ขอเชิญชมนิทรรศการ “ทับหลังปราสาท หนองหงส์ และปราสาทเขาโล้น กลับคืนสู่ประเทศไทย”

          การติดตามทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัด สระแก้ว ซึ่งถูกโจรกรรมและนำออกไปจากประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายโดยขบวนการลักลอบค้าโบราณวัตถุมานานกว่า ๕๐ ปี เริ่มต้นเมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๙ จากความร่วมมือของภาคเอกชนและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในนาม “คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย” ตลอดจนสำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Investigations) หรือ HSI สหรัฐอเมริกา จนกระทั่งได้ทับหลังกลับคืนสู่ประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
          กรมศิลปากร ได้นำทับหลังทั้ง ๒ รายการ มาจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ “ทับหลังปราสาท หนองหงส์ และปราสาทเขาโล้น กลับคืนสู่ประเทศไทย” นำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของทับหลังทั้ง ๒ รายการ หลักฐานต่าง ๆ ที่ได้สืบค้น รวมถึงขั้นตอนการดำเนินงานในการติดตาม เพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงขั้นตอนและวิธีการกว่าจะได้มาซึ่งโบราณวัตถุที่ต้องใช้ระยะเวลา ความพยายาม และความร่วมมือจากหลายฝ่าย อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกรักและหวงแหนมรดกวัฒนธรรมของไทยและร่วมกันปกป้องดูแลรักษาให้สืบทอดไปยังคนรุ่นหลังต่อไป
          ขอเชิญชวนผู้สนใจไปชมนิทรรศการพิเศษ “ทับหลังปราสาทหนองหงส์ และปราสาทเขาโล้น กลับคืนสู่ประเทศไทย”จัดแสดง ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ทุกวันพุธ - วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ และอังคาร) เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โทรศัพท์ ๐ ๒๒๒๔ ๑๔๐๒ , ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๗๐
          นับเป็นเวลามากกว่า ๕๐ ปี ที่ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาท เขาโล้นจังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นส่วนประกอบของโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ได้ถูกโจรกรรมและนำออกไปจากประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายโดยขบวนการลักลอบค้าโบราณวัตถุเพื่อส่งต่อให้กับนักสะสมและพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งกรณีของทับหลังทั้งสองรายการนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่มรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยถูกลักลอบนำออกไป ที่ผ่านมาทับหลังจากปราสาทกู่สวนแตง และปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ก็เคยถูกโจรกรรมไป และได้ติดตามนำกลับคืนมาแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ และ พ.ศ. ๒๕๓๑ ตามลำดับ
          ทับหลังคือส่วนประกอบของศาสนสถานจำพวกปราสาทหินในวัฒนธรรมเขมรโบราณ โดยมี ลักษณะเป็นแผ่นหินรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าติดตั้งอยู่เหนือกรอบประตูของอาคารหรือปราสาทหิน วัสดุหลักที่ใช้ทำทับหลังคือหินทราย โดยจะมีการจำหลักลวดลายเป็นภาพเล่าเรื่อง ภาพเทพต่างๆ หรือลวดลายประดับลงบนทับหลัง ลวดลายเหล่านี้มีรูปแบบและวิวัฒนาการในการสร้างที่ชัดเจน จึงสามารถใช้เป็นสิ่งที่ช่วยกำหนดอายุในการสร้างโบราณสถานนั้น ๆ ได้ และทับหลังก็มีรูปแบบเฉพาะที่แตกต่างกันไปเนื่องจากเป็นของที่แกะสลักขึ้นมาทีละชิ้น มีเอกลักษณ์และสวยงาม เป็นที่ต้องการของเหล่าบรรดาผู้สะสมโบราณวัตถุ ในอดีตจึงมักถูกโจรกรรมจากแหล่งโบราณสถานที่อยู่ห่างไกลและลักลอบนำออกไปขายยังต่างประเทศ

(จำนวนผู้เข้าชม 1651 ครั้ง)

Messenger