เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
แผ่นดินเผาภาพบุคคลฟ้อนรำ
แผ่นดินเผาประติมากรรมนูนต่ำ ทำเป็นรูปบุคคล (บุรุษ) ยืนเอียงสะโพก ขาซ้ายเหยียดตรง ขาขวางอ ปลายเท้าแยกออกทางด้านข้าง แขนขวายกงอขึ้นจีบเป็นวงชิดใบหู และแขนซ้ายเหยียดโค้งพาดกลางลำตัวมือจีบเป็นวงชี้ลงเบื้องล่าง ซึ่งท่าทางดังกล่าวคล้ายกับท่ารำ ที่เรียกว่า “กริหัสตะกะ” (ท่างวงช้าง) หรือ “ลลิตะ” (ท่าเยื้องกราย)
ภาพบุคคลดินเผาชิ้นนี้ ประดับตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับหลายชิ้น ศีรษะสวมศิราภรณ์ (เครื่องประดับศีรษะ) เป็นกระบังหน้าที่ประกอบด้วยตาบสามเหลี่ยมคล้ายใบไม้ ๓ ตาบ มีร่องรอยตาบสามเหลี่ยมซ้อนอยู่อีกหนึ่งชั้นด้านหลัง บริเวณต้นแขนทั้งสองข้างสวมพาหุรัดรูปตาบสามเหลี่ยมคล้ายกับที่ศิราภรณ์ นอกจากนี้ยังสวมตุ้มหูและสร้อยคอ ที่มีลักษณะคล้ายกับเครื่องประดับที่พบได้ทั่วไปในประติมากรรมที่พบจากเมืองโบราณสมัยทวารดี นุ่งผ้าโจงกระเบนสั้นเหนือเข่า ที่ด้านหน้ามีชายผ้ารูปหางปลา ๒ ชั้น
การประดับตาบสามเหลี่ยมเป็นรูปแบบที่นิยมในศิลปะปาละของอินเดีย (พุทธศตวรรษที่ ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว) และส่งอิทธิพลให้กับดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ร่วมสมัยกันอย่างกว้างขวาง เช่น พุกาม ชวา และจาม เป็นต้น ภาพบุคคลฟ้อนรำชิ้นนี้ จึงอาจจะได้รับอิทธิพลทางศิลปกรรม มาจากศิลปะปาละโดยตรง หรืออาจรับผ่านดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับอิทธิพลศิลปะปาละอีกทอดหนึ่ง ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตามภาพบุคคลฟ้อนรำชิ้นนี้มีการลดทอนรายละเอียดของตาบรูปสามเหลี่ยมตามแบบศิลปะปาละลงอย่างมาก จนเหลือเพียงลักษณะของการใช้เครื่องมือปลายแหลมกรีดให้เป็นเครื่องประดับรูปสามเหลี่ยมเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าคงสร้างด้วยฝีมือช่างท้องถิ่น เมื่อพิจารณารูปแบบศิราภรณ์รูปตาบสามเหลี่ยมแล้ว ภาพบุคคลชิ้นนี้จึงน่าจะสร้างขึ้นหลังจากพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เป็นต้นมา
การแสดงออกถึงฝีมือช่างท้องถิ่นทวารวดีในภาพบุคคลชิ้นนี้ ยังปรากฏบนลักษณะใบหน้าที่มีคิ้วต่อเป็นปีกกา ริมฝีปากหนาแบะ ตาโปน และจมูกใหญ่ ยังแสดงให้ถึงรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะทวารวดีอย่างแท้จริงเช่นกัน นอกจากนี้ชายผ้านุ่งที่เป็นรูปหางปลา ๒ ชายซ้อนกันยังชวนให้นึกถึงศิลปะเขมร ซึ่งร่วมสมัยกับทวารวดีตอนปลาย โดยเริ่มเข้ามาบทบาทในศิลปะทวารวดี ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๖ การกำหนดอายุจากชายผ้านุ่งจึงสอดคล้องกับการกำหนดอายุจากเครื่องประดับศิราภรณ์ข้างต้น ดังนั้นภาพบุคคลชิ้นนี้จึงควรสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๖ (ประมาณ ๑,๐๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว)
------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. สหมิตรพริ้นติ้ง : นนทบุรี, ๒๕๔๕. เชษฐ์ ติงสัญชลี. บทบาทของศิลปะอินเดียต่อเครื่องแต่งกายประติมากรรมบุคคลในเอเชียอาคเนย์. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๖๒. พนมบุตร จันทรโชติ และคณะ. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง และเรื่องราวสุวรรณภูมิ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๐. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒. สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ศิลปะขอม. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๓๙.
(จำนวนผู้เข้าชม 2466 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน