ภาพสลักหน้าบันของปราสาทประธาน ด้านทิศใต้ ปราสาทบ้านพลวง จังหวัดสุรินทร์
          ภาพสลักหน้าบัน ของปราสาทประธาน ด้านทิศใต้ สลักภาพบุคคลนั่งชันเข่า ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเทพปกปักรักษาดูแลปราสาท อยู่เหนือหน้ากาล คายท่อนพวงมาลัย พรรณพฤกษา เป็นทรงพุ่ม ล้อมรอบบุคคล ซึ่ง มีองค์ประกอบภาพคล้ายกับภาพสลักหน้าบัน ของปราสาทประธาน ด้านทิศเหนือ โดยสภาพปัจจุบันมีบางส่วนได้รับความเสียหาย
          บริเวณใต้หน้าบัน ปรากฏ ทับหลัง สลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ซึ่งเป็นเทพประจำทิศตะวันออก เช่นเดียวกับ ทับหลังของปราสาทประธานด้านทิศตะวันออก โดยองค์ประกอบภาพสลัก ประกอบด้วยพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ 3 เศียร อยู่ในซุ้มเรือนแก้ว เหนือหน้ากาล คายท่อนพวงมาลัย มีใบไม้ตั้งขึ้นและตกลง แถวด้านบนสลักเป็นรูปสัตว์ ช้าง กระรอก หมู ลิงและวัว ซึ่งมีสภาพลบเลือน
          ความพิเศษของภาพสลัก ปราสาทประธาน ด้านทิศใต้นี้ อยู่ด้านบนเหนือทับหลัง สลักภาพสัตว์ ฟากหนึ่งเป็นสัตว์ดุร้าย อย่าง จระเข้ และแร้งกินซากสัตว์ อีกฟากหนึ่ง เป็นม้า ลูกม้าและลิง ซึ่งไม่พบในด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือ
          การปรากฏ ภาพสลัก พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ เทพประจำทิศตะวันออก บนทับหลังทั้งด้านทิศตะวันออก และทิศใต้ นั้น จึงสันนิษฐานว่า ปราสาทบ้านพลวงให้ความสำคัญกับการเคารพนับถือบูชาพระอินทร์ ในฐานะเทพประจำทิศตะวันออก และเทพเจ้าแห่งฟ้า-ฝน เป็นพิเศษ
          สำหรับภาพสลักหน้าบัน และกรอบทับหลัง ปราสาทประธานด้านทิศตะวันตกนั้น ไม่ปรากฏ หรือพบลวดลายสลักใดๆ พบเพียงพื้นผิวของหินทรายที่มีร่องรอยการโกลนลวดลายไว้เท่านั้น












----------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา

-------------------------------------------------------

(จำนวนผู้เข้าชม 2169 ครั้ง)

Messenger