ลึงคบรรพต แห่งภูโค้ง ศาสนบรรพตที่สาปสูญ
ภูโค้ง บ้านนาเสียว ตำบลบ้านนาเสียว อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ เป็นยอดสูงสุดของเทือกเขาภูแลนคา ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติ ตาดโตน และเป็นพื้นที่สถานีโทรคมนาคมทหารอากาศ
          เมื่อวันที่ 27 - 29 มกราคม 2564 สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา พร้อมด้วยคณะสำรวจจากอุทยานแห่งชาติ ตาดโตน ร่วมดำเนินการสำรวจ โดยหลักฐานทางโบราณคดี จากการสำรวจพื้นที่บนภูโค้งไม่ปรากฏร่องรอยหลักฐานสิ่งก่อสร้าง พบหลักฐานทางโบราณคดีประเภทโบราณวัตถุที่ทำจากหินทราย จำแนกตามลักษณะรูปแบบและหน้าที่การใช้งานได้ดังนี้
1. ฐานรูปเคารพ จำนวน 3 ฐาน รายละเอียดดังนี้
          1.1 ฐานรูปเคารพชิ้นที่1 พบเฉพาะส่วนแท่นหินรองรับฐานประติมากรรม เรียกว่า “ปีฐะ” หรือ “ปิณฑิกา” ลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส จำนวน 1 ฐาน สภาพแท่นหินรองรับฐานประติมากรรมชำรุด ส่วนขอบแตกหักหายไป
           1.2 ฐานรูปเคารพชิ้นที่2 มีส่วนประกอบจำนวน 4 ส่วน รายละเอียดดังนี้
                1.2.1 ส่วนแท่นหินรองรับฐานประติมากรรม (ปีฐะ หรือปิณฑิตา) รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส จำนวน 1 ฐาน สภาพแท่นหินรองรับฐานประติมากรรมค่อนข้างสมบูรณ์
                1.2.2 ส่วนฐานประติมากรรม รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส จำนวน 1 ฐาน สภาพส่วนฐานประติมากรรมส่วนบนชำรุด
                1.2.3 ส่วนฐานโยนี รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส จำนวน 1 ฐาน สภาพส่วนฐานประติมากรรมค่อนข้างสมบูรณ์ บริเวณขอบด้านหนึ่งเจาะช่องกว้าง สำหรับเป็นท่อน้ำไหล เรียก “ท่อโสมสูตร”
                1.2.4 ส่วนศิวลึงค์ รูปทรงกระบอก สภาพด้านชำรุดหายไปบางส่วน สภาพปัจจุบันศิวลึงค์ แบ่งออก 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส เรียกว่า “พรหมภาค” ส่วนกลางรูปทรงแปดเหลี่ยม เรียกว่า “วิษณุภาค”เส้นแบ่งด้านค่อนข้างลบเลือน ส่วนบนรูปทรงกระบอก เรียกว่า “รุทรภาค” ส่วนปลายชำรุดหายไปบางส่วน
          1.3 ฐานรูปเคารพชิ้นที่3 มีส่วนประกอบจำนวน ๒ ส่วน รายละเอียดดังนี้ 1.3.1 ส่วนแท่นหินรองรับฐานประติมากรรม (ปีฐะ หรือปิณฑิตา) รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส จำนวน 1 ฐาน สภาพแท่นหินรองรับฐานประติมากรรมค่อนข้างสมบูรณ์ 1.3.2 ส่วนฐานประติมากรรม รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส จำนวน 1 ฐาน สภาพส่วนฐานประติมากรรมส่วนบนชำรุด
          1.4 ส่วนฐานประติมากรรม รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส จำนวน 1 ฐาน สภาพส่วนฐานประติมากรรมชำรุดแตกออกเป็นสองส่วน
           ผลการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดี รูปแบบของฐานประติมากรรมที่พบจากภูโค้ง เป็นรูปแบบที่พบในช่วงสมัยศิลปะเขมรแบบพระนคร กำหนดอายุพุทธศตวรรษที่ 15 – 18 โดยฐานประติมากรรมอันประกอบด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงายคาดประดับท้องไม้ด้วยลูกฟัก กำหนดอายุพุทธศตวรรษที่ 15-16 ฐานประติมากรรมอันประกอบด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงายท้องไม้เรียบๆ กำหนดอายุพุทธศตวรรษที่ 17 สามารถเปรียบเทียบกับฐานรูปเคารพ ที่พบจากกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด กำหนดอายุพุทธศตวรรษที่ 16 -17
           รูปแบบของศิวลึงค์ อันประกอบด้วยสามส่วนคือส่วนพรหมภาค ส่วนวิษณุภาค ส่วนรุทรภาค (สี่เหลี่ยม-แปดเหลี่ยม-ทรงกระบอก) กำหนดอายุพุทธศตวรรษที่ 16-17 จากหลักฐานทางโบราณคดีสามารถกำหนดอายุโบราณวัตถุจากภูโค้งอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 สามารถเปรียบเทียบรูปแบบได้กับศิวลึงค์ที่พบจากปราสาทตาเมือนธม อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ กำหนดอายุในพุทธศตวรรษที่ 16 – 17
           ศิวลึงค์ในคติศาสนาฮินดลัทธิไศวนิกายนั้น ถือว่าเป็นตัวแทนของพระศิวะ ที่สําคัญที่สุด นอกเหนือจากการปรากฏกายของพระศิวะในรูปมนุษย์ สําหรับบริเวณภูโค้งแห่งนี้ แม้จะไม่ปรากฏร่องรอยของศาสนสถานหรือสิ่งก่อสร้างใดๆ แต่จากหลักฐานศิวลึงค์ ฐานรูปเคารพ และชิ้นส่วนฐานประติมากรรม สันนิษฐานได้ว่า ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 บริเวณภูโค้งแห่งนี้ เดิมคงเป็นที่ตั้งของศาสนสถานของศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย แต่อาจถูกทําลายไปในคราวที่สร้างสถานีโทรคมนาคมภูโค้งก็เป็นได้ ข้อสันนิษฐานสำหรับสิ่งก่อสร้างหรือศาสนสถาน สันนิษฐานว่าน่าจะมีปราสาทบนยอดของภูโค้งสำหรับประดิษฐานศิวลึงค์ซึ่งน่าจะสร้างด้วยหินทรายเป็นวัสดุ เนื่องจากโครงสร้างทางธรณีของภูโล้นเป็นหินทรายสอดคล้องกับช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 ที่ใช้หินทรายเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง สำหรับสระน้ำที่ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของฐานรูปเคารพและศิวลึงค์ สันนิษฐานว่าเป็นสระน้ำประจำศาสนสถานที่มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมวางตัวในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก เพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาฮินดู
          สําหรับชุมชนผู้สร้างศาสนสถานแห่งนี้ คงนับถือศาสนาฮินดู ไศวนิกาย และคงตั้งชุมชนอยู่บริเวณโดยรอบเทือกเขาภูโค้ง จากการสํารวจทางโบราณคดีได้พบชุมชนวัฒนธรรมเขมรโบราณอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 หลายแห่งที่สําคัญคือ ชุมชนโบราณบ้านเมืองน้อยใต้ อําเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ห่างภูโค้งไปทางทิศใต้เป็นระยะทาง 20.21 กิโลเมตร ซึ่งพบหลักฐานโบราณวัตถุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 เช่น ฐานรูปเคารพ และชิ้นส่วนบัวยอด
          สําหรับคติการสร้างศิวลึงค์บนภูโค้งเปรียบเสมือนการจําลองเขาไกรลาส (ลึงคบรรพต) ขึ้นบนพื้นมนุษย์โลก ด้วยการนําเอาศิวลึงค์ไปประดิษฐานไว้บนภูโค้งเป็นยอดเขาไกรลาศอันเป็นที่ประทับของพระศิวะผู้เป็นเทพเจ้าสูงสุด (ศิวลึงค์) เช่นปราสาทหินเขาพนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์






















--------------------------------------------------------------
ข้อมูลโดย นายวีระชาติ พงค์ชนะ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา

(จำนวนผู้เข้าชม 789 ครั้ง)

Messenger