เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีอ่าวบุญคง
แหล่งโบราณคดีที่เป็นแหล่งภาพเขียนสีอีกแหล่งหนึ่งของจังหวัดตรัง คือ แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีอ่าวบุญคง ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่พบร่องรอยการใช้พื้นที่ของมนุษย์ในอดีตหลายยุคสมัยด้วยกัน แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีอ่าวบุญคง ตั้งอยู่ที่ หมู่ ๓ ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง
ประวัติและความสำคัญ
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของภูเขาหินปูนภายในอ่าวบุญคง มีลักษณะเป็นอ่าวปิด ไม่มีทางรถยนต์เข้าถึง การเดินทางจึงต้องใช้เรือหรือเดินตัดผ่านป่าชายเลนเข้าไป แหล่งโบราณคดีมีลักษณะเป็นเพิงผา และโพรงถ้ำที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำทะเลตามธรรมชาติ ภายในมีคูหาแบ่งเป็นหลายห้องทะลุถึงกันได้ บริเวณจุดที่พบภาพเขียนสีจะอยู่ด้านหน้าของโพรงถ้ำห่างจากปากถ้ำไปทางทิศเหนือประมาณ ๕ เมตร ตัวภาพสูงจากระดับน้ำทะเล ๒ เมตร ส่วนโพรงถ้ำที่พบหลักฐานทางโบราณคดีจะอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑ เมตร ตัวเพดานโพรงถ้ำมีขนาดสูงประมาณ ๑ - ๒ เมตร จากการศึกษาพบหลักฐานทางโบราณคดีในยุคก่อนประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์
สิ่งสำคัญทางโบราณคดี
๑. ภาพเขียนสี ตั้งอยู่บริเวณเพิงผาด้านหน้าโพรงถ้ำ เขียนลายเส้นสีแดง ใช้เทคนิคการเขียนโครงเส้น และระบายสีทึบด้านในเป็นบางส่วน ภาพมีลักษณะคล้ายรูปปลา สัตว์ทะเล บุคคล และลายเรขาคณิต บางส่วนลบเลือนเนื่องจากมีคราบหินปูนเคลือบทับไว้ ตัวภาพมีความคล้ายคลึงกับภาพเขียนสีเขาแบนะในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ซึ่งอยู่ห่างไปจากแหล่งโบราณคดีประมาณ ๑๓ กิโลเมตร ผลจากการศึกษาค่าอายุโดยการเปรียบเทียบรูปแบบกับกลุ่มภาพเขียนสีที่อ่าวพังงา จังหวัดพังงา และอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ กำหนดอายุภาพเขียนสีอ่าวบุญคงราว ๔,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
๒. หลักฐานทางโบราณคดีในโพรงถ้ำอ่าวบุญคง พบหลักฐานบริเวณพื้นถ้ำ ได้แก่ ชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีน และชิ้นส่วนตลับเคลือบใสสีขาว สมัยราชวงศ์ซุ่งใต้อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๙ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดิน เปลือกหอยทากบก (หอยหอม) และ เปลือกหอยทะเล เช่น หอยสังข์กระโดด (หอยชักตีน) หอยแครง แหวนพลอยสีชมพู ตัวเรือนทำจากโลหะเคลือบสีทองเป็นแหวนสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เป็นต้น
จากลักษณะสภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีสันนิษฐานว่าคนโบราณได้มาใช้พื้นที่บริเวณอ่าวบุญคงสำหรับจอดพักเรือระหว่างการเดินทาง หรือใช้หลบกระแสคลื่นลมและใช้เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยปัจจุบัน
อายุสมัย ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ราว ๔,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ยุคประวัติศาสตร์ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๙ และสมัยรัตนโกสินทร์ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๕
ที่มาของข้อมูล : กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
(จำนวนผู้เข้าชม 4622 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน