อาคารสำนักงาน ๓ หลัง ใกล้วัดบวรสถานสุทธาวาส

          ในบริเวณด้านตะวันออก หน้าวัดบวรสถานสุทธาวาส(วัดพระแก้ววังหน้า) ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงละครแห่งชาติ สำนักการสังคีต และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ บริเวณดังกล่าวนี้ เมื่อครั้งอดีตเป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงาน ๓ หลัง ที่มีประวัติการใช้งานที่น่าสนใจ เริ่มจากเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมารแทนตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๘

          หลังจากนั้น ใน พ.ศ.๒๔๔๐ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อป้อม กำแพงในเขตพระราชฐานชั้นนอก ด้านเหนือและตะวันออกของพระราชวังบวรสถานมงคลลงเพื่อปรับพื้นที่เป็นสนามหลวง และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารสถาปัตยกรรมตะวันตก ก่ออิฐถือปูน สองชั้น จำนวน ๓ หลัง เรียงกันจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกในบริเวณพื้นที่ส่วนหน้าด้านตะวันออกของวัดบวรสถานสุทธาวาส เมื่อแรกใช้เป็นที่ทำการของกองทหารบกราบที่ ๓


          ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงธรรมการ(ปัจจุบัน คือ กระทรวงศึกษาธิการ) ได้เข้าใช้พื้นที่อาคารนี้ นับแต่ พ.ศ.๒๔๔๘ – ๒๔๕๒ จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นที่ทำการของศาลข้าหลวงพิเศษ กระทรวงยุติธรรม และศาลฎีกา จนถึง พ.ศ.๒๔๘๔



          นับแต่ พ.ศ.๒๔๘๔ – ๒๔๙๗ กระทรวงคมนาคมได้รับอนุญาตให้เข้าใช้อาคารทั้งสามหลัง เป็นที่ทำการกระทรวงฯ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๘๗ – ๒๔๘๘) วัดบวรสถานสุทธาวาสและอาคารสำนักงานหลังที่อยู่ใกล้ได้รับความเสียหาย ๑ หลัง จากการทิ้งระเบิด
          ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๙๗ กรมศิลปากรได้รับมอบอาคาร ๓ หลังซึ่งกระทรวงคมนาคมส่งมอบเพื่อใช้อาคาร ๒ หลังที่อยู่ตอนในใกล้วัดบวรสถานสุทธาวาสเป็นอาคารเรียนของโรงเรียนศิลปศึกษา ซึ่งภายหลังโรงเรียนดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนช่างศิลป์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔ พร้อมกับการจัดสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ขึ้นบนพื้นที่อาคารสำนักงานเดิมที่อยู่ใกล้วัดบวรสถานสุทธาวาสซึ่งได้รับความเสียหายจากสงคราม

          ระหว่าง พ.ศ.๒๕๐๔ – ๒๕๐๕ จึงมีการรื้ออาคารสำนักงานหลังกลาง เพื่อใช้เป็นพื้นที่สร้าง โรงละครแห่งชาติ โดยมีการปรับใช้อาคารสำนักงานหลังที่อยู่ทางตะวันออกสุดด้วยการเจาะผนังอาคารด้านตะวันออกเป็นประตูเข้าอาคารและสร้างหลังคามุขยื่นคลุมที่ชั้นล่างของอาคาร ต่อมาจึงมีการรื้อถอนอาคารสำนักงานหลังนี้เพื่อสร้างโรงละครเล็กและพื้นที่ลานหน้าอาคารโรงละครแห่งชาติริมถนนหน้าพระธาตุ



          เมื่อการก่อสร้างโรงละครแห่งชาติแล้วเสร็จใน พ.ศ.๒๕๐๗ ต่อมาในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงนาฏศิลป์ไทยเนื่องในวโรกาสพิธีเปิดโรงละครแห่งชาติอย่างเป็นทางการ





------------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : กองโบราณคดี กลุ่มวิจัยและพัฒนางานโบราณคดี

(จำนวนผู้เข้าชม 1897 ครั้ง)

Messenger