พระนารายณ์เทพเจ้าเก่าแก่ของฮินดู

          ทับหลังสลักภาพพระนารายณ์ทรงครุฑ ศิลปะลพบุรี (ศิลปะเขมรแบบบาแค็ง) กำหนดอายุ พุทธศตวรรษที่ ๑๕ หรือราว ๑,๑๐๐ ปีมาแล้ว สร้างขึ้นด้วยหินทราย ใช้เทคนิคการจำหลักหรือสลักด้วยเครื่องมือโลหะ ขนาด กว้าง ๘๕.๕ ซม. ยาว ๑๗๕ ซม. หนา ๒๐ ซม. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ ได้รับมอบจากอำเภอปราสาท และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุของชาติ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๗
          ทับหลังในสถาปัตยกรรมขอม หมายถึง แท่งหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางเหนือกรอบประตูสลักลวดลายภาพเล่าเรื่องทางศาสนา วรรณคดีเกี่ยวกับศาสนา ลายพวงมาลัย ลายใบไม้ เป็นต้น ลายที่ปรากฏบนทับหลังนี้สามารถนำมากำหนดอายุสถาปัตยกรรมได้
          ทับหลังชิ้นนี้สลักลายเต็มแผ่น องค์ประกอบภาพแบ่งเป็น ๒ ส่วน มีแนวลายกลีบบัวเป็นเส้นแบ่ง ส่วนบนสุดสลักเป็นซ่องซุ้ม ๑๓ ช่อง มีรูปบุคคลประนมมือ ภาพปรากฏเพียงช่วงอก พื้นที่ตรงกลางสลักภาพพระนารายณ์สี่กรประทับนั่งมหาราชสีลาสนะ พระหัตถ์ขวาบนถือสังข์ พระหัตถ์ขวาล่างถือคฑา พระหัตถ์ซ้ายบนถือจักร พระหัตถ์ซ้ายล่างถือภู ทรงสวมชฎามงกุฎ ประทับนั่งบนไหล่ครุฑที่ยืนบนแท่นรูปกลีบบัวมือสองข้างของครุฑยุคหางนาค ๒ ตัวไว้ ลำตัวนาคสลักเป็นลายดอกไม้สี่กลีบทอดโค้งยาวตามแนวทับหลังทั้งสองข้าง นาคมี ๓ เศียรหันหน้าตรง เหนือลำตัวนาคเป็นลายใบไม้เต็มใบ ใต้ลำตัวนาคเป็นลายใบไม้ม้วน ส่วนล่างสุดของทับหลังเป็นลายกลีบบัวมีเกสร ลวดลายที่ปรากฏบนทับหลังมีลักษณะของศิลปะขอมแบบบาแค็ง ได้แก่ ภาพคนโผล่ออกมาจากซุ้ม แนวลายกลีบบัว ครุฑใบหน้าคล้ายมนุษย์แต่มีจะงอยปาก มีปีก มีขาคล้ายขาสิงห์ ลักษณะจะงอยปากเป็นแบบที่ปรากฏมาแต่ศิลปะขอมแบบพะโค
          พระนารายณ์ หรือพระวิษณุ ถือเป็น ๑ ใน ๓ ของเทพผู้ยิ่งใหญ่(ตรีมูรติ) ในศาสนาฮินดู ประกอบด้วย พระพรหมเป็นเทพผู้สร้าง พระนารายณ์เป็นเทพผู้รักษา และพระอิศวร(พระศิวะ)เป็นเทพผู้ทำลาย พระนารายณ์เป็นเทพเก่าแก่ของอินเดียตั้งแต่ยุคพระเวท เดิมเป็นหนึ่งในเทพแห่งแสงอาทิตย์ เป็นส่วนหนึ่งของแสงอาทิตย์ มีหน้าที่ก้าว ๓ ก้าว หรือที่เรียกว่า ตรีวิกรม คือ เป็นเทพแห่งอาทิตย์ตอนเช้า ตอนเที่ยงและตอนเย็น กลุ่มเทพแห่งแสงอาทิตย์ที่มีอยู่หลายองค์ เช่น สุริยเทพเป็นเทพแห่งแสงอาทิตย์ทั้งปวง สาวิตรีเทพแห่งแสงอาทิตย์สีทองยามเช้าและยามเย็น อุษาเทวีเทพแห่งรุ่งอรุณ เป็นต้น จนต่อมาในสมัยมหาภารตะและยุคปาณะ ความรุ่งเรืองของพระนารายณ์จึงเจริญขึ้นจนถือเป็นเทพที่ยิ่งใหญ่องค์หนึ่ง ได้นามว่า พระนารายณ์ หมายถึง ผู้เคลื่อนไหวในน้ำ พระนารายณ์เป็นพระโอรสองค์สุดท้ายในบรรดาโอรส ๑๒ พระองค์ของเทวีอทิติกับท้าวกัศปะเทพบิดร แต่บางตำนานในยุคหลังกล่าวว่าอุบัติขึ้นเอง บ้างก็ว่าพระศิวะสร้างขึ้น สถานที่ประทับของพระนารายณ์เรียกว่า ไวกูณฐ์ มีลักษณะเป็นแผ่นทอง มีวิมานประดับด้วยแก้วอยู่กลางเกษียรสมุทรหรือทะเลน้ำนม บัลลังก์คือ พระยาอนันตนาคราช มีพระยาครุฑเป็นพาหนะ พระมเหสีคือ พระลักษมีหรือพระศรีเป็นเทพีแห่งโชคลาภ ความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ เกิดจากการกวนเกษียรสมุทร
          รูปเคารพของพระนารายณ์ จะทำเป็นเทพที่มีเศียรเดียว มี ๔ กร และทรงถืออาวุธหลายอย่าง อาวุธที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของพระนารายณ์ คือ จักร และสังข์ ซึ่งจะต้องถืออยู่เป็นประจำ ส่วนอีก ๒ กร อาจถืออาวุธอย่างอื่นแตกต่างกันไป เช่น คฑา ตรี ดอกบัว บ่วงบาศ ฯลฯ แต่ละอย่างก็มีประวัติความเป็นมาความหมายต่างกัน ดังนี้
          - จักร มีชื่อว่า วัชรนาถ หรือจักรสุทรรศน์ เป็นจักรที่พระเพลิงมอบให้เป็นอาวุธ บางตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นจากรัศมี และความร้อนแรงขององค์สุริยเทพ เป็นเครื่องหมายของดวงอาทิตย์และแทนวงโคจรของดวงอาทิตย์รอบจักรวาล
          - สังข์ มีชื่อว่า ปาญจะชันยะ มีประวัติเล่าว่าเดิมเป็นเปลือกหอยสังข์หุ้มกายอสูรชื่อ ปัญจชน ต่อมาได้ถูกพระกฤษณะฆ่าตาย จึงได้นำเปลือกสังข์มาใช้เป็นอาวุธ สังข์เป็นสัญลักษณ์ของน้ำ ชีวิต และความอุดมสมบูรณ์ เป็นอาวุธสำหรับขว้างไปทำลายส่วนที่เป็นหัวใจของศัตรูโดยเฉพาะ นอกจากนั้นยังใช้เป็นเครื่องเป่าเพื่อประกาศการเริ่มต้นของเหตุการณ์อันเป็นมงคล สามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายต่างๆ ได้
          - คฑา มีชื่อว่า เกาโมทก หรือนันทา เป็นสิ่งที่พระเพลิงมอบให้พร้อมจักรวัชรนาถ ส่วนความหมายของคฑา หมายถึง ผู้คุ้มครอง สร้างระเบียบและลงโทษผู้ทำความชั่วร้ายโดยเฉพาะอสูรต่างๆ ซึ่งเป็นศัตรูของเทพเจ้า
          - ดอกบัว เป็นสัญลักษณ์ของโลกและการสร้างโลก อย่างไรก็ตามบางครั้งพระนารายณ์จะถือวัตถุรูปกลมในฝ่ามือแทน คือ ภู หรือแผ่นดิน อันเป็นสัญลักษณ์ของโลกเช่นกัน
          พระนารายณ์จะทรงฉลองพระองค์อย่างกษัตริย์ สวมมงกุฎ กลางพระอุระจะมีขน พระอุระเป็นเครื่องหมายศรีวัตสะ อันมีกำเนิดจากการกวนเกษียรสมุทรเป็นอิตถีพลังหรือศักติ โดยวิธีรวมตัวเป็นพระนารายณ์อย่างมหัศจรรย์ คือ แทรกตัวผ่านผิวหนังที่อุระข้างขวาเข้าไปสถิตอยู่ในหัวใจของพระนารายณ์ ตรงรอยแทรกเข้าไปนั้นเหลือปรากฏเป็นกลุ่มขนบนรอยปาน ในการสร้างรูปเคารพพระนารายณ์มักแสดงให้เห็นศรีวัตสะในรูปดอกไม้ ๔ กลีบ ทรงขนมเปียกปูน ส่วนผิวกายจะแตกต่างไปตามยุค ซึ่งยุคในเทพนิกายฮินดูได้แบ่งตามคุณงามความดีของมนุษย์ ดังนี้
          ๑. กฤดายุค (กฺริดา-) น. เป็นยุคที่มนุษย์ประกอบไปด้วยคุณงามความดี มีธรรมะสูงสุด คือ เต็ม ๔ ใน ๔ ส่วน และมีอายุยืนยาวที่สุด ยุคนี้มีอายุเท่ากับ ๑,๗๒๘,๐๐๐ ปีของโลกมนุษย์ พระนารายณ์ยุคนี้มีผิวกายสีขาว
          ๒. ไตรดายุค (ไตฺร-) น. เป็นยุคที่ความดีและความซื่อสัตย์ของมนุษย์เสื่อมลงเหลือ ๓ ใน ๔ ส่วนเมื่อเทียบกับในสมัยกฤดายุค พระนารายณ์มีผิวกายเป็นสีแดง
          ๓. ทวาบรยุค (ทะวาบอระ-) น. เป็นยุคที่ความดีของมนุษย์เหลือเพียงครึ่งเดียว หรือเหลือเพียง ๒ ใน ๔ ส่วน เมื่อเทียบกับในสมัยกฤดายุค พระนารายณ์มีผิวกายเป็นสีเหลือง
          ๔. กลียุค (กะลี-) น. เชื่อกันว่าเป็นวาระสุดท้ายของโลกเป็นยุคที่ศีลธรรมเสื่อม เป็นยุคที่ความดีของมนุษย์เหลือเพียง ๑ ใน ๔ ส่วน เมื่อเทียบกับในสมัยกฤดายุค และอายุของมนุษย์ก็สั้นลงโดยไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน ช่วงเวลาที่มีแต่ความรุนแรงเลวร้ายเกิดขึ้น พระนารายณ์ยุคนี้มีผิวกายสีดำ

---------------------------------------------------------------------
ผู้เรียบเรียง : นายกรภัทร์ สุขใหญ่ พนักงานประจำพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา
---------------------------------------------------------------------
อ้างอิง :
๑. ผาสุข อินทราวุธ, รูปเคารพในศาสนาฮินดู. นครปฐม : มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๒. ๒. พีรพน พิสณุพงศ์, “วิวัฒนาการมนุษยชาติกับเรื่องนารายณ์อวตาร” ศิลปากรปีที่ ๓๘ ฉบับที่ ๓ (พฤษภาคม – มิถุนายน ๒๕๓๘) หน้า ๑๐๙. ๓. ศิลปากร, กรม, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย : แหล่งรวมมรดกวัฒนธรรมอีสาน. กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), พิมพ์ครั้งแรก, ๒๕๓๖. ๔. ศิริพร สุเมธารัตน์, หลักฐานโบราณคดีในเมืองสุรินทร์. อุบลราชธานี : โรงพิมพ์ศิริธรรมออฟเซ็ท, ๒๕๕๐.

(จำนวนผู้เข้าชม 4585 ครั้ง)