การสร้างสรรค์ผลงานด้านนาฏดุริยางคศิลป์ ของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ระบำเสียมกุก – ละโว้
          ระบำเสียมกุก – ละโว้ เป็นผลงานการสร้างสรรค์ด้านนาฏดุริยางคศิลป์ ของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพสลักนูนต่ำรูปขบวนเสียมกุกกับขบวนละโว้ ณ ระเบียงปราสาท นครวัด ประเทศกัมพูชา ขบวนดังกล่าวเป็นของชาวสยามและชาวละโว้ ที่เป็นกลุ่มเครือญาติกับราชสำนักกัมพูชา สื่อความหมายถึงการเคลื่อนขบวนไปร่วมพิธีกรรมของอาณาจักร ระบำชุดนี้ได้อาศัยแนวความคิด มาจากระบำโบราณคดี ของกรมศิลปากร เป็นต้นแบบในการการสร้างสรรค์การแสดง จัดแสดงเผยแพร่ให้ประชาชนชมครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ณ โรงละครแห่งชาติ (โรงเล็ก) เนื่องในงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “ขอมอยู่ไหน? ไทยอยู่นั่น? ขอมกับไทย ไม่พรากจากกัน” และในรายการศรีสุขนาฏกรรม เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ณ โรงละครแห่งชาติ


ภาพ ลายเส้นจากสลักหินบนระเบียงปราสาทนครวัด ถอดแบบภาพ โดย อาจารย์คงศักดิ์ กุลกลางดอน คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

          การสร้างสรรค์ผลงานด้านนาฏดุริยางคศิลป์จากภาพสลักรูปขบวนเสียมกุกกับขบวนละโว้ให้มีชีวิตชีวาเพิ่มขึ้นใหม่อีกชุดหนึ่งในครั้งนี้ประดิษฐ์ท่ารำโดยนางสาววันทนีย์ ม่วงบุญ เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่ง นักวิชาการละครและดนตรีทรงคุณวุฒิ ประดิษฐ์เครื่องแต่งกายและอาวุธตามที่ปรากฏในภาพสลักนูนต่ำ โดยนางสุพรทิพย์ ศุภรกุล เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งนาฏศิลปินชำนาญงาน ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร เรียบเรียงทำนองเพลงโดยนายไชยยะ ทางมีศรี ผู้เชี่ยวชาญดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร การประดิษฐ์ท่ารำระบำเสียมกุก – ละโว้ ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้ใช้พื้นฐานกระบวนท่ารำของตัวพระ ตัวยักษ์ และตัวลิง เช่น ท่ากันเข่า ท่าย่อตัว ท่าลงเหลี่ยม ท่าตั้งวง ท่าย้ำเท้า และท่าการใช้อาวุธเป็นท่าหลัก ในการแสดง สื่อความหมายถึงชายชาตรีที่มีความองอาจ สง่าผ่าเผย สนุกสนาน ไม่แข็งกร้าว และดุดันของกองทัพทั้งสองฝ่ายรวมทั้งนำท่าทางที่ปรากฏในภาพจำหลักมาร่วมใช้ในกระบวนท่ารำให้ผสานกับท่วงทำนองเพลงที่ไม่มีบทขับร้อง รูปแบบการแปรแถวได้นำแนวคิดมาจากกระบวนการตรวจพลในการแสดงโขน ที่มีขั้นตอนระเบียบแบบแผน อาทิ การปรากฏกายของแม่ทัพ เดินตรวจแถว การใช้อาวุธถามความพร้อม และเคลื่อนทัพ ผู้แสดงระบำเสียมกุก – ละโว้ เป็นนาฏศิลปินผู้ชาย ของสำนักการสังคีต ที่มีพื้นฐาน และทักษะ การแสดงโขน ตัวพระ ตัวยักษ์ ตัวลิง โดยแบ่งผู้แสดงออกเป็น ๒ ขบวน คือขบวนเสียมกุกจากลุ่มน้ำโขง กับขบวนละโว้จากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขบวนละ ๑๐ คน ซึ่งในแต่ละขบวนจะประกอบด้วยไพร่พลและเจ้านาย ต่างถืออาวุธ มีพาหนะคือช้างที่ใช้ในการเดินทางยกขบวนเดินทางไปยังบริเวณหน้าปราสาทนครวัด โดยมิได้ ทำศึกสงครามต่อกัน แต่มาร่วมรื่นเริงร้องรำทำเพลง สนุกสนาน และสรรเสริญเจ้านายของแต่ละฝ่ายที่จะ เข้าร่วมทำพิธีกรรมกับกษัตริย์กัมพูชา


นักแสดงผู้ชายตัวพระ ตัวลิง และตัวยักษ์

          เครื่องแต่งกายระบำเสียมกุก – ละโว้ สำนักสังคีตได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ในการศึกษาและออกแบบเครื่องแต่งกายประกอบการแสดง ที่มีแรงบันดาลใจจากภาพสลักที่ระเบียงคด ปราสาทนครวัด มีแนวความคิดการออกแบบเครื่องแต่งกายที่บ่งบอกถึงศิลปวัฒนธรรมทั้งสองฝ่าย ซึ่งคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการตัดเย็บและการสวมใส่ใช้งานได้จริง โดยแยกฝ่ายของเครื่องแต่งกายระหว่างเขมรกับไทยอย่างชัดเจนจากการแต่งกายในการเดินขบวนของฝ่ายไทยเป็นชนเผ่าที่ยังไม่มีระเบียบวินัยสื่อให้เห็นถึงการเข้มงวดของการนุ่งผ้าก็จะไม่ค่อยเรียบร้อยมีทั้งการนุ่งผ้าแบบสั้นและแบบยาว ซึ่งต่างกับฝั่งของเขมรที่มีวินัยมากกว่า การแต่งกายจะมีความเรียบร้อยเหมือนกันทุกคน อันมีรายละเอียดของเครื่องแต่งกาย ดังนี้ ฝ่ายเสียมกุก ประกอบด้วยเจ้านาย และขบวนเสียมกุก ผมเกล้ารวบที่กลางศีรษะ ปล่อยปลายผมตกลงบริเวณบ่า ใส่ต่างหูห่วงกลม เส้นผมถักและตกแต่งด้วยดอกไม้ใบสดและขนนก ห่มผ้าทอลายเป็นผ้าแถบคาดอก กำไลข้อมือและกำไลข้อเท้า นุ่งโสร่งคาดทับด้วยเข็มขัดห้อยอุบะ สวมเสื้อแบบคอปาดแขนสั้น ถือธนูเป็นอาวุธ


เครื่องแต่งกายนายทัพ และกองทัพฝ่ายเสียมกุก

          ฝ่ายละโว้ ประกอบด้วยเจ้านาย และขบวนละโว้ ผมเกล้ามวย สวมมงกุฎ และกะบังหน้าสีทองสลักดุนเป็นลวดลายและประดับด้วยอัญมณี นุ่งผ้าโจงกระเบนขมวดชายผ้ามาด้านหน้าคาดทับด้วยเข็มขัด ไม่สวมเสื้อ ใส่ตุ้มหู กำไลรัดต้นแขน กำไลข้อมือและกำไลข้อเท้า ถือหอกยาวเป็นอาวุธ


เครื่องแต่งกายนายทัพ และกองทัพฝ่ายละโว้

          ดนตรีประกอบการแสดงระบำเสียมกุก – ละโว้ บรรเลงโดยวงปี่พาทย์ไม้นวม ซึ่งใช้การปรับรูปแบบ การบรรเลงมาจากวงปี่พาทย์ไม้แข็ง โดยการเปลี่ยนหัวไม้ที่ใช้สำหรับการบรรเลงระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ และฆ้องวงเล็ก จากที่หัวไม้ทำด้วยหนังที่มีความแข็งแรงก็จะเปลี่ยนมาใช้เป็นไม้นวมซึ่งจะใช้ผ้าพันสลับกับเส้นด้ายให้มีความหนานุ่ม ทำให้ลดความดังและความแกร่งกร้าวของเสียงลง เครื่องเป่าแต่เดิมที่ใช้ปี่ในซึ่งมีเสียงดัง ก็เปลี่ยนมาใช้ขลุ่ยเพียงออแทนที่และมีเสียงเบากว่า เพิ่มการสีซออู้อีก ๑ คัน ก่อเกิดให้เสียงจากการบรรเลงมีความกล่อมกล่อมเพิ่มมากขึ้นวงปี่พาทย์ไม้นวมในปัจจุบัน นิยมใช้การบรรเลงและขับร้องในรูปแบบการขับกล่อม และใช้ประกอบการแสดงที่จัดการแสดงภายในอาคาร เช่น โรงละคร หอประชุม ฯลฯ ขนาดของวง เช่นเดียวกับวงปี่พาทย์ไม้แข็งได้แก่วงปี่พาทย์ไม้นวมเครื่องห้า วงปี่พาทย์ไม้นวมเครื่องคู่ และวงปี่พาทย์ไม้นวมเครื่องใหญ่ ประกอบด้วยทำนองเพลงเดิมที่มีอยู่แล้วในทำนองเพลงออกภาษาประกอบด้วย เขมร ลาว และไทย นำมาเรียบเรียงจัดลำดับให้มีความต่อเนื่องสอดคล้องกับกระบวนท่าของการแสดง อันมีรายละเอียด ดังนี้
          ช่วงที่ ๑ ทำนองเพลงแทงวิสัย (ปี่กลอง) ที่มีอัตรา ๒ ชั้น มีความยาว ๒ ท่อนเพลง โดยมีทำนองสำเนียงข่าและขะมุก ประสานเชื่อมเพลงให้เห็นการผสมผสานของชาติพันธุ์ในขบวนเสียมกุกการเคลื่อนขบวนของฝ่ายเสียมกุกแสดงให้เห็นถึงความพร้อมเพรียง และร่วมแรงร่วมใจในการเดินทางไปพบกับขบวนละโว้


ขบวนฝ่ายเสียมกุก

          ช่วงที่ ๒ ทำนองเพลงใบ้คลั่ง ๒ ชั้น ในท่อนที่ ๒ เนื่องจากเพลงนี้มีทำนองที่ยาวผู้เรียบเรียงทำนองเพลงจึงเลือกมา ๑ ท่อนผสานกับเสียงแคนเข้ามาเพื่อแสดงให้ถึงกลุ่มคนชาติพันธุ์ลาวที่อาศัยอยู่ในขบวนเสียมกุก พร้อมทั้งเปิดตัวแม่ทัพของฝ่ายเสียมกุกแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่สง่างาม


เปิดตัวแม่ทัพฝ่ายเสียมกุก

          ช่วงที่ ๓ ทำนองเพลงขอมทรงเครื่องสำเนียงมอญโบราณ การเคลื่อนขบวนพร้อมเปิดตัว แม่ทัพของฝ่ายละโว้ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมเพรียง และร่วมแรงร่วมใจในการเดินทางไปพบกับขบวน เสียมกุก


เปิดตัวแม่ทัพฝ่ายละโว้

          ช่วงที่ ๔ ทำนองเพลงกลองโยน เสริมด้วยเสียงปี่ใน และฆ้องวงใหญ่ให้ทำนองเพลงมีความ โดดเด่นในช่วงของแม่ทัพเสียมกุก และแม่ทัพละโว้พบกันพร้อมทั้งทักทายด้วยมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน แสดงให้เห็นถึงการพบเจอกันทั้งสองฝ่ายด้วยความพร้อมเพรียงด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย


แม่ทัพเสียมกุกและแม่ทัพละโว้พบกันทั้งสองฝ่าย

          ช่วงที่ ๕ ทำนองเพลงจาก แสดงให้เห็นถึงขบวนทัพเสียมกุก และละโว้เดินทางไปบูชาเทพเจ้า เมื่อเดินทางถึงจุดหมาย จากนั้นเป็นการร่ายรำบูชาเทพเจ้าด้วยทำนองเพลงสำเนียงในยุคสมัยลพบุรี บ่งบอกถึงความเจริญทางศิลปวัฒนธรรมที่มีความเป็นระเบียบแบบแผน


กองทัพเสียมกุก – ละโว้ รำบูชาเทพเจ้า

          ช่วงที่ ๖ ทำนองเพลงไทยสำเนียงรวมชาติพันธุ์ท้ายซุ้มลาวแพน ขบวนทัพทั้งสองฝ่ายเดินทางกลับถิ่น แสดงให้เห็นถึงความร่วมใจของขบวนทัพของเสียมกุก และละโว้ ร่วมน้อมบูชาเทพเจ้าด้วยความ เป็นสิริมงคล ยินดีปรีดามาทั้งสองขบวนทัพมาพบกัน ซึ่งเมื่อสำเร็จภาระกิจตามความประสงค์จึงแยกย้ายกลับยังถิ่นฐานของตนเอง


ขบวนกองทัพเสียมกุกและขบวนกองทัพละโว้เดินทางกลับถิ่นฐานของตน

          การสร้างสรรค์ผลงานด้านนาฏดุริยางคศิลป์ ของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร จัดทำขึ้น สอดรับกับพันธกิจและยุทธศาสตร์ด้านการสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มคุณค่ามรดกทางศิลปวัฒนธรรมด้านการพัฒนากระบวนการให้เข้ากับยุคสมัย โดยยึดหลักการและรูปแบบการแสดงทุกชุดจะต้องมีเอกลักษณ์ความเป็นไทย สามารถสื่อสารให้ผู้ชมการแสดง และเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจได้ง่าย รวมทั้งการนำกระบวนการสร้างสรรค์การแสดงไปต่อยอด ประยุกต์ใช้กับการแสดงสร้างสรรค์ในชุดอื่นๆ เพื่อเผยแพร่สู่สังคม สาธารณชน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการหวงแหนอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม

-----------------------------------------------------------------
ผู้เขียน : นายรัฐศาสตร์ จั่นเจริญ นักวิชาการละครและดนตรีชำนาญการ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการสังคีต สำนักการสังคีต
-----------------------------------------------------------------
รายการอ้างอิง
กรมศิลปากร. ระบำโบราณคดี, กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. ๒๕๑๐. ไชยยะ ทางมีศรี. สัมภาษณ์, ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔. วรรณวิภา สุเนต์ตา. เครื่องแต่งกายระบำเสียมกุก – ละโว้อ้างในเอกสารขอมอยู่ไหน? ไทยอยู่นั่น ขอมกับไทย ไม่พรากจากกัน, กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. ๒๕๕๗. วันทนีย์ ม่วงบุญ. สัมภาษณ์, ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔. สุจิตต์ วงษ์เทศ. ขอมอยู่ไหน? ไทยอยู่นั่น ขอมกับไทย ไม่พรากจากกัน, กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. ๒๕๕๗. สุพรทิพย์ ศุภรกุล. สัมภาษณ์, ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔. เสียร ดวงจันทร์ทิพย์. เพลงระบำเสียมกุก – ละโว้ อ้างในเอกสารขอมอยู่ไหน? ไทยอยู่นั่น ขอมกับไทย ไม่พรากจากกัน, กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. ๒๕๕๗.

(จำนวนผู้เข้าชม 5696 ครั้ง)

Messenger