เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
พระศรีอารยเมตไตรย จะมาอุบัติเมื่อใด
ความในพระไตรปิฎกระบุว่า กัปปัจจุบันนี้ เรียกว่า ภัทรกัป แปลว่า กัปเจริญ มีพระพุทธเจ้ามาบังเกิดถึง ๕ พระองค์ อุบัติแล้ว ๔ พระองค์ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ และพระโคดม คงเหลือพระเมตเตยยะ เรียกกันสามัญว่า พระศรีอาริย์ หรือพระศรีอารยเมตไตรย จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในภายภาคหน้า
ตามความเชื่อกระแสหลักในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทที่สืบมาจากลังกา กล่าวว่าขณะนี้พระศรีอาริย์เกิดเป็นเทพบุตร ประทับอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต รอเวลามาบังเกิดเมื่อสิ้นพุทธกาลของพระโคดม เมื่อล่วงเวลา ๕,๐๐๐ ปี ดังความในบทไหว้ลายลักษณ์รอยพระพุทธบาท ซึ่งชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ชาวใต้สวดเป็นประจำทุกค่ำคืนว่า
“...พระพุทธเจ้า เสด็จเข้านิฤพาน ยังแต่พระศรีอาริย์ ในชั้นดุสิตา พระพุทธรูปัง ยังครองศาสนา ให้สงฆ์ทั้งหลาย กราบไหว้วันทา ต่างองค์พระศาสดา สรรเพชญมุนี รักษาศาสนา ถ้วนห้าพันปี คำพระชินศรี โปรดให้แก่เรา...”
เรื่องเล่าในพระพุทธศาสนากล่าวว่า เมื่อพระศาสนาพระสมณโคดมเจ้าถ้วนถึง ๕,๐๐๐ ปี พระพุทธศาสนาอันตรธานไปแล้ว มนุษย์ทั้งหลายประกอบด้วยอกุศลกรรมหนาแน่น ทำให้มีอายุน้อยถอยลงโดยลำดับ กระทั่งมีอายุ ๑๐ ปี ชายหญิงอายุได้เพียง ๕ ปี ก็แต่งงานกัน กาลนั้นจึงเกิดสัตถันตรกัป สมัยแห่งความพินาศ ด้วยมนุษย์จับอาวุธขึ้นมาประหัตประหารกัน โดยเห็นกันและกันเป็นสัตว์ เรียกว่า มิคคสัญญี เป็นเวลา ๗ วัน จนผืนแผ่นดินเต็มด้วยซากศพ นองด้วยน้ำเลือด น้ำหนอง คนเหล่าหนึ่งหนีไปอยู่ตามลำพังในซอกเขา พุ่มไม้ เถื่อนถ้ำ ที่วิเวก เมื่อครบ ๗ วัน ออกมาพบกัน ชักชวนกันทำการกุศล ด้วยอำนาจการจำศีลภาวนา จึงเกิดฝนตกเป็นเวลา ๗ ราตรี พัดเอาซากศพสิ่งปฏิกูลลอยไป
จากนั้นด้วยผลแห่งทาน ศีล ภาวนาของคนทั้งหลาย โลกจึงกลับเจริญขึ้น เกิดห่าฝนมธุรสตกตลอด ๗ วัน เป็นอาหารแก่มนุษย์ ห่าฝนแก้วแหวนเงินทอง ห่าฝนของหอม ห่าฝนชะมด กฤษณา จันทน์จุณ ชำระล้างพื้นแผ่นดิน ให้กลิ่นหอม ห่าฝนข้าวสาร ข้าวเปลือก เลี้ยงชีวิตคน ห่าฝนผ้าผ่อนแพรพรรณ ห่าฝนภาชนะ เครื่องใช้สอย และห่าฝนแก้วมณีทั้งเจ็ด ตกลงทั่วทั้งแผ่นดิน
อายุมนุษย์ก็ทวีขึ้นตามลำดับด้วยผลแห่งกุศลกรรม จนอายุยืนถึงอสงไขยหนึ่ง มนุษย์ไม่รู้จักความเจ็บ ความตาย มีความประมาท อายุจึงลดลงเหลือ ๘๐,๐๐๐ ปี ถึงวาระที่พระศรีอารยเมตไตรยจะเสด็จลงมาโปรดคนทั้งหลาย เป็นช่วงเวลาที่โลกมนุษย์เป็นแดนบรมสุข ด้วยความอุดมสมบูรณ์ต่าง ๆ
พระศรีอาริย์ จึงมาบังเกิดภายหลังพุทธกาลของพระพุทธเจ้าศากยมุนีเนิ่นนาน นับด้วยอสงไขย เป็นเวลานับประมาณไม่ได้
อย่างไรก็ดี ผู้ปรารถนาจะได้พบ เกิดทันศาสนาของพระศรีอาริย์ มีอยู่เป็นอันมาก ตามพื้นบ้าน พื้นเมือง จึงเกิดการแต่งนิทาน ว่าด้วยพระศรีอาริย์ยุคกึ่งพุทธกาล แสดงเรื่องพระศรีอาริย์จุติลงมาในโลกมนุษย์ เพื่อเยี่ยมโลก ในยุคศาสนาใกล้จะถึง ๒,๕๐๐ ปี ปรากฏเป็นคติความเชื่อเฉพาะถิ่นในที่บางแห่ง อาทิ ตำนานพระศรีอาริย์วัดไลย์ จังหวัดลพบุรี เป็นต้น
--------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นางสาวเด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ) สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร
--------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
๑. จรัล ทองวิไล. “ไหว้ลายลักษณ์: วรรณกรรมแหล่บูชารอยพระพุทธบาทแบบฉบับภาคใต้.” นิตยสารศิลปากร, ปีที่ ๖๓, ฉบับที่ ๖ (พฤศจิกายน-ธันวาคม ๒๕๖๓): ๑๕-๒๙.
๒. เทพ สุทรศารทูล. กาพย์พระมาลัย. กรุงเทพฯ : พระนารายณ์, ๒๕๓๖.
๓. นิยะดา เหล่าสุนทร. ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา สำนวน ที่ ๑. กรุงเทพฯ : ลายคำ, ๒๕๕๕.
๔. พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก ๒๖. พุทธปกิณณกกัณฑ์ ว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า
๕. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ๓. จักกวัตติสูตร
๖. พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์.
๗. สมุดมาลัยและสุบินกลอนสวด. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๕๕.
๘. อภิลักษณ์ เกษมผลกูล และ ดรณ์ แก้วนัย. “พระศรีอาริย์เมืองลพบุรี ฉบับหอสมุดแห่งชาติ.” สยามปกรณ์ปริวรรต เล่ม ๓ งานสำรวจ ศึกษา และปริวรรตวรรณกรรมท้องถิ่นภาคกลาง. ศูนย์สยามทัศน์ศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิมพ์เผยแพร่, ๒๕๕๗.
(จำนวนผู้เข้าชม 119372 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน