เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
“ดำรงประเทศ” อมตะนิยายของเวทางค์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วรรณกรรมหลายประเภท ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และบทความ เป็นงานเขียนที่มีพัฒนาการอย่างสูงสืบเนื่องมาแต่ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จุดเด่นของวรรณกรรม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มุ่งเน้นการประพันธ์จากวรรณกรรมเริงรมย์ไปสู่วรรณกรรมสะท้อนสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสะท้อนภาพของวิถีชีวิต ค่านิยม และทัศนคติของชนชั้นกลางในการสร้างสังคมประชาธิปไตย อีกทั้งในยุคนี้ยังเป็นยุคเฟื่องฟูของนวนิยายสมัยใหม่ ซึ่งทำหน้าที่สร้างความหฤหรรษ์ทางปัญญาแก่ผู้อ่าน และบุกเบิกแนวทางของวรรณกรรมสัจสังคมนิยม ให้เป็นแนวทางที่โดดเด่นของวรรณกรรมไทยร่วมสมัยมาจนทุกวันนี้ และหนึ่งในวรรณกรรมเล่มสำคัญที่มิอาจกล่าวผ่านเลยไปเล่มหนึ่ง ณ ช่วงเวลานั้น คือ “ดำรงประเทศ”
ดำรงประเทศ เป็นวรรณกรรมที่หายสาบสูญไปเกือบ ๑๐๐ ปี โดยเป็นนวนิยายเรื่องแรกของเวทางค์ หรือ เรืออากาศโททองอิน บุณยเสนา ซึ่งเป็นนักเขียนนวนิยายและเรื่องสั้นร่วมสมัย ในยุคเดียวกับดอกไม้สดและศรีบูรพา แต่น่าเสียดายที่นักเขียนซึ่งใช้นามปากกาว่า เวทางค์ กลับถูกลืมหายไปกับช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางสังคมอย่างน่าเสียดาย ดำรงประเทศ เวทางค์ได้เขียนขึ้นเป็นครั้งแรกในปีพุทธศักราช ๒๔๗๔ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์พานิชศุภผล จำหน่ายราคาเล่มละ ๑ บาท สำหรับท่วงทำนองการเขียนเป็นแบบจินตนิยายในแนวปรัชญาการเมือง โดยวางเนื้อเรื่องและบทบาทของตัวละครเน้นไปในทางให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงแก่นธรรมะ และระบอบ การปกครองของประเทศ ซึ่งขณะนั้นยังมีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช แต่ผู้เขียนได้เน้นเสนอปรัชญาการเมืองในแบบ "ธรรมาธิปไตย" คือการปกครองโดยธรรมเพื่อความเป็นธรรมของราษฎร ซึ่งเป็นการปลุกให้นักอ่านได้ตื่นตัวแต่มิใช่เป็นการปลุกระดมดังเช่นปัจจุบัน ภายในเล่มของดำรงประเทศ แบ่งเนื้อเรื่องออกเป็น ๑๐ บท คือ บทที่ ๑ การสงคราม บทที่ ๒ กษัตราธิราช บทที่ ๓ การอบรม บทที่ ๔ ทาษของคนหรือชาติ บทที่ ๕ ความรัก บทที่ ๖ การปกครอง บทที่ ๗ เมืองบิตุราชและมาตุภูมิ บทที่ ๘ ความสวาท บทที่ ๙ รัฐประสาสโนบาย และบทที่ ๑๐ สาสนคุณ
ดำรงประเทศ ถูกคัดเลือกให้เป็น ๑ ในหนังสือดี ๑๐๐ เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน ประเภทบันเทิงคดี ด้านนิยาย โดยวิทยากร เชียงกูล และคณะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ - ๒๕๔๑ ปัจจุบันสำนักพิมพ์ต้นฉบับได้นำนวนิยายเรื่อง ดำรงประเทศ ซึ่งเป็นวรรณกรรมเก่าและหายากมาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ เพื่อร่วมอนุรักษ์และเผยแพร่แก่สาธารณะอย่างกว้างขวางอีกครั้งในปีพุทธศักราช ๒๕๕๖
ปัจจุบัน “ดำรงประเทศ” จัดเก็บและให้บริการ ณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ โดยฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๗๔ ให้บริการ ณ ห้องหนังสือหายาก อาคาร ๒ ชั้น ๓ และฉบับพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ต้นฉบับ พ.ศ. ๒๕๕๖ ให้บริการ ณ ห้องหนังสือประเทศไทย ราชกิจจานุเบกษา และหนังสือนานาชาติ อาคาร ๑ ชั้น ๓
ดำรงประเทศ โดย เวทางค์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๗๔ โรงพิมพ์พานิชศุภผล
ดำรงประเทศ โดย เวทางค์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๖ สำนักพิมพ์ต้นฉบับ
---------------------------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นางสาวรวิวรรณ พุฒซ้อน บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
---------------------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
ประกาศ วัชราภรณ์. ทำเนียบนักประพันธ์. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, ๒๕๓๒. รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. วรรณกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๗ : การตอบสนองรสนิยมของชนชั้นกลาง วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ๖ (๑): ๗๗ [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๔. จาก: https://e-journal.sru.ac.th/ index.php/jhsc/article/view/111/pdf_107. ๒๕๕๗. วิทยากร เชียงกูล. สารานุกรมแนะนำหนังสือดี ๑๐๐ เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๒. เวทางค์. ดำรงประเทศ. พระนคร: โรงพิมพ์พานิชศุภผล, ๒๔๗๔. เวทางค์. ดำรงประเทศ. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: ต้นฉบับ, ๒๕๕๖.
(จำนวนผู้เข้าชม 1845 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน