เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
พระพฤกษาธิบดีศรีมหาโพธิ์
ต้นพระศรีมหาโพธิ์นับว่าเป็นต้นไม้มีความสำคัญในพุทธศาสนา มีความเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ ตอน พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลพุทธคยา เมืองพาราณสี และปรากฏภาพสลักรูปบัลลังก์เปล่าใต้ต้นโพธิ์ในศิลปะอินเดียโบราณ ทั้งนี้ยังปรากฏข้อความในกาลิงคโพธิชาดก (ในคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย) พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบแก่พระอานนท์ว่าให้สัญลักษณ์แทนพระองค์หลังจากปรินิพพานแล้วคือต้นไม้ ทำให้มีการปลูกต้นโพธิ์ที่เชตวันวิหารเป็นครั้งแรกสมัยพุทธกาล เกิดการเคารพบูชาต้นโพธิ์ขึ้นฐานะตัวแทนของพระพุทธเจ้า ครั้งมีการเผยแพร่พุทธศาสนาจากอินเดียไปยังศรีลังกา ได้มีการอัญเชิญต้นพระศรีมหาโพธิ์ไปปลูกยังศรีลังกา และกลายเป็นสิ่งสำคัญที่มักมีในทุกอารามในศรีลังกาดังที่ปรากฏหลักฐานเป็นอาคารหรือฐานปลูกต้นศรีมหาโพธิ์เป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างสำคัญ เรียกว่า โพธิมณฑล ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาจากศรีลังกาได้เผยแพร่มายังบ้านเมืองในวัฒนธรรมสุโขทัยทั้งเมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองกำแพงเพชร จึงได้นำความเชื่อเรื่องการบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์เข้ามา
แม้ว่าจะไม่ปรากฏหลักฐานเชิงประจักษ์เป็นต้นไม้ในโบราณสถานให้เห็นในปัจจุบัน แต่พบข้อความในจารึกสมัยสุโขทัยที่กล่าวถึงการปลูกโพธิ์ แสดงให้เห็นว่ามีการให้ความสำคัญกับต้นโพธิ์เช่นเดียวกับในศรีลังกา เช่น จารึกวัดศรีชุม มีความตอนหนึ่งกล่าวถึงพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีได้อัญเชิญต้นศรีมหาโพธิ์จากศรีลังกามาปลูก “…พระศรีมหาโพธินครสิงหลนั้นก็ดี สมเด็จพระมหาเถรเป็นเจ้าเอามาปลูกเหนือดิน…”
จารึกวัดศรีพิจิตรกีรติกัลยาราม ได้กล่าวถึงสมเด็จพระศรีธรรมราชมาดามหาดิกลรัตนราชได้ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ภายหลังการสร้างวัดแล้วเสร็จใน ๓ ปีต่อมา “…สมเด็จพระศรีธรรมราชมาดามหาดิลกรัตนราช กรรโลง จึงสถิตสถาปนาปลูกพระพฤกษาธิบดีศรีมหา(โพธิ)…”
จารึกนครชุม ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๗ – ๑๒ ความว่า “...ศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราชหากเอาพระศรีรัตนมหาธาตุอันนี้มาสถาปนาในเมืองนครชุมนี้ปีนั้น พระธาตุอันนี้ใช่ธาตุอันสามานย์ คือพระธาตุแท้จริงแล้ เอาลุกแต่ลังกาทวีปพู้นมาดาย เอาทั้งพืชพระศรีมหาโพธิ์ อันพระพุทธเจ้าเราเสด็จอยู่ใต้ต้นแลผจญพลขุนมาราธิราช ได้ปราบแก่สัพพัญญุตญาณเป็นพระพุทธมาปลูกเบื้องหลังพระมหาธาตุนี้...” กล่าวถึงการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและการปลูกต้นศรีมหาโพธิ์นำมาจากลังกาทวีปไว้ที่เมืองนครชุม โดยพระมหาธรรมราชาลิไท เมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๐๐
ในเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร พบฐานโบราณสถานที่มีรูปแบบการก่อศิลาแลงเป็นขอบหรือกรอบเว้นตรงกลางให้เป็นลานดิน ไม่พบหลักฐานประเภทผนังอาคาร โครงสร้างหลังคา และการประดิษฐานพระพุทธรูปภายใน และไม่พบโครงสร้างของฐานรากเจดีย์ภายในแต่อย่างใด จึงมีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสถานที่สำหรับปลูกหรือประดิษฐานต้นโพธิ์ และพบฐานโบราณสถานรูปแบบข้างต้นในวัดดังต่อไปนี้
วัดพระนอนพบฐานโบราณสถานรูปแบบดังกล่าวด้านตะวันตกของวัด หลังเจดีย์ประธานจำนวน ๑ แห่ง และฐานโบราณสถานด้านหลังมณฑปของวัดอีก ๑ แห่ง วัดนาคเจ็ดเศียรพบฐานโบราณสถานจำนวน ๑ แห่ง ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของอุโบสถ ซึ่งฐานโบราณสถานที่สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่สำหรับปลูกต้นโพธิ์ที่พบในวัดพระนอนและวัดนาคเจ็ดเศียรมีรูปแบบที่คล้ายกัน โดยพบการก่อศิลาแลงในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสและเว้นตรงกลางเป็นลานดิน ด้านหน้าของฐานโบราณสถานมีศิลาแลงก่อเป็นอาสนะ (บัลลังก์) และเปรียบเทียบได้กับรูปแบบของโพธิมณฑลในศรีลังกา เช่น โพธิมณฑลที่อิสุรุมุณิยะปรากฏอาสนะเปล่าที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ หมายถึงวัชราสนะหรือบัลลังก์ตรัสรู้ เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้าก่อนมีการสร้างพระพุทธรูป หรือโพธิฆระ (โพธิมณฑลที่มีหลังคาล้อมรอบโคนต้น) นอกจากนี้ที่อภัยคีรีวิหารมีการประดิษฐานพระพุทธรูปไว้บนอาสนะด้วย
วัดหมาผีพบฐานศิลาแลงก่อเป็นขอบบ่อในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสด้านทิศตะวันตกของเจดีย์ประธาน และที่วัดเพการามพบกรอบศิลาแลงรูปแปดเหลี่ยมที่ใช้ศิลาแลงขนาดสูง ๐.๘ เมตร ปักตั้งขึ้นเรียงกันและวางทับหลังศิลาแลงด้านบน ทั้งสองแห่งพบฐานโบราณสถานที่มีรูปแบบคล้ายกันคือมีการก่อศิลาแลงเป็นขอบเขตและเว้นตรงกลางเป็นลานดินไว้ ไม่พบอาสนะ (บัลลังก์) ด้านหน้าของฐานดังกล่าว
ตำแหน่งของฐานโบราณสถานที่สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่สำหรับปลูกต้นโพธิ์ยังมีความสัมพันธ์กับข้อความในจารึกนครชุมที่ระบุตำแหน่งว่ามีการปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ด้านหลังพระธาตุอีกด้วย เนื่องจากฐานอาคารที่พบมีตำแหน่งในแนวแกนหลักของวัดและตั้งอยู่ด้านหลังของเจดีย์ประธาน ทั้งนี้นอกจากที่เมืองกำแพงเพชรแล้วที่เมืองศรีสัชนาลัยก็พบลักษณะพื้นที่สำหรับปลูกต้นโพธิ์ที่ด้านทิศตะวันตกของวัดเจดีย์เจ็ดแถว และวัดยายตาที่พบฐานรูปแปดเหลี่ยมด้านทิศตะวันตกของเจดีย์ประธานและยังตั้งอยู่ในแนวแกนหลักของวัดเช่นกัน
นับว่าเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่านอกเหนือไปจากงานศิลปกรรมต่าง ๆ ในพุทธศาสนาที่พบแล้วบ้านเมืองในวัฒนธรรมสุโขทัยต่างรับความเชื่อการปลูกและบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์จากศรีลังกามาพร้อมกันกับการติดต่อสัมพันธ์เพื่อรับพระพุทธศาสนาด้วย
-----------------------------------------------------------
ที่มาของช้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
-----------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง :
กรมศิลปากร. ประชุมจารึกภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. พัชรินทร์ ศุขประมูล, วิเศษ เพชรประดับ และเมธินี จิระวัฒนา. รูปและสัญลักษณ์แห่งพระศากยพุทธ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๒. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. พุทธศิลป์ลังกา. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๖. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. พุทธศิลป์ไทยสายสัมพันธ์กับศรีลังกา. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), ๒๕๖๓.
(จำนวนผู้เข้าชม 5855 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน