่งอยู่ในพื้นที่บริเวณประเทศไทยตอนบนที่ได้รับอิทธิพลพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ทำให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมเป็นจำนวนมากและเกิดน้ำท่วมขังรอการระบายภายในบริเวณโบราณสถาน ปัจจุบันภาพรวมของสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เนื่องจากปริมาณฝนตกสะสมลดน้อยลง ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยพบว่า มีปริมาณน้ำฝนที่ท่วมขังไม่มากนักรอการระบายออกจากพื้นที่ ส่วนอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรได้รับผลกระทบจากพายุฝน มีต้นไม้บางส่วนล้มทับทำให้โบราณสถานเสียหายเล็กน้อย ได้แก่ แนวกำแพงศิลาแลงวัดพระนอน และป้อมทุ่งเศรษฐีซึ่งมีน้ำฝนที่ท่วมขังรอการระบาย อย่างไรก็ตาม การเดินทางท่องเที่ยวในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง ๓ แห่ง นักท่องเที่ยวยังคงสามารถเดินทางมาเที่ยวชมโบราณสถานภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ได้ตามปกติ





ภาพที่ ๑ - ๓ : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย







ภาพที่ ๔ - ๖ : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย


สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
          พื้นที่นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ถือว่ามีความเสี่ยงระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อ ประเมินแล้วพบว่าจะมีผลกระทบกับโบราณสถานที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบริเวณภายในและภายนอกเกาะเมืองทั้งหมด ดังเช่น วัดเชิงท่า วัดธรรมาราม วัดกษัตราธิราชวรวิหาร วัดไชยวัฒนาราม ป้อมเพชร บ้านโปรตุเกสและบ้านฮอลันดา ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ ๑๗ กันยายน ที่ผ่านมา กรมศิลปากรจึงติดตั้งแผงป้องกันน้ำในจุดแรกคือวัดไชยวัฒนาราม เนื่องจาก เป็นพื้นที่ที่มีระดับต่ำสุด และดำเนินการในโบราณสถานอื่นๆ ตามลำดับ
          ล่าสุดเมื่อเวลา ๐๖.๐๐ น. ของวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๔ เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำท้ายเขื่อน ๒,๗๔๙ ลบ.ม. ต่อวินาที ทำให้ขณะนี้ระดับน้ำสูงกว่าสันเขื่อนแล้วในโบราสถานบางแห่ง เช่น วัดไชยวัฒนารามและวัดธรรมาราม ในระดับ ๓๐ - ๔๐ เซนติเมตร อย่างไรก็ตามแผงป้องกันน้ำของโบราณสถานทั้งสองแห่งสามารถป้องกันน้ำได้ถึงระดับ ๒ - ๒.๕ เมตร ต่อจากนี้กรมศิลปากรได้มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเตรียมกำลังคนและวัสดุอุปกรณ์ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เทศบาลฯ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดพระนคร ศรีอยุธยา ฯลฯ





ภาพที่  ๗ - ๙ : วัดธรรมาราม จ.พระนครศรีอยุธยา





ภาพที่ ๑๐ - ๑๑ : วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา


ผลกระทบจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่างเสียหายในพื้นที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
          เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายนที่ผ่านมา เกิดเหตุการชำรุดของเขื่อนลำเชียงไกรตอนล่าง ทำให้มวลน้ำ จำนวนมากเริ่มไหลทะลักลงมายังพื้นที่ท้ายเขื่อน บางส่วนของอำเภอเมือง อำเภอโนนไทย อำเภอโนนสูง อำเภอ พิมาย ทำให้เกิดผลกระทบอย่างต่อเนื่องกับโบราณสถาน และแหล่งเรียนรู้ของกรมศิลปากรในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลได้เพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว และเริ่มเอ่อล้นเข้าในพื้นที่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย มากขึ้น ทำให้สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา ต้องเร่งบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานในสังกัดและส่วนราชการต่างๆ เพื่อป้องกันน้ำท่วม โดยระดมเจ้าหน้าที่ทั้งจากสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย หน่วยทหารจากกรมทหารช่างที่ ๒ ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ และจิตอาสาพระราชทาน ๙๐๔ ชุดปฎิบัติการจิตอาสาภัยพิบัติ อบต.กระชอนและตำบลชีวาน กว่า ๕๐ ชีวิต เร่งวางแนวกระสอบทรายเพื่อเสริมความสูงของแนวกระสอบทรายบริเวณริมตลิ่งด้านหลังพิพิธภัณฑ์ที่ติดกับแม่น้ำมูล ซึ่งมีระยะทางยาวกว่า ๑๘๐ เมตร โดยในขณะนี้สามารถวางแนวกระสอบทรายได้ที่ความสูงเหนือจากพื้นตลิ่งโดยเฉลี่ยประมาณ ๖๐ - ๗๐ เซนติเมตร ตลอดแนวความยาวตลิ่ง ทำให้ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำมูลยังอยู่ต่ำกว่าจุดสูงสุดของแนวกระสอบทรายประมาณ ๓๐ – ๔๐ เซนติเมตร นอกจากนี้ ยังทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อคอยสูบน้ำที่ซึมเข้ามาตามแนวท่อ และพื้นของสนามที่อยู่ติดริมแม่น้ำมูล อีก ๒ เครื่อง โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมตลอด ๒๔ ชั่วโมง รวมถึงยังมีการเสริมแนวกระสอบทรายเพื่อป้องกันโดยรอบตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ บริเวณทางเข้าออก เตรียมการขนย้ายเอกสาร หนังสือ และสิ่งของสำคัญภายในอาคารพิพิธภัณฑ์อีกด้วย








ภาพที่ ๑๒ - ๑๕ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

          ด้านอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ขณะนี้สถานการณ์โดยทั่วไปเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ เนื่องจาก ช่วง ๒ – ๓ วันที่ผ่านมา สภาพอากาศปลอดโปร่งและไม่มีฝนตก ทำให้ไม่มีปัญหาน้ำท่วมขัง แต่อย่างไรก็ดีทางอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำประจำจุดเสี่ยงในบริเวณโดยรอบปราสาทพิมาย เพื่อเตรียมการรองรับสถานการณ์หากเกิดฝนตกติดต่อกันหลายวัน นอกจากนี้ยังได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อเตรียมพร้อมและติดตามสถานการณ์ตลอด ๒๔ ชั่วโมง อีกจุดหนึ่งที่สำคัญของพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย คือบริเวณประตูเมืองด้านทิศเหนือ หรือประตูผี ซึ่งติดกับคลองคูเมืองพิมาย และแนวของลำน้ำมูลเก่า ทางอุทยานประวัติศาสตร์พิมายได้จัดวางแนวกระสอบทรายสูงประมาณ ๖๐ – ๗๐ เซนติเมตร ตลอดความยาวแนวประตูเพื่อป้องกันน้ำเอ่อล้นเข้ามาในพื้นที่ของเมืองพิมาย ซึ่งในปัจจุบันระดับน้ำยังคงอยู่ต่ำกว่าแนวกระสอบทรายที่จุดสูงสุดอยู่มาก


          สำหรับโบราณสถานท่านางสระผม และที่ตั้งของสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่ง ลำน้ำเค็ม ทางทิศใต้ของประตูชัย ห่างจากตัวปราสาทพิมายประมาณ ๑ กิโลเมตร เหนือขึ้นไปจากจุดที่เป็นที่ตั้งโบราณสถานท่านางสระผม และสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา ประมาณ ๕๐๐ เมตร เป็นประตูระบายน้ำ ลำน้ำเค็มของกรมชลประทาน ซึ่งลำน้ำเค็มนี้เป็นลำน้ำสาขาที่เชื่อมต่อกับลำจักราช และแม่น้ำมูล ทำหน้าที่รับน้ำ ที่ระบายมาจากอ่างลำเชียงไกรล่างที่อยู่ตอนบนเป็นระยะ ทำให้ขณะนี้พื้นที่บริเวณนี้มีความเสี่ยงจากระดับน้ำของลำน้ำเค็มที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา และบางส่วนของโบราณสถานท่านางสระผมก็เริ่มถูกน้ำท่วมบ้างแล้ว จึงได้เริ่มตั้งแนวกระสอบทรายตลอดแนวอาคารสำนักงาน และบ้านพักเจ้าหน้าที่ รวมถึงเริ่มมีการขนย้ายวัสดุ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ ตลอดจนเอกสารต่างๆ ขึ้นที่สูงเพื่อเป็นการระวังป้องกันน้ำที่อาจจะเอ่อล้นตลิ่งขึ้นมาได้ตลอดเวลา พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ คอยเฝ้าระวังระดับน้ำอยู่ตลอดเวลา

(จำนวนผู้เข้าชม 2064 ครั้ง)

Messenger