โบราณสถานวัดกรุสี่ห้อง




















          โบราณสถานวัดกรุสี่ห้องตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือของเมืองกำแพงเพชรหรือเขตอรัญญิก โบราณสถานที่พบในส่วนใหญ่วางตัวตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก และสร้างจากศิลาแลงที่เป็นทรัพยากรสำคัญที่พบได้ในพื้นที่ โดยกลุ่มโบราณสถานแบ่งได้ ๒ ส่วน คือ
          ๑. เขตพุทธาวาส พบโบราณสถานหลัก ได้แก่ วิหารโถงขนาด ๗ ห้อง อยู่บริเวณกึ่งกลางของวัด ตั้งอยู่บนฐานสูง มีลักษณะพิเศษคือการพบร่องรอยการใช้แผ่นหินชนวนปูบนพื้นของวิหาร ด้านทิศตะวันออกของวิหารพบกลุ่มเจดีย์จำนวน ๗ องค์ เรียงตัวกันในแนวทิศตะวันออก–ตะวันตก ซึ่งกลุ่มเจดีย์ดังกล่าวมีรูปแบบสถาปัตยกรรมและขนาดของฐานเจดีย์มีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละองค์ เจดีย์บางองค์สามารถสันนิษฐานได้เบื้องต้นว่าเป็นเจดีย์ที่มีชุดรองรับองค์ระฆังในผังแปดเหลี่ยมที่จัดว่าเป็นรูปแบบสกุลช่างกำแพงเพชรที่ปรากฏในเมืองกำแพงเพชร เช่น เจดีย์ประธานวัดพระนอน เจดีย์ประธานวัดพระธาตุ เจดีย์ประธานวัดป่าแฝก โดยโบราณสถานหลักทั้งสองมีกำแพงแก้วล้อมรอบแสดงเขตพุทธาวาสอย่างชัดเจน แต่แนวกำแพงแก้วที่พบได้แบ่งโบราณสถานทั้งสองออกจากกัน ไม่ได้ล้อมรอบวิหารและกลุ่มเจดีย์ให้เป็นพื้นที่หนึ่งเดียวกัน ซึ่งลักษณะการวางแผนผังที่วัดกรุสี่ห้องมีความแตกต่างจากโบราณสถานทั่วไปในเมืองกำแพงเพชร
          ๒. เขตสังฆาวาส ส่วนสิ่งก่อสร้างในเขตสังฆาวาสตั้งกระจายตัวอยู่ทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตกหรือบริเวณโดยรอบของโบราณสถานหลักทั้งสอง ประกอบด้วย กุฏิและศาลารวม ๑๐ หลัง วัจจกุฎีหรือห้องส้วม (นับรวมที่พบภายในกุฏิ) จำนวน ๑๐ แห่ง บ่อน้ำ ๔ แห่ง
          นอกจากนี้พื้นที่ส่วนทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวัดยังร่องรอยการตัดศิลาแลง เพื่อนำศิลาแลงมาใช้ในการก่อสร้างวัด ในบริเวณเดียวกันนี้ยังพบบ่อน้ำขนาดใหญ่รูปแบบเดียวกับบ่อน้ำหน้าวัดอาวาสใหญ่แต่มีขนาดเล็กกว่า ในท้องถิ่นเรียกบ่อน้ำดังกล่าวว่า “บ่อสามหมื่น” เป็นการขุดตัดลงไปในชั้นศิลาแลงที่มีความลึกถึง ๕.๕ เมตร มีความกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๑ เมตร และด้านทิศตะวันออกสุดของวัดปรากฏเจดีย์รายจำนวน ๒ องค์ พร้อมกำแพงแก้ว
          จากการขุดแต่งทางโบราณคดีเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ พบโบราณวัตถุสำคัญหลายประการ เช่น เครื่องประกอบสถาปัตยกรรมจากเครื่องสังคโลก เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ.๑๙๑๑–๒๑๘๗) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพบพระพุทธรูปสำริด ที่มีพุทธลักษณะตามแบบศิลปะสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ ๒๐–๒๑) แสดงอิริยาบถลีลา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่นิยมสร้างในสมัยสุโขทัย โดยเชื่อว่าการสร้างพระพุทธรูปในอิริยาบถลีลาน่าจะมีที่มาจากพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ดังที่พบหลักฐานเป็นงานปูนปั้นที่วัดตระพังทองหลาง เมืองสุโขทัย และปรากฏบนศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ เมืองสุโขทัย (พ.ศ.๑๙๖๐) ที่มีข้อความเกี่ยวกับการสร้าง “พระเจ้าหย่อนตีน” น่าจะสอดคล้องกับภาพพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่ปรากฏบนอีกด้านของจารึก

--------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์ กำแพงเพชร
--------------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. ม.ป.ม.: รุ่งศิลป์การพิมพ์,2557. บริษัทปรียะธุรกิจ จำกัด. รายงานงานบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานวัดกรุสี่ห้อง. โครงการบูรณะและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์แหล่งโบราณคดีจังหวัดกำแพงเพชร ตามแผนงานเงินกู้เพื่อการท่องเที่ยวและส่งเสริมการสร้างงานภายใต้โครงการ SIP พ.ศ.๒๕๔๓, ม.ป.ป. (อัดสำเนา) ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุรศักดิ์ก่อสร้าง. รายงานการขุดแต่งวัดกรุสี่ห้อง ในเขตอรัญญิก เมืองกำแพงเพชร. โครงการบูรณะและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์แหล่งโบราณคดีจังหวัดกำแพงเพชร ตามแผนงานเงินกู้เพื่อการท่องเที่ยวและส่งเสริมการสร้างงานภายใต้โครงการ SIP พ.ศ.๒๕๔๒, มกราคม ๒๕๔๓. (อัดสำเนา)

(จำนวนผู้เข้าชม 1124 ครั้ง)

Messenger