การค้ากับชาวต่างชาติในสมัยกรุงธนบุรี (ตอนที่ ๒)
          หลังจากตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ส่งพระราชสาสน์ไปเมืองจีนเพื่อถวายพระเจ้าเฉียนหลงจักรพรรดิจีนเพื่อให้รับรองฐานะกษัตริย์พระองค์ใหม่ โดยส่งพระราชสาสน์ไปกับเรือสินค้าของพ่อค้าจีน ชื่อ หยังจิ้นจง เนื้อความในพระราชสาสน์อธิบายการขึ้นครองราชย์ของพระองค์ พร้อมทั้งขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตซื้อเหล็กและปืนใหญ่มาทำสงครามกับพม่า แต่ในปีเดียวกันหัวหน้าชุมนุมต่างๆ ที่ตั้งตัวเป็นอิสระก็ได้ส่งพระราชสาสน์ไปถวายพระเจ้าเฉียนหลงเพื่อให้ทรงรับรองฐานะการเป็นกษัตริย์ของสยามด้วยเช่นกัน ครั้งนั้น พระเจ้าเฉียนหลงจึงได้ตอบปฏิเสธการรับรองฐานะของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รวมทั้งปฏิเสธการขอซื้อเหล็กและปืนใหญ่ด้วย(๘)

          การเจริญไมตรีทางการทูตกับจีนในอีก ๓ ครั้งต่อมาเมื่อพ.ศ.๒๓๑๘ พ.ศ.๒๓๒๐ และพ.ศ.๒๓๒๑ ทำให้กรุงธนบุรีได้รับการตอบรับด้วยไมตรีจากจักรพรรดิจีนมากยิ่งขึ้น ในที่สุดสมเด็จพระจักรพรรดิจีนก็ทรงพระราชทานสิทธิให้กรุงธนบุรีสามารถทำการค้ากับจีนได้เต็มที่เช่นเดียวกับสมัยอยุธยา โดยไม่ต้องจำกัดอยู่แค่เมืองกวางตุ้งเช่นในระยะแรกๆ(๙) สินค้าที่กรุงธนบุรีซื้อจากจีนนั้น ได้แก่ กำมะถัน กระทะเหล็ก แผ่นทองแดง เหล็ก เป็นต้น ส่วนสินค้าส่งออกมากที่สุดของกรุงธนบุรีจะเป็นพวกของป่า ได้แก่ ไม้ฝาง ไม้แดง ไม้ดำ รวมทั้งการค้าพริกไทยซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่เกิดจากความชำนาญด้านการเพาะปลูกของชาวจีนอพยพซึ่งส่วนใหญ่เป็นจีนแต้จิ๋ว และมีแหล่งเพาะปลูกสำคัญอยู่ตามเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก รวมทั้งที่เมืองสงขลาซึ่งมีชาวจีนฮกเกี้ยนอยู่เป็นจำนวนมาก สำหรับไม้ฝางนั้นนอกจากจะใช้ส่งออกแล้ว ยังเป็นสินค้าที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นด้วย(๑๐) จะเห็นได้ว่าเวลาที่ประเทศจีนได้เปิดสัมพันธไมตรีการค้าอย่างเต็มที่กับกรุงธนบุรีเป็นยามที่บ้านเมืองเริ่มมีความมั่นคง แม้ในระยะแรกจีนจะปฏิเสธความสัมพันธ์กับกรุงธนบุรีมาโดยตลอด เพราะมองว่าพระองค์เป็นคนธรรมดาสามัญ แต่ท้ายที่สุดจีนก็ยอมรับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมากขึ้น สังเกตได้จากหลักฐานบันทึกที่มีการออกพระนามพระองค์ว่า “เจิ้งเจา” ในช่วงปลายรัชสมัย นอกจากนั้นเมื่อมีการส่งคณะทูตเพื่อถวายพระราชสาสน์อย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๔ ราชสำนักจีนได้ออกพระนามพระองค์ว่า “เจิ้งเจา พระเจ้าแผ่นดินสยาม” อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการยอมรับของจีน แต่กว่าที่จะได้มีการส่งราชทูตมาเจริญทางพระราชไมตรีอย่างเป็นทางการนั้นก็เป็นปีสุดท้ายในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพอดี(๑๑) และจากการที่มีการเปลี่ยนรัชกาลเสียก่อน ดังนั้นผลพลอยได้จึงตกอยู่ที่กรุงรัตนโกสินทร์แทนในเวลาต่อมา(๑๒)





          สำหรับกลุ่มชาวจีนที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของธนบุรีในขณะนั้น ก็คือชาวจีนที่หลั่งไหลเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจำนวนมาก บ้างก็ทำการค้าขายจนได้เข้ารับราชการในตำแหน่งสำคัญและมีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นอย่างยิ่ง อาทิ ชาวจีนกวางตุ้งชื่อ หยังจิ้นจง รับราชการจนได้บรรดาศักดิ์เป็นโกษาธิบดี ซึ่งทำหน้าที่ดูแลซื้อขายสินค้า ชาวจีนแต้จิ๋วชื่อ จีนมั่วเส็ง ต่อมาโปรดฯให้เป็นหลวงอภัยพานิช หรือจีนเรือง ซึ่งต่อมาได้เป็นพระพิชัยวารี จีนฮกเกี้ยนมีขุนนางคนสำคัญคือ เฮาเหยี่ยง หรือ วูหยาง เป็นพ่อค้าจีนฮกเกี้ยนที่เดินทางมายังสงขลาและปลูกยาสูบขายจนร่ำรวย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดให้เป็นเจ้าภาษีรังนกของสงขลา ต่อเมื่อมีความดีความชอบทำอากรรังนกถวายเงินปีละ ๕๐ ชั่ง จึงแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอินทรคีรีสมบัติ(๑๓) เป็นต้น จนอาจกล่าวได้ว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กรุงธนบุรีก้าวสู่ระบบการค้าจีนในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ได้นั้นก็เพราะมีกลุ่มชาวจีนอพยพเป็นกำลังสำคัญ ด้วยการเป็นทั้งผู้ผลิตสินค้า ผู้จัดหา เป็นทั้งขุนนางและลูกจ้างที่สร้างความเชื่อมโยงจนเกิดเป็นเครือข่ายการค้าในแต่ละเมืองขึ้น
          นอกจากจะเปิดการค้ากับจีนแล้ว กรุงธนบุรีก็ยังได้ติดต่อการค้ากับชาวญวนและแขก เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเรียนรู้ภาษาทั้งสามจนทรงสามารถพูดได้อย่างชำนาญมาตั้งแต่เมื่อครั้งทรงเริ่มรับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา นอกจากนั้นก็ยังมีการทำการค้ากับญี่ปุ่นและชาติอื่นๆด้วย แต่เป็นการค้าที่ไม่ได้สร้างรายได้ให้กรุงธนบุรีมากเท่าการค้ากับจีน และการได้ทำการค้าที่ผ่านพ่อค้าจีนนั้นก็ยังส่งผลดีที่ทำให้การค้าเริ่มขยายตัวออกสู่วงกว้างมากขึ้นด้วย(๑๔)
          สำหรับความสัมพันธ์ที่มีกับชาติตะวันตกนั้น มีหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในเอกสารสำคัญของฝ่ายไทยและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ของกรุงธนบุรี นั่นก็คือ เรื่องจดหมายเหตุของพวกบาทหลวงฝรั่งเศส(๑๕) พวกเขาได้บันทึกเรื่องราวครั้งกรุงธนบุรีไว้ เริ่มตั้งแต่ช่วงแรกที่เดินทางเข้ามาในช่วงต้นรัชสมัย อย่างเช่นที่มองซิเออร์คอร์บันทึกไว้ว่า “เมื่อข้าพเจ้าได้มาถึงบางกอก พระยาตากพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ ได้ทรงต้อนรับข้าพเจ้าอย่างดี และโปรดให้ข้าพเจ้าเลือกหาที่ดินตามใจชอบ ข้าพเจ้าได้เลือกที่ไว้แห่ง ๑ เหนือหมู่บ้านพวกเข้ารีต..”(๑๖) แต่ในส่วนประเด็นสำคัญคงเป็นเรื่องชะตากรรมของชาวยุโรป ที่ทำให้ได้รับรู้เรื่องราวของพวกคริสตังโปรตุเกสที่ต้องหนีตายจากการถูกควบคุมตัวของทหารพม่า ตลอดจนการบันทึกในช่วงหลังการเสียกรุงที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการค้าขายทั้งกับชาวอังกฤษ โปรตุเกส และฮอลันดา หลักฐานเรื่องสินค้าสำคัญตามที่ปรากฏในบันทึก นอกจากจะเป็นการค้าข้าวซึ่งเป็นสินค้าบริโภคที่จำเป็นยิ่งสำหรับการเสริมสร้างกำลังแก่กองทัพแล้ว ในภาวะที่บ้านเมืองยังอยู่ในช่วงมีศึกสงครามติดพันเช่นนั้น สินค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ก็จะมีความสำคัญและจำเป็นไม่แพ้กัน ดังที่ปรากฏเรื่องของการติดต่อซื้อดินปืนและปืนนานาชนิด ที่เรือสินค้าต่างชาติตามหัวเมืองชายทะเลได้บรรทุกเข้ามาจำหน่าย การที่บาทหลวงฝรั่งเศสได้บันทึกถึงเรื่องการอาศัยเรือแขกมัวร์ไปยังบางกอก (พ.ศ.๒๓๑๓) แสดงให้เห็นว่ามีการนำเรือสินค้าเข้ามาค้าขายที่เมืองบางกอกแล้วตั้งแต่ตอน ต้นรัชสมัย นอกจากนั้น ยังมีข้อความที่บันทึกไว้ในเวลาต่อมาว่า “ในปี พ.ศ.๒๓๒๒ แขกมัวร์จากเมืองสุราตในประเทศอินเดีย ได้นำสินค้าเข้ามาขายในกรุงธนบุรี และฝ่ายไทยก็ได้ส่งสำเภาหลวงไปค้าขายถึงอินเดีย”(๑๗)
          การค้าที่สำคัญอีกด้านหนึ่งนั้นก็คือการค้ากับฮาเตียน(๑๘) สินค้าที่นำเข้าจำนวนมากคือข้าว นอกจากนั้นก็ยังปรากฏหลักฐานการค้ากับบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา (V.O.C.) ว่า “ในปีพ.ศ.๒๓๑๒ ออกญาพิพัทธโกศาได้ส่งจดหมายไปถึงข้าหลวงใหญ่ของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาในเมืองปัตตาเวีย เพื่อชักชวนให้กลับมาตั้งสถานีการค้าในกรุงธนบุรี และติดต่อขอซื้ออาวุธปืนจำนวน ๑,๐๐๐ กระบอก บริษัทอินเดีย ตะวันออกของฮอลันดาได้ตกลงขายปืนให้ ๕๐๐ กระบอก โดยแลกกับไม้ฝาง หากมีไม้ฝางไม่พอก็สามารถจ่ายเป็นขี้ผึ้งได้”(๑๙) ถึงแม้บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาจะไม่ได้กลับมาตั้งสถานีการค้าในธนบุรี แต่ก็ยังมีการติดต่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าอีกหลายครั้ง เช่นในพ.ศ.๒๓๑๗ ธนบุรีได้ซื้อปืนอีก ๓,๐๐๐ กระบอก และการซื้อขายแต่ละครั้งก็ยังดำเนินการผ่านชาวจีนที่เดินเรืออยู่ระหว่างสยามและปัตตาเวีย โดยส่วนมากเป็นการซื้ออาวุธ รองลงมาคือข้าวและม้า(๒๐)
          จากการได้ติดต่อการค้าระหว่างกรุงธนบุรีกับชาติตะวันตกในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้เราได้รู้จักพ่อค้าชาวอังกฤษ ชื่อ ฟรานซิส ไลต์ (Francis Light) ตลอดจนได้รับรู้เรื่องราวที่เขาที่ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรุงธนบุรีอีกด้วย เขาเป็นผู้ที่ทำให้กรุงธนบุรีได้ทำการซื้ออาวุธปืนกับชาติตะวันตกอีกครั้ง และมีคุณงามความดีจนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ พระยาราชกปิตัน แก่เขาในภายหลัง(๒๑) ฟรานซิส ไลต์ เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๒๘๘ ที่เมืองดัลลิงฮู (Dallinghoo) ซัฟฟอล์ก (Suffolk) ประเทศอังกฤษ หลังสำเร็จการศึกษาได้เข้ารับราชการกับราชนาวีอังกฤษเป็นเวลา ๕ ปี ตั้งแต่พ.ศ.๒๓๐๒ ถึงพ.ศ.๒๓๐๖ ตำแหน่งสุดท้ายในการรับราชการคือนายเรือโท จากนั้นจึงได้ลาออกจากราชการมาเป็นนายเรือพาณิชย์สังกัดบริษัทบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (British East India Company) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เบงกอลซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย และเดินเรือทำการค้าอยู่ระหว่างท่าเรือตามชายฝั่งอินเดียกับคาบสมุทรมลายู นายจอห์น ครอเฟิร์ด (John Crawfurd) ให้ข้อมูลไว้ว่า ฟรานซิส ไลต์ ได้สมรสกับสาวลูกครึ่งไทย-โปรตุเกสชาวเมืองถลาง ชื่อ มาร์ตินา โรเซล และตั้งรกรากอยู่ที่เมืองถลางมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๑๕ และต่อมาได้ย้ายศูนย์กลางการค้าไปอยู่ที่ปีนังหรือเกาะหมาก สินค้าสำคัญที่ค้าขายอยู่ในเวลานั้นก็คือ ข้าว ซึ่งมีลักษณะการค้าขายที่ใช้ดีบุกในการชำระอัตราค่าซื้อขายแทนการใช้เงิน แต่สิ่งที่ทำให้การค้าของฟรานซิส ไลต์กับสยามประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งและกลายเป็นบุคคลสำคัญของภูมิภาคนี้ ก็คือการค้าอาวุธปืนนานาชนิด โดยเฉพาะปืนใหญ่ประเภทต่างๆ รวมทั้งการค้าดินปืนให้กับเมืองถลางและเมืองชายทะเลอื่น ๆทางภาคใต้ของสยาม เพราะขณะนั้นสยามยังขาดแคลนทั้งอาวุธและยุทธปัจจัยใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพเพื่อใช้ในการต่อสู้ป้องกันประเทศในระหว่างการศึกกับพม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงโปรดให้ฟรานซิส ไลต์เป็นธุระในการติดต่อขอซื้ออาวุธ ซึ่งปรากฏหลักฐานในบันทึกว่า กรมการเมืองถลางซื้อปืนคาบศิลา ๙๖๒ กระบอก ปืนชาติเจะระมัด ๙๐๐ กระบอก โดยมีกปิตันมังกูเป็นผู้นำส่งมายังกรุงธนบุรี และเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนกับดีบุก(๒๒) ซึ่งเรื่องการค้าขายกับชาติตะวันตกในช่วงดังกล่าวนี้ก็ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ปีวอกอัฐศก (พ.ศ.๒๓๑๙) เป็นข้อความเพียงสั้น ๆว่า “เจ้ากรุงปัญยีจัดซื้อปืนถวายเข้ามา ๑๔๐๐ และสิ่งของเครื่องบรรณาการต่างๆ”(๒๓) เพื่อมอบเป็นบรรณาการแก่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช นอกจากนี้ก็มีเอกสารต่างประเทศฉบับอื่นๆ บันทึกเหตุการณ์เดียวกันนี้ไว้ และบางฉบับ(๒๔)ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า กรุงธนบุรีได้สั่งซื้อปืนจากอังกฤษ โดยมีจดหมาย โต้ตอบระหว่างกัน และในการจัดซื้อครั้งหนึ่ง ฟรานซิส ไลต์ได้เขียนจดหมายไปถึงนายยอร์ช สแตรตตัน(๒๕) ฉบับลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๐ ข้อความตอนหนึ่งว่า พระเจ้าแผ่นดินสยามได้สดับว่าพม่ากำลังให้ความสนใจฝรั่งเศสมาก ลำพังพม่าพวกเดียวแล้วพระองค์ไม่กลัว แต่ทรงวิตกว่าพม่าจะเข้ารวมกับพวกฝรั่งเศสซึ่งมีอยู่มากในหงสาวดีและอังวะ จึงทรงเห็นภัยที่จะมีมาถึงประเทศ(๒๖)
          ในเวลาต่อมาพระยาราชกปิตันได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการเกาะปรินซ์ ออฟ เวลส์ (Governor of Prince of Wales) หรือเจ้าเมืองปีนังคนแรก แต่เขาก็ยังคงมีบทบาทพ่อค้าอาวุธกับราชอาณาจักรไทยอยู่อย่างต่อเนื่องนับจากสมัยกรุงธนบุรีเรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏอยู่ในเอกสารเมืองถลาง หรือจดหมายของพระยาถลางและคุณหญิงจันที่มีไปถึงฟรานซิส ไลต์ เจ้าเมืองปีนัง เอกสารประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญนี้เป็นจดหมายอักษรไทยจำนวนกว่า ๖๐ ฉบับซึ่งได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน มีสาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการติดต่อการค้าระหว่างพระยาราชกปิตันกับเมืองถลางในระหว่าง พ.ศ.๒๓๒๘ ถึง ๒๓๓๓ เนื้อความส่วนใหญ่บอกเล่าถึงสถานการณ์ในช่วงวิกฤตของเมืองถลาง เมืองตะกั่วป่า และเมืองตะกั่วทุ่งภายหลังการศึกสงครามกับพม่า สภาพบ้านเมืองที่ได้รับความเสียหาย ยุ้งฉางข้าวที่ถูกพม่าเผาทำลายเพื่อมิให้หลงเหลือเป็นเสบียงอาหาร จนทำให้ประชาชนต้องอดอยากขาดแคลนและการต้องใช้ดีบุกในการแลกเปลี่ยนกับสินค้าต่างๆ เป็นต้น
          แม้ยามนั้นบ้านเมืองจะตกอยู่ในภาวะศึกสงคราม แต่ต้องยอมรับว่าการขับเคลื่อนของกลุ่มชาวจีนที่อพยพเข้ามาคือกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันให้กรุงธนบุรีมีการค้าที่เจริญรุ่งเรือง ทั้งยังทำให้การติดต่อค้าขายสามารถเชื่อมโยงไปสู่อาณาจักรอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อีกด้วย การค้าในสมัยกรุงธนบุรีทั้งการค้าภายในและภายนอกนั้นมีแต่ชาวจีนที่เป็นคนดำเนินการ แม้แต่ชาวตะวันตกที่เดินทางเข้ามาในช่วงนั้นก็ยังได้บันทึกว่า การค้าสำคัญของที่นี่อยู่ในมือชาวจีนทั้งหมด และพระมหากษัตริย์เองก็พอใจจะให้เป็นเช่นนั้น(๒๗)
-------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นางสาวเสาวลักษณ์ กีชานนท์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มแปลและเรียบเรียง สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
-----------------------------------------------------------------
เชิงอรรถ
๘ จิราธร ชาติศิริ เศรษฐกิจธนบุรีในศตวรรษแห่งจีน.หน้า.๒๔๒. อ้างจาก สืบแสง พรหมบุญ เรื่อง ความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการระหว่างจีนกับไทยในค.ศ.๑๒๘๒-๑๘๕๓. ๙ จิราธร ชาติศิริ. อ้างแล้ว. หน้า๒๔๓. ๑๐ อ้างแล้ว. หน้า๒๔๗. ๑๑ กรมศิลปากร. ทศภาค : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช.(๒๕๕๙). หน้า ๒๔๑. ๑๒ สุดารา สุจฉายา. พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จากหนังสือ ทศภาค : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.๒๕๕๙. น.๔๕. ๑๓ จิราธร ชาติศิริ. อ้างแล้ว. หน้า๒๕๒. ๑๔ จิราธร ชาติศิริ. อ้างแล้ว. หน้า ๒๔๘. ๑๕ ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙ จดหมายเหตุบาทหลวงฝรั่งเศสในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ๑๖ ศิลปากร, กรม.ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙. หน้า ๘๘. ๑๗ http://wikipedia.org. ความสัมพันธ์กับต่างชาติในสมัยกรุงธนบุรี. (เข้าถึงเมื่อ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๐). ๑๘ หมายถึงเมืองพุทไธมาศ หรือบันทายมาศ ปัจจุบันตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนามติดกับกัมพูชา ๑๙ จิราธร ชาติศิริ. เศรษฐกิจกรุงธนบุรีในศตวรรษแห่งจีน. กรุงเทพฯ : หจก.สามลดา. หน้า ๒๔๙ อ้างอิงจาก ธีรวัติ ณ ป้อมเพชร จดหมายจากพิพัทธโกศา ถึงบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา หน้า๓๓-๔๐. ๒๐ จิราธร ชาติศิริ. อ้างแล้ว. หน้า ๒๔๙. ๒๑ จากเอกสารและจดหมายหลายฉบับที่ข้าราชการและชาวเมืองถลางเขียนถึงฟรานซิส ไลต์ ลงวันที่เดือนปี ในพ.ศ.๒๓๒๒ ได้เรียกเขาตามบรรดาศักดิ์อย่างชัดเจนว่า พระยาราชกปิตัน ซึ่งยังอยู่ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อย่างไรก็ดี บางหลักฐาน เช่น หนังสือชุมนุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ได้อ้างว่า กัปตันฟรานซิส ไลต์ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาราชกปิตันในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ๒๒ จิราธร ชาติศิริ. เศรษฐกิจกรุงธนบุรีในศตวรรษแห่งจีน.อ้างแล้ว. หน้า ๒๔๙. ๒๓ กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี. (กรุงเทพฯ : มปป. มปท.) น. ๙๒ ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาและเอกสารต่างประเทศหลายฉบับกล่าวตรงกันว่า หมายถึงกปิตันเหล็ก เจ้าเมืองเกาะหมาก ๒๔ หนังสือ Taksin the Great by History World Published: Lulu.com on May 15, 2013 ๒๕ George Stratton ชาวอังกฤษซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งไวซ์รอยหรือผู้สำเร็จราชการแห่งมัทราส (Viceroy of Madras) ๒๖ อาณัติ อนันตภาค. สองมหาราชกู้แผ่นดิน. น.๑๔. ๒๗ จิราธร ชาติศิริ. อ้างแล้ว. หน้า๒๕๔ อ้างอิงจาก Sarasin Viraphol. Tribute and Profit: Sino-Siamese trade 1652-1853. Cambridge: Harward U.Press,1977.p.172.
-------------------------------------------------------------

(จำนวนผู้เข้าชม 7274 ครั้ง)

Messenger