กรมศิลปากรเผยผลศึกษาขุดค้นแหล่งโบราณคดีโรงเรียนวัดท่าโป๊ะพบเป็นแหล่งฝังศพสมัยสำริด
เตรียมขอใช้ที่ราชพัสดุพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของกาญจนบุรี
          นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ตามที่กรมศิลปากรได้ดำเนินโครงการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี โดยได้มอบหมายให้สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี ดำเนินการทางโบราณคดีเพิ่มเติมบริเวณแหล่งโบราณคดีโรงเรียนวัดท่าโป๊ะ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่พบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ช่วงสมัยหินใหม่จนถึงสมัยโลหะ เช่น แหล่งถ้ำเขาทะลุ ถ้ำเม่น ถ้ำหีบ รวมถึงแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า (แหล่งนายบาง) ที่มีอายุกว่า ๓,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปี และมีชื่อเสียงไปทั่วโลกในฐานะตัวแทนของสังคมเกษตรกรรมระยะแรกเริ่มของไทย จากการขุดค้นศึกษาโดยคณะวิจัยร่วมทางโบราณคดีไทย – เดนมาร์ก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๐๔





          สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี แหล่งโบราณคดีโรงเรียนวัดท่าโป๊ะ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๔ พบว่าเป็นแหล่งฝังศพสมัยสำริด โดยปัจจุบันขุดพบหลุมฝังศพแล้ว จำนวน ๒๔ หลุม ฝังร่วมกับภาชนะดินเผา เครื่องประดับจากเปลือกหอย ขวานสำริดมีบ้อง ซึ่งการค้นพบสำคัญในครั้งนี้ ได้แก่ การขุดพบพื้นที่ผลิตโลหะสำริด กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ได้ระหว่าง ๒,๔๙๑ - ๓,๐๘๓ ปีมาแล้ว โดยเมื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลจากแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จึงสามารถเชื่อมโยงการใช้พื้นที่ได้ว่า มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยหินใหม่ ซึ่งปรากฏแหล่งฝังศพขนาดใหญ่อยู่บริเวณแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า (แหล่งนายบางและนายลือ) ริมห้วยแมงลักซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำแควน้อย ต่อมาในสมัยสำริดได้เปลี่ยนสถานที่ฝังศพมายังริมแม่น้ำแควน้อย คือบริเวณแหล่งโรงเรียนวัดท่าโป๊ะแห่งนี้ จนกระทั่งในสมัยเหล็กได้ขยายการใช้พื้นที่ลงใต้ไปตามแม่น้ำ จึงกล่าวได้ว่าแหล่งโบราณคดีโรงเรียนวัดท่าโป๊ะ เป็นตัวแทนของสมัยสำริด ที่ทำให้นักโบราณคดีทราบถึงพัฒนาการทางสังคมของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ตำบลบ้านเก่า ไล่เรียงตั้งแต่สมัยหินใหม่ สมัยสำริด และสมัยเหล็ก ได้อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการเติมเต็มช่องว่างของหลักฐานทางโบราณคดีในช่วงเวลาที่ขาดหายไปให้สมบูรณ์





          อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า แหล่งโบราณคดีโรงเรียนวัดท่าโป๊ะ มีศักยภาพที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในทางวิชาการโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ซึ่งตั้งอยู่ในที่ราชพัสดุแปลงติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จึงมีความพร้อมสำหรับการพัฒนาเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ในลักษณะของหลุมขุดค้นเปิด (site museum) โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ให้เป็นศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้ด้านโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ประจำภาคตะวันตกของประเทศ ตามนโยบายการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของกรมศิลปากร ทั้งนี้ กรมศิลปากรกำลังดำเนินการขอใช้พื้นที่ดังกล่าวจากกรมธนารักษ์ตามระเบียบขั้นตอนต่อไป









(จำนวนผู้เข้าชม 1779 ครั้ง)

Messenger