เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
โคลงกลบท : ประดิดนักเลง
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ เป็นวัดเก่าแก่มีมาแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อว่า วัดโพธาราม แต่คนทั่วไปนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า วัดโพธิ์ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงสถาปนาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามขึ้น เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดเกล้าปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จารึกสรรพวิทยาการต่างๆ โดยให้นักปราชญ์ ราชบัณฑิตมาช่วยกันตรวจสอบ แก้ไข โดยใช้ของเดิมบ้าง แต่งขึ้นมาใหม่บ้าง คัดเลือกแต่เรื่องที่ดีและถูกต้อง สมควรจะศึกษาและเผยแพร่ จารึกลงบนแผ่นศิลาประดับไว้ตามผนัง เสา และส่วนต่างๆ ของอาคารสิ่งก่อสร้างภายในบริเวณวัด เพื่อให้ประชาชนพลเมืองทุกๆ ชนชั้นสามารถศึกษาหาความรู้ตามความสนใจ ใครรักใครชอบวิชาใดก็สามารถศึกษาหาความรู้ได้จากจารึกเหล่านี้ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงยกให้วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของเมืองไทย
จารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือที่เรียกว่า “จารึกวัดโพธิ์” ทำขึ้นจากหินอ่อนและหินปูน ซึ่งมีความทนทานพอสมควรหากเก็บรักษาไว้ในที่ร่มจะมีสภาพคงทนและแข็งแรงคงอยู่ได้อย่างยาวนาน ทั้งนี้ เนื่องจากจารึกมีทั้งส่วนที่อยู่ในร่มก็จะคงอยู่ในสภาพที่ดี แต่ส่วนที่อยู่ภายนอกอาคารบริเวณผนัง เสา และริมระเบียง มีบางส่วนสึกกร่อนลบเลือนอย่างรวดเร็วเพราะได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ได้แก่ ลม ฝน แสงแดด เป็นต้น
///จากการศึกษาโคลงกลบทวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ โคลงกลบทวัดโพธิ์ ซึ่งคำว่า “กลบท” มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หมายถึง คำประพันธ์ที่บัญญัติให้ใช้คำหรือสัมผัสเป็นชั้นเชิงยิ่งกว่าธรรมดา เช่น อมรแมนแม่นแม้นเจ้างามโฉม ตัวอย่างจากกลบทตรีประดับ เป็นต้น
///ผู้ศึกษาพบว่าโคลงกลบทที่ ๑๕ หรือ โคลงประดิดนักเลง เป็นกลบทที่น่าสนใจและยังไม่มีผู้ใดศึกษา โดยสภาพจารึกอักษรค่อนข้างลบเลือนไม่ชัดเจนเพราะอยู่บริเวณเสาริมพระระเบียง ปัจจุบันจารึกโคลงกลบทประดิดนักเลงติดอยู่บริเวณเสาข้างประตูด้านในของพระระเบียงชั้นนอกด้านทิศตะวันออก (วิหารพระโลกนาถ) ประตูที่ ๑ ด้านซ้าย
๏ โคลงประดิดนักเลง ๚ะ ๛
ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงลองศึกษาเบื้องต้นและขอความอนุเคราะห์จากท่านศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ตรวจสอบเพื่อหาคำตอบ โดยนำตารางทั้ง ๒ ทั้งด้านล่างและด้านบนมาทับซ้อนกัน หลังจากนั้นจึงนำคำที่อยู่นอกตารางบริเวณตอนกลางของจารึกมาเสริมเรียงตามบรรทัด ดังปรากฏเป็นโคลงเฉลย ดังนี้
ตรีขึ้นหนึ่งแต้ม ตามหงาย
ทแกล้วนายหนึ่งนั่งนาย หนึ่งข้าม
ดวดไต่ล่างเดนกราย หนึ่งเท้ นานา
ปากซังหนึ่งพาดผานห้าม ฝ่ายหนึ่งคุมซัง
ท่านศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้ให้ความเห็นว่าน่าจะถูกต้อง แต่ควรจะต้องตรวจสอบการเรียงลำดับคำ ว่าจะปรับให้ได้ใจความดียิ่งขึ้นอีกหรือไม่ จากรายละเอียดที่ท่านเป็นวิทยากรในกิจกรรมการเสวนาวิชาการ งานฉลองเนื่องในโอกาสขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกในระดับชาติ เมื่อวันที่ ๒๕ – ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๔
หลังจากนั้นต่อมาจึงได้ขอคำปรึกษาจากท่านอาจารย์เทิม มีเต็ม ผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร โดยท่านได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ตาคงไม่กล้าเสนอความคิดเห็นไปเทียบท่านอาจารย์ประเสริฐ” แต่คำศัพท์ที่ปรากฏ ได้แก่ คำว่า “เดน” น่าจะเป็น “เดิน” คำว่า “เท้” น่าจะเป็น “แท้” คำว่า “ผาน” น่าจะเป็น “ผ่าน” และคำว่า “ดวด” เป็นการละเล่นชนิดหนึ่ง ซึ่งท่านอาจารย์เทิม มีเต็ม ได้ให้ข้อมูลต่อว่า “ตาเคยเห็นคนเล่นกันตอนตาเด็กๆ” สมัยยังเป็นเณรอยู่วัด
คำว่า “ดวด” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ให้ความหมายว่า ถ้าเป็นคำนาม หมายถึง ชื่อการเล่นชนิดหนึ่ง เดินแต้มตามเบี้ยที่ทอดได้ไปตามตาราง ถ้าเป็นคำกริยา “ดวด” คือการดื่มทีเดียวหมด (มักใช้แก่เหล้า) นอกจากนี้ ข้าพเจ้าได้สอบถามท่านอาจารย์เทิม มีเต็ม เพิ่มเติมว่า “ดวด” เขาเล่นกันอย่างไร และมีกติกาอะไรบ้าง ซึ่งท่านเล่าให้ฟังว่า ในสมัยเด็กๆ ตอนเป็นเณร เห็นชาวบ้านเขาเล่นกัน มีลักษณะเป็นหมากกระดานชนิดหนึ่งคล้ายหมากรุกไทย ตีเส้นเป็นตารางทางเดินเป็นวงกลม และมีตัวเดินเป็นไม้ฝั่งละตัว วิธีการเดินให้ใช้หอยเบี้ย จำนวน ๕ ตัว ทอดเป็นแต้มเช่นเดียวกันกับการทอดลูกเต๋า แล้วดูว่าหอยเบี้ยหงายกี่ตัว คว่ำกี่ตัว เช่น หงาย ๓ คว่ำ ๒ ก็จะได้ ๓ แต้ม ก็จะได้เดินทาง ๓ แต้ม แต่ถ้าหอยเบี้ยได้หงายทั้ง ๕ ตัว ไม่มีตัวคว่ำก็จะได้ ๕ แต้ม และจะได้ทอดหอยเบี้ยอีกครั้ง ถ้าใครเดินไปจนจะใกล้ถึง “ปากซัง” ซึ่งก็คือจุดหมาย แต่ยังเหลือระยะทางอีก ๕ แต้ม ๔ แต้ม ๓ แต้ม ๒ แต้ม หรือ ๑ แต้ม แล้วนั้น ใครสามารถทอดหอยเบี้ยได้ตามจำนวนแต้มตามระยะทางที่เหลือก่อนก็จะเป็นผู้ชนะ
สุดท้ายนี้ข้าพเจ้าพยายามเรียบเรียงบทความนี้ขึ้นมาเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่พยายามศึกษาร่วมกับท่านศาตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร และท่านอาจารย์เทิม มีเต็ม ผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า “โคลงกลบทประดิดนักเลง” จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับ “จารึกโคลงกลบทภายในวัดโพธิ์” ต่อไปในอนาคต
--------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นายทีปวัจน์ วัชรศิริอมร นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก
ภาพประกอบโดย นายสันติ วงศ์จรูญลักษณ์ นักภาษาโบราณชำนาญการ
--------------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๔. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, ๒๕๔๖.
(จำนวนผู้เข้าชม 3740 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน