เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
"เปียโนจุฑาธุช" เปียโนคู่แห่งสยาม
เปียโน เป็นเครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ด (Keyboard Instruments) มีลิ่มนิ้วหรือแป้นนิ้วสำหรับเคาะหรือดีดให้ค้อนไปตีสาย ทำให้เกิดเป็นเสียงขึ้นมา พัฒนามาจากเครื่องดนตรีในสมัยก่อนหลายชนิดมาประกอบเข้าด้วยกัน เช่น พัฒนาระบบสายมาจากคลาวิคอร์ด รูปร่างและระบบแป้นนิ้วจากฮาร์ฟสิคอร์ด ความพิเศษของเปียโนนั้นสามารถทำให้เสียงดังขึ้นและเบาลงได้ในตัวเอง จึงเป็นที่มาของชื่อเดิมที่เรียกว่า Piano Forte เปียโนหลังแรกดัดแปลงและประดิษฐ์โดย บาโตลัมมิโอ คริสโตเฟอรี่ (Bartolommeo Cristofori, ๑๖๕๕ – ๑๗๓๐) ชาวอิตาลี ภายหลังได้พัฒนาไปเป็นเปียโนขนาดต่างๆ มีการสร้างขึ้นเพื่อความสวยงามตระการตา เพื่อใช้เป็นทั้งเครื่องดนตรีและเครื่องประดับตกแต่งบ้าน สำหรับประเทศไทยนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีการนำเปียโนเข้ามาเมื่อ ยุคสมัยใด แต่ก็พบหลักฐานว่าในสมัยรัชกาลที่ ๔ มิชชันนารีได้มีการนำเปียโนเข้ามาใช้กันแล้ว สมัยนั้นคนไทยเรียกกันว่า “หีบเพลง”
หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร สำนักหอสมุดแห่งชาติ เก็บรักษาเครื่องดนตรีที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไว้หลายชนิด หนึ่งในนั้นคือ “เปียโนจุฑาธุช” หรือเปียโนคู่ (Double Piano) ซึ่งเป็นเปียโนที่มีความเก่าแก่และหายาก มีอายุมากกว่าร้อยปี แม้พิพิธภัณฑ์ เครื่องดนตรีที่มีชื่อเสียงในยุโรปหลายแห่ง เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และเนเธอร์แลนด์ ก็ไม่พบว่าได้เก็บรักษาและจัดแสดงเปียโนลักษณะดังกล่าวนี้ไว้
เปียโนคู่หลังนี้ เดิมเป็นพระราชทรัพย์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย พระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ ๖ จึงนิยมเรียกว่า “เปียโนจุฑาธุช” ทรงสั่งซื้อเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ ๒๔๕๙ เพื่อใช้เป็นการส่วนพระองค์เมื่อครั้งยังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และได้นำขนส่งทางเรือมายังประเทศไทยเมื่อท่านได้สำเร็จการศึกษาแล้ว
ภาพโฆษณา Piano-Double Pleyel จากนิตยสาร “L’illustration” ในปี ค.ศ. ๑๘๙๗ เป็นเปียโนคู่ที่ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรโดย Gustave Lyon ลักษณะรูปทรงของเปียโนคู่จากภาพโฆษณานี้ มีความใกล้เคียงกับเปียโนจุฑาธุชเป็นอย่างมาก
เปียโนจุฑาธุช เป็นหนึ่งในเปียโนที่ผลิตขึ้นเป็นคอลเลคชันพิเศษของเพลเยล (Pleyel) กล่าวกันว่าผลิตขึ้นเพียง ๘ หลังเท่านั้น โดยแต่ละหลังจะมีหมายเลขกำกับ ซึ่งหมายเลขของเปียโนคู่หลังนี้ คือหมายเลข ๑๕๒๙๑๙พัฒนาขึ้นโดย กุสตาฟว์ ลิญง (Gustave Lyon) นักประดิษฐ์เปียโนและผู้สืบทอดกิจการผลิตเปียโนของเพลเยล โดยมีแนวคิดในการออกแบบเปียโนเพื่อให้นักเปียโนสองคนสามารถบรรเลงเปียโนตัวเดียวกันพร้อมกันได้ เปียโนคู่หลังนี้คาดว่าผลิตในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๓๙ (ค.ศ. ๑๘๙๖) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยบริษัทเพลเยล (Pleyel Company) ผู้มีชื่อเสียงในการผลิตเปียโนให้นักดนตรีชั้นนำระดับโลกมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๕๐ (ค.ศ. ๑๘๐๗) อาทิ Chopin, Debussy, Grieg, Mendelssohn, Ravel เป็นต้น
ลักษณะพิเศษของเปียโนคู่หลังนี้คือเป็นเปียโนหลังเดียวแต่มีสองหน้า มีสายสองชุดที่ขึงแบบไขว้ โดยใช้ซาวน์บอร์ด (Soundboard) ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้กระจายเสียงของเปียโนร่วมอยู่ในโครงเปียโนเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากลักษณะภายนอกคล้ายกับการนำเปียโนสองหลังมาหันหน้าชนกัน ผู้เล่นนั่งเล่นกันคนละฝั่ง โดยหันหน้าเข้าหากัน
ลักษณะของสายสองชุดที่ขึงแบบไขว้ ภายในเปียโนคู่ ใช้ซาวน์บอร์ด (Soundboard) ร่วมในโครงเปียโนเดียวกัน
ภายหลังเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลกฯ ทรงสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จึงโปรดฯ ให้นำเปียโนหลังนี้ไปเก็บไว้ที่วังพญาไท ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งแผนกเครื่องสายฝรั่งหลวงขึ้นในกรมมหรสพหลวง ที่สวนมิสกวัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ จึงพระราชทานเปียโนคู่นี้ให้แก่วงดนตรีเครื่องสายฝรั่งหลวงเพื่อใช้ในกิจการของวง โดยศาสตราจารย์พระเจนดุริยางค์เป็นผู้รับสนองพระราชดำริและใช้สอนถ่ายทอดวิชาดนตรีให้แก่ศิษย์ และได้ดูแลสืบเนื่องต่อกันมาตั้งแต่ครั้ง วงเครื่องสายฝรั่งหลวงขึ้นอยู่กับกรมมหรสพ จนมาเป็นวงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร เปียโนหลังนี้จึงตกทอดเป็นสมบัติของกรมศิลปากร ใช้เป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนวิชาดนตรีสากลในโรงเรียนนาฏศิลป์อยู่ระยะหนึ่ง และต่อมาถูกส่งมอบให้อยู่ในความดูแลของกองการสังคีต ภายหลังเปียโนมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมากจนไม่สามารถ ใช้การได้ จึงนำไปเก็บรักษาไว้บริเวณห้องฉากภายในโรงละครแห่งชาติ
สภาพของโครงร่างเปียโนคู่ที่มีร่องรอยของมดปลวก และชำรุดตามกาลเวลา
ซ้าย : ความงดงามของไม้ฉลุที่ใช้สำหรับตั้งโน้ตของเปียโน
ขวา : สภาพของค้อนเปียโนที่ได้รับความเสียหายจากปลวก
ใน พ.ศ. ๒๕๓๓ กรมศิลปากรร่วมกับสมาคมกิจวัฒนธรรม ได้ดำเนินการบูรณะและซ่อมอนุรักษ์เปียโนคู่ โดยการบูรณะครั้งนี้ สมาคมกิจวัฒนธรรมได้มีการรณรงค์หาทุนจากการจัดกิจกรรมให้สาธารณชนได้มีโอกาสมี ส่วนร่วมในการช่วยทำนุบำรุงรักษาสมบัติของชาติด้วยการจัดรายการ “ช้างช่วยเปียโน” ขึ้น โดยฉายหนังเรื่อง “ช้าง” ซึ่งอาจารย์บรูซ แกสตัน แห่งวงดนตรีฟองน้ำ ได้แต่งเพลงประกอบภาพยนตร์และบรรเลงสดเหมือน การฉายหนังในอดีต เพื่อนำรายได้ไปสมทบทุนเป็นค่าใช้จ่ายในการบูรณะและซ่อมอนุรักษ์เปียโน
การซ่อมอนุรักษ์เปียโนคู่ ได้ว่าจ้างบริษัท เอส.ยู. เปียโน ซัพพลาย์ จำกัด ซึ่งมีช่างซ่อมที่มีความชำนาญ ชาวฟิลิปปินส์ คือ นาย Carvates Reamillo เป็นผู้ซ่อม โดยสั่งอะไหล่เปียโนของ Renner นำเข้าจากประเทศเยอรมนี นอกจากนี้ยังมีการเดินทางไปศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมยังเมืองเลนินการ์ด ประเทศรัสเซีย และเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับการอนุรักษ์ด้วย ในการซ่อมอนุรักษ์เปียโนได้พยายามรักษาสภาพเดิมให้คงอยู่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ใช้เวลาดำเนินการซ่อมนานถึง ๑๑ เดือน เมื่อแล้วเสร็จจึงได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่บริเวณชั้น ๒ ของโรงละครแห่งชาติ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๓๘ กรมศิลปากร ได้ส่งมอบเปียโนคู่ให้ไปเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร สำนักหอสมุดแห่งชาติ เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้า ด้านดนตรีต่อไป
เปียโนจุฑาธุช ที่เก็บรักษาไว้ ณ อาคารห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร
ปัจจุบันสำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้เก็บรักษาเปียโนจุฑาธุช ไว้ ณ ห้องท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ ชั้น ๑ อาคารห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร สำนักหอสมุดแห่งชาติ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ วันจันทร์ - วันเสาร์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นางสาวปริศนา ตุ้มชัยพร บรรณารักษ์ชำนาญการ หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร สำนักหอสมุดแห่งชาติ
------------------------------------------------------------------
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
กัลยรัตน์ เกษมศรี. “เปียโนคู่และโครมาติก ฮาร์พ เครื่องดนตรีในห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร”. วารสารวิชาการหอสมุดแห่งชาติ. ๒,๑ (ม.ค. – มิ.ย. ๕๗) ๔๔ – ๔๖. “พบเปียโนโบราณ หนึ่งเดียวในโลก”. ไทยรัฐ. ๔๑, ๑๑๘๙๕ (๑๖ ส.ค. ๓๓), ๑, ๑๗. “เผยโฉมเปียโนคู่ประวัติศาสตร์ คืนสภาพสมบูรณ์”. บ้านเมือง. ๒๐, ๑๐๓๗๘ (๑๕ มิ.ย. ๓๔), ๑๕. สมาคมกิจวัฒนธรรม. มหรสพดนตรี “ช้าง” โดยวงฟองน้ำ. กรุงเทพฯ: สมาคมกิจวัฒนธรรม, ๒๕๓๓. สุกรี เจริญสุข. “เปียโนคู่โบราณของกรมศิลปากร”. ศิลปวัฒนธรรม. ๑๒,๑ (พ.ย. ๓๓), ๙๐ – ๙๕. Corbin, Paul. Pianographie n°1 Le double-Pleyel pneumatique de Gustave Lyon. [Online]. Retrieved 17 March 2021 from https://www.pianosparisot.com/wp-content/uploads/ 2017/02/Pianographie-n%C2%B01.pdf. Facteurs de pianos en France. Ignace Pleyel Brevets. [Online]. Retrieved 18 March 2021 from http://www.lieveverbeeck.eu/Pleyel_Brevets.htm. The spirit of innovation. [Online]. Retrieved 18 March 2021 from https://www.pleyel.com/en/ the-beautiful-story/the-spirit-of-innovation.
(จำนวนผู้เข้าชม 6408 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน