พระราชวังหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยา
          การวิเคราะห์และพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดีเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ความรู้ประวัติศาสตร์โบราณคดีสมัยกรุงศรีอยุธยาถือได้ว่าเป็นที่สนใจและถูกจับตานำมาต่อยอดโดยนักวิชาการอย่างกว้างขวาง จึงขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ “พระราชวังหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยา” ซึ่งเป็นการศึกษาและวิเคราะห์ตีความจากพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ และบันทึกชาวต่างชาติ ข้อมูลดังกล่าวเรียบเรียงโดย นายประทีป เพ็งตะโก ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมศิลปากร และถูกตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ “สถาปัตยกรรมในสถาบันพระมหากษัตริย์” โดยสรุป พระราชวังหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยามีพัฒนาการการใช้พื้นที่เป็น 3 ระยะ คือ
          1. ระยะแรก ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 รวม 98 ปี โดยเป็นช่วงที่พระราชวังหลวงตั้งอยู่บริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์ ช่วงแรกพระราชวังหลวงน่าจะประกอบด้วยพระที่นั่งอย่างน้อย 5 องค์ ที่ล้วนสร้างด้วยไม้ คือ - พระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาท - พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท - พระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาท และ - พระที่นั่งตรีมุข
          2. ระยะที่สอง ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลก ถึงรัชกาลสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ รวม 182 ปี >> สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงยกเขตพระราชวังเดิมให้เป็นเขตพุทธาวาส และสร้างพระราชวังใหม่ชิดไปทางด้านเหนือริมแม่น้ำลพบุรี  ในช่วงนี้จะประกอบไปด้วยพระที่นั่งองค์สำคัญได้แก่ - พระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาท - พระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท - พระที่นั่งวิหารสมเด็จ ทั้งนี้ ส่วนพระราชวังมีกำแพงกั้นกับวัดพระศรีสรรเพชญ์
          3. ระยะที่สาม ตั้งแต่รัชกาลของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ถึงสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ รวม 137 ปี  เป็นช่วงที่บ้านเมืองรุ่งเรืองอย่างมาก มีการขยายพระราชวังออกไปทุกทิศทุกทาง ด้านเหนือจรดกำแพงเมือง ด้านตะวันออกจรดท้ายวัดธรรมิกราช ด้านใต้จรดวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระราชวังมีกำแพงสูง 4 เมตร มีป้อม 8 ป้อม ประตูบก 20 ประตู ประตูน้ำ 2 ประตู และช่องกุด 1 ช่อง ภายในพระราชวังประกอบด้วย - พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ตั้งอยู่ด้านเหนือสุด - พระคลังมหาสมบัติ (ด้านใต้ลงมา) - พระที่นี่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ตั้งอยู่พระราชฐานชั้นนอกเป็นที่ประทับทอดพระเนตรฝึกพลสวนสนาม - พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์เป็นที่ประทับท้ายพระราชวัง - พระตำหนักตึกเป็นที่ประทับของพระมเหสี - พระที่นั่งทรงปืน - ตำหนักสวนกระต่าย - ตำหนักสระแก้ว - ตำหนักศาลาลวด - ถังประปา
          จากข้อมูลดังกล่าวจึงได้มีการวิเคราะห์และจัดทำผังสันนิษฐานของพระราชวังหลวงในระยะต่างๆ ไว้ด้วย >> ทั้งนี้ สรุปข้อมูลมาจาก หนังสือสถาปัตยกรรมในสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้สนใจสามารถอ่านต่อได้ที่ https://pubhtml5.com/iytc/tiym
          หากมีการนำข้อมูลการศึกษาวิเคราะห์ไปต่อยอด การอ้างอิงข้อมูลพื้นฐานเป็นมารยาทที่พึงกระทำในแวดวงนักวิชาการ







----------------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา https://www.facebook.com/AY.HI.PARK/posts/1395881527427348

----------------------------------------------------------------------

(จำนวนผู้เข้าชม 7062 ครั้ง)