กรุงธนบุรีศรีมหาสมุท (๑) ชื่อเดิมว่า เมืองบางกอก เป็นเมืองที่เคยเป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่และมีความเจริญ รุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ภายหลังจากที่กรุงศรีอยุธยาล่มสลายเมื่อพ.ศ.๒๓๑๐ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนากรุงธนศรีมหาสมุทรแห่งนี้เป็นราชธานีแห่งใหม่ กรุงธนบุรีมีอายุครบรอบ ๒๕๐ ปีแห่งการสถาปนาเป็นราชธานีของไทย เมื่อพ.ศ.๒๕๖๐ มีความสำคัญและเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยไม่แพ้ราชธานีใด เพราะการก่อกำเนิดของราชธานีแห่งนี้เกิดขึ้นจากความเสียสละและจิตใจอันกล้าหาญเด็ดเดี่ยวยิ่งของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผู้ทรงอุทิศทั้งแรงกายและแรงใจของพระองค์ด้วยความวิริยะอุตสาหะ พระองค์ทรงตรากตรำทั้งพระวรกายและทรงทุ่มเทแรงใจเพื่อนำพาเหล่าบรรพชนผู้กล้าหาญเข้ากรำศึกกับข้าศึกศัตรูทั้งจากภายในและภายนอก เพื่อให้ได้มาซึ่งการดำรงอยู่ของคนไทยจนนำไปสู่การตั้งราชธานีแห่งใหม่และกอบกู้เสถียรภาพของชาติไทยให้กลับคืนมาได้อีกครั้ง
พระมหากรุณาธิคุณอันเป็นที่ประจักษ์ชัดของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็คือการสถาปนาศูนย์กลางอำนาจของราชอาณาจักรไทยขึ้นสืบต่อจากกรุงศรีอยุธยาที่ถูกพม่าทำลายจนพินาศย่อยยับได้สำเร็จ และกลายเป็นหลักแหล่งมั่นคงที่เป็นรากฐานให้กรุงเทพมหานครได้เติบโตตามมาจนมีอายุสองร้อยกว่าปีในปัจจุบัน ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นี้ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียเลือดเนื้ออันเกิดจากความรักชาติและความเสียสละของพระยาตากอย่างแท้จริง ดังนั้นคงไม่ใช่เรื่องที่จะพูดกันแต่เพียงว่าท่านคือผู้กอบกู้เอกราช เพราะพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่นอกเหนือกว่านั้นคือพระราชปณิธานและวีรกรรมอันมุ่งมั่นที่สร้างชาติบ้านเมืองให้กลับมาหยัดยืนสืบแทนอยุธยาให้ได้อีกครั้ง หากปราศจากพระองค์ท่าน ประเทศไทยในวันนี้จะเป็นเช่นไรก็คงเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการได้
ภายหลังจากที่ทรงปราบดาภิเษก พระราชภารกิจสำคัญลำดับแรกของพระเจ้าตากสินมหาราชก็คือการสร้างชาติบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น แต่การกอบกู้ชาติบ้านเมืองของพระองค์ในระยะแรกเริ่มเต็มไปด้วยความยาก ลำบากแสนสาหัส ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวของประชาชนและสภาพบ้านเมืองที่ถูกข้าศึกทำลายจนย่อยยับจนเกิดสภาวะจลาจลไปทั่วทุกหนแห่งในขณะนั้น การที่จะทำให้บ้านเมืองมีเสถียรภาพเพื่อให้ผู้คนเกิดความเชื่อมั่นที่จะกลับเข้ามาดำเนินชีวิตตามปกติอีกครั้งจึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่บ้านเมืองยังเต็มไปด้วยปัญหาภายในซับซ้อนหลายด้าน ประกอบกับภาวะศึกสงครามก็ยังไม่ได้สงบลงอย่างแท้จริง ยังคงมีทั้งศึกภายนอกและศึกภายในมาจากทุกภูมิภาค มีการตั้งตนเป็นใหญ่ของผู้นำชุมนุมต่างๆ ได้แก่ ชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) ชุมนุมเจ้าเมืองพิษณุโลก (เรือง) ชุมนุมเจ้าพิมาย (กรมหมื่นเทพพิพิธ) และชุมนุมเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช (หนู) ดังนั้นการจะสร้างชาติบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง ในลำดับแรกพระองค์จึงทรงต้องปราบปรามชุมนุมที่ต่างฝ่ายก็พยายามจะแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจเพื่อตั้งตนขึ้นมาเป็นใหญ่เสียก่อน ซึ่งต้องใช้ทั้งสรรพกำลังและต้องสูญเสียเลือดเนื้อมิใช่น้อย
สิ่งที่สร้างความยากลำบากเพิ่มมากขึ้นก็คือเหตุแห่งทุพภิกขภัย หรือภัยแห่งการขาดแคลนอาหารภายในบ้านเมืองที่เกิดขึ้นจากภาวะสงคราม เกิดข้าวยากหมากแพงและขาดแคลนอาหารอย่างหนัก เพราะราษฎรพากันทิ้งไร่ทิ้งนาในระหว่างศึกสงคราม ดังนั้นในยามที่ว่างเว้นจากการกรำศึกเพื่อกอบกู้เอกราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ยังทรงต้องแก้ปัญหาปากท้องทั้งของราษฎรและกองทัพ พระองค์ทรงเริ่มชักจูงให้ราษฎรค่อยๆ อพยพกลับสู่กรุงธนบุรีเพื่อกลับมาเป็นกำลังสำคัญในการสร้างชาติ เหตุผลหนึ่งที่ทรงเลือกเมืองธนบุรีนั้น เพราะแต่เดิมเมืองธนบุรีเป็นชุมชนที่มีความสำคัญทั้งทางด้านยุทธศาสตร์และการค้า และเป็นชุมชนขนาดใหญ่มาตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยาตอนต้น เป็นเมืองเกษตรกรรมและอาชีพหลักของประชาชนคือการทำสวนผลไม้ หมู่บ้านส่วนใหญ่ที่อยู่ริมน้ำปลูกเป็นกระท่อมไม้ไผ่เรือนยกสูงเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยปลูกบ้านเป็นแนวยาวไปตามแนวทางน้ำ ถัดเข้าไปตอนในจึงเป็นที่นาหรือป่าละเมาะ ลักษณะการทำสวนของเมืองธนบุรีซึ่งเป็นแบบยกท้องร่อง เป็นลักษณะการทำสวนแบบชาวจีนในมณฑลกวางตุ้งและมณฑลกวางสี จึงมีความเป็นไปได้ว่าชาวจีนตอนใต้ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานตามปากแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว ในเมืองธนบุรีมีการทำเกษตรกรรมที่ให้ผลผลิตดี สินค้าสำคัญของธนบุรีที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นประเภทผลไม้และหมาก(๒) แต่ในขณะนั้นการทำไร่ทำนาก็ยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรเพราะฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล สภาวะการขาดแคลนดังกล่าวนี้ปรากฏตรงกันอยู่ในบันทึกของชาวต่างชาติหลายฉบับ เช่นที่ปรากฏข้อความในบันทึกของคณะบาทหลวงฝรั่งเศส ว่า“..เมื่อข้าพเจ้าได้ไปในเมืองไทยได้เห็นราษฎรพลเมืองซึ่งได้รอดพ้นมือพม่าไปได้นั้น ยากจนเดือดร้อนอย่างที่สุด ในเวลานี้ดูเหมือนดินฟ้าอากาศจะช่วยกันทำโทษพวกเขา ฝนก็ไม่ตกตามฤดูกาล ชาวนาได้หว่านข้าวถึง ๓ ครั้งก็มีตัวแมลงคอยกินรากต้นข้าวและรากทุกอย่าง โจรผู้ร้ายก็ชุกชุมมีทั่วไปทุกหนแห่ง เพราะฉะนั้นถ้าจะไปไหนก็ต้องมีอาวุธติดตัวไปด้วยเสมอ..”(๓)
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อรับซื้อข้าวสารจากเรือสำเภาของชาวต่างชาติในราคาสูงเพื่อนำมาแจกจ่ายแก่ราษฎร ชาวบ้านที่เคยหลบหนีออกไปอยู่ตามป่าเขาจึงเริ่มอพยพกลับเข้ามาในกรุงธนบุรีเพิ่มมากขึ้น แม้แต่ชาวต่างชาติที่ได้ร่วมรู้เห็นเหตุการณ์ในช่วงนี้ก็ยังได้บันทึกไว้เช่นกันว่า “..ภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ พระยาตากได้แสดงให้เห็นถึงพระเมตตากรุณาของพระองค์ ความขัดสนไม่ได้ทำให้อดอยากต่อไปอีกนานนัก เพราะพระองค์ทรงเปิดพระคลังหลวงเพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ ชาวต่างชาติได้ขายผลิตผลซึ่งไม่มีในประเทศสยามให้โดยต้องใช้เงินสดซื้อ ทรงใช้พระเมตตากรุณาของพระองค์เพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงความถูกต้องในการเข้ายึดครองอำนาจ ทรงลบล้างเรื่องการกดขี่ ความปลอดภัยทั้งในเรื่องชีวิตและทรัพย์สินได้ฟื้นคืนกลับมา..”(๔)
ส่วนในพระราชพงศาวดารก็ได้บันทึกไว้เมื่อวันอาทิตย์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ว่า “ข้าวสารเป็นเกวียนละ ๒ ชั่ง อาณาประชาราษฎรขัดสน จึงทรงพระกรุณาให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทำนาปรัง”(๕) แม้กระทั่งระดับเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์(๖) ซึ่งเป็นแม่ทัพก็ยังต้องมาคุมทำนาพื้นที่ฝั่งซ้ายขวา กินเนื้อที่กว้างให้เป็นทะเลตมเพื่อป้องกันข้าศึก และในเวลาต่อมาเมื่อบ้านเมืองได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ กรุงธนบุรีจึงได้เริ่มมีการติดต่อค้าขายทั้งกับชาติตะวันออกและตะวันตก ทางตะวันออกพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้ส่งเรือสำเภาไปค้าขายถึงเมืองจีนตลอดจนอินเดียใต้ แต่กว่าที่จะเปิดการค้ากับราชสำนักจีนได้นั้นพระเจ้าตากต้องส่งพระราชสาสน์ไปเมืองจีนถึง ๔ ครั้ง(๗) เพื่อให้จีนรับรับรองฐานะความเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ของสยาม
-------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นางสาวเสาวลักษณ์ กีชานนท์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มแปลและเรียบเรียง สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
-------------------------------------------------------------
เชิงอรรถ
๑ ปรากฏชื่ออยู่ในกฎหมายตราสามดวงว่า “เมืองธนบุรียศรีมหาสมุทร”ซึ่งแปลว่า“เมืองแห่งทรัพย์อันเป็นศรีแห่งสมุทร” ๒ จุมพฎ ชวลิตานนท์. การค้าส่งออกของอยุธยาระหว่างพ.ศ.๒๑๕๐-๒๓๑๐.วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย.๒๕๓๑. หน้า๔๓. ๓ ศิลปากร,กรม. ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙. หน้า ๘๗ ๔ สมศรี เอี่ยมธรรม. ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง. (กรุงเทพฯ : หจก.อรุณการพิมพ์) ๒๕๕๙. น. ๒๒๓. ๕ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม).(กรุงเทพ : มปท. มปป.) ๒๕๐๖. น. ๔๐. ๖ ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท หรือวังหน้าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ๗ ณัฏฐภัทร จันทวิช. ข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาตอนปลายและธนบุรีจากจดหมายเหตุจีน. วารสารศิลปากร ๒๕ (พค.-กค.๒๕๒๓) น.๕๕.
--------------------------------------------------------------
(จำนวนผู้เข้าชม 10066 ครั้ง)