เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
จดหมายเหตุเล่าเรื่อง ตอน การค้นหาแร่เต๊กไต๊ท์
จากเอกสารจดหมายเหตุจังหวัดนครพนม แผนกมหาดไทย เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๘ กรมโลหกิจ (ปัจจุบันคือ กรมทรัพยากรธรณี) ได้มีหนังสือถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เรื่อง ขอทราบแหล่งเต๊กไต๊ท์ ตามเนื้อความระบุว่า
“เนื่องจากปรากฏในรายงานธรณีวิทยาของต่างประเทศว่าวัตถุชะนิดหนึ่งชื่อเต๊กไต๊ท์ (Tectite) ได้พบแพร่หลายในประเทศออสเตรเลีย, หมู่เกาะฟิลิปปินส์, อินโดจีน และในภาคอีสานของประเทศไทยบางท้องที่ วัตถุนี้มีประโยชน์ในงานธรณีวิทยา และกรมโลหกิจใคร่จะได้ทราบว่ามีปรากฏที่ใดบ้าง จึงได้แนบภาพถ่ายของเต๊กไต๊ท์ที่พบในอินโดจีนมากับหนังสือนี้สองภาพ เพื่อขอความร่วมมือจากท่านช่วยสืบค้นว่ามีผู้พบ หรือมีแหล่งปรากฏที่ใดบ้าง และหากจะได้ตัวอย่างด้วยก็เป็นการดีมาก วัตถุเหล่านี้มักพบปรากฏอยู่ตามผิวดิน ปนกับกรวดทรายในร่องห้วย ตามลาดเนิน ลักษณะคล้ายหินหรือแก้วหรือเหล็กเป็นสนิม ผิวมักจะขรุขระดังผิวลูกมะกรูดหรือเป็นร่อง เป็นแอ่ง เป็นรูเล็ก ๆ มีขนาดต่างกันตั้งแต่ขนาดผลพุดซาไปจนถึงขนาดผลส้มโอขนาดใหญ่ วัตถุเหล่านี้เป็นวัตถุเดียวกับที่ชาวบ้านเรียกว่า คดพระจันทร์ ขวานพระจันทร์ หรือขวานฟ้า”
แต่ทั้งนี้จากการตรวจสอบเอกสารจดหมายเหตุที่ได้รับมอบไม่พบเอกสารแนบภาพถ่าย ผู้เรียบเรียงจึงขอยกตัวอย่างแร่เต๊กไต๊ท์ ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมทรัพยากรธรณี ดังนี้ Tektite เป็นหินอุลกมณี หรือหินดาวตกประกอบด้วยแร่ซิลิกา ลักษณะเป็นเนื้อแก้วที่ผิวมีหลุมเล็ก ๆ หรือเป็นร่องยาว มีหลายขนาดและรูปแบบ เช่น ทรงกลมคล้ายผลส้ม กลมและแบนแบบจาน รูปหยดน้ำ รูปดัมเบล และรูปกระสวย ในประเทศไทยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จากข้อมูลเบื้องต้นดังกล่าว ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมมีหนังสือแจ้งไปยังส่วนราชการในอำเภอต่าง ๆ ให้สำรวจและรายงานข้อมูล พบว่า จากการสำรวจของนายไพฑูรย์ เก่งสกุล นายอำเภอนาแก ในบริเวณพื้นที่ตำบลกกตูม อำเภอนาแก มีการพบหินที่สงสัยว่าจะมีแร่ธาตุบางชนิดรวม ๑๔ ชิ้น กรมโลหกิจ จึงส่ง นายเกษตร พิทักษ์ไพรวัน นายช่างธรณีวิทยา และนายวิลเลี่ยม เอ. แคสซิตี้ ให้มาดำเนินการสำรวจเพิ่มเติมและเก็บตัวอย่างหิน ๑๔ ชิ้น กลับมายังกรมโลหกิจ เพื่อดำเนินการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ผลจากการวิเคราะห์ตัวอย่างหิน แบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
๑. ตัวอย่างหินที่ได้จากภูกะติ๊บ บ.โคกกลาง อ.เมือง จ.สกลนคร เป็นแร่ทองแดง จำนวน ๗ ชิ้น ๒. ตัวอย่างจาก ตำบลกกตูม อำเภอนาแก จ.นครพนม เป็นแร่และวัตถุต่าง ๆ คือ ๒.๑ แร่เหล็ก ชนิดไลโมไน้ท์ จำนวน ๑ ชิ้น ๒.๒ แร่เหล็ก ชนิดไพไร้ท์ จำนวน ๑ ชิ้น ๒.๓ กรวดมีคราบแร่ทองแดง จำนวน ๓ ชิ้น ๒.๔ ซากกระดูกกลายเป็นหิน จำนวน ๒ ชิ้น
ภายหลังจากที่มีการวิเคราะห์ผลทางวิทยาศาสตร์ กรมโลหกิจ ได้ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะในการจัดการหากราษฎรพบหินที่มีลักษณะดังกล่าวไว้ว่า
“ตัวอย่างแร่ทองแดงจากภูกระติ๊บ แสดงลักษณะของแร่ซึ่งเคยพบเป็นก้อนในหินทรายในที่อื่น ๆ และมักจะไม่เป็นแหล่งใหญ่ แต่ก็ควรสนใจติดตามให้ทราบแน่นอนว่ามีมากสักเพียงใด ส่วนแร่เหล็กและทองแดงจากตำบลกกตูม ไม่แสดงลักษณะสำคัญควรแก่การสนใจ แต่ทรากกระดูกกลายเป็นหิน ๒ ชิ้น ควรจะได้สืบทราบแหล่งที่มาแน่นอน และถ้ายังมีส่วนใดเหลืออยู่เอาออกจากหินได้ยาก ก็ควรจะได้รับความคุ้มครองจากผู้ปกครองท้องที่มิให้ถูกทำลายไปโดยชาวบ้าน เพื่อจักได้ทำการศึกษาในโอกาสอันควรข้างหน้า เพราะวัตถุเหล่านี้มีค่าในทางการศึกษาวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาตร์”
------------------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นางสาวพัชราภรณ์ สุวรรณะ นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี
------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
- กรมทรัพยากรธรณี. (ม.ป.ท.). ประวัติความเป็นมาของกรมทรัพยากรธรณี. ค้นข้อมูลเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๔ จาก http://www.dmr.go.th/ewtadmin/ewt/dmr_web/n_more_news.php... - กรมทรัพยากรธรณี. (ม.ป.ท.). tektite เกิดได้อย่างไร ส่วนประกอบทางเคมีเป็นอย่างไร ค้นข้อมูลเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๔ จาก http://www.dmr.go.th/fq_more.php?page=8&f_id=19&f_sub_id=21 - หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อุบลราชธานี. นพ ๑.๒/๓๒ ให้สำรวจทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดนครพนม (๑๘ ม.ค. - ๑๗ ก.ย. ๒๔๙๘) ภาพประกอบ - อุทยานแห่งชาติไม้กลายเป็นหิน จ.ตาก. (ม.ป.ท.). เมื่อไม้กลายเป็นหิน. ค้นข้อมูลเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๔ จาก http://www.dmr.go.th/.../article/article_20171002133400.pdf - https://www.mindat.org/min-10859.html
(จำนวนผู้เข้าชม 1333 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน