โบราณสถานกุฏิฤษี สถานพยาบาลในอดีตของเมืองพิมาย

          โรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลา และได้พยายามรักษาโรคภัยเหล่านั้นมาตั้งแต่ในอดีต ในช่วงวัฒนธรรมเขมรโบราณ ในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ.๑๗๒๔ – ๑๗๖๑) พระองค์โปรดให้สร้างสถานพยาบาลขึ้นเพื่อให้การดูแลรักษาประชาชนที่เจ็บป่วย จำนวน ๑๐๒ แห่ง ทั่วดินแดนในพระราชอำนาจของพระองค์
          จารึกปราสาทตาพรหม ประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ โปรดให้สร้างขึ้น กล่าวถึงสถานพยาบาลจำนวน ๑๐๒ แห่ง ประจำในแต่ละวิษัย (จังหวัด) และจารึกประจำอโรคยศาลหลาย ๆ หลัก ที่มีการค้นพบ กล่าวถึงพระประสงค์ของพระองค์ในการสร้างสถานพยาบาลว่า

“โรคทางร่างกายของประชาชนนี้ เป็นโรคทางใจที่เจ็บปวดยิ่ง เพราะความทุกข์ ของราษฎร แม้มิใช่ความทุกข์ของพระองค์ แต่เป็นความทุกข์ของเจ้าเมือง พระองค์ได้สร้างโรงพยาบาลและรูปพระโพธิสัตว์ไภษัชยสุคตพร้อมด้วย พระชิโนรสทั้งสองโดยรอบเพื่อความสงบแห่งโรคของประชาชนตลอดไป”

           โบราณสถานกุฏิฤษี อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ตั้งอยู่นอกเมืองพิมายทางทิศใต้ซึ่งเป็นด้านหน้าของเมือง เป็นอโรคยศาลหรือศาสนสถานประจำสถานพยาบาลของเมืองพิมาย ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ โปรดให้สร้างขึ้น
          จากการศึกษาอโรคยศาลแห่งต่าง ๆ พบว่าจะสร้างขึ้นบริเวณชุมชนเดิม โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่นอกชุมชน เป็นบริเวณที่มีพื้นที่กว้างและอยู่ใกล้เส้นทางคมนาคม
          อโรคยศาลประกอบด้วยอาคาร ๒ ส่วน ได้แก่
          สถานพยาบาลที่เป็นอาคารเครื่องไม้ ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานให้เห็นแล้ว นักวิชาการชาวฝรั่งเศส โคล์ด ชาร์ค เสนอว่า อาคารส่วนนี้น่าจะตั้งอยู่ทางทิศเหนือของศาสนสถานใกล้กับสระน้ำ ซึ่งจากการขุดค้นบริเวณอโรคยศาลหลาย ๆ แห่ง พบหลักฐานของเศษภาชนะดินเผา กระเบื้องมุงหลังคาดินเผา ทำให้สันนิษฐานได้ว่า อาคารสถานพยาบาลที่สร้างด้วยไม้ อาจตั้งอยู่โดยรอบ โดยเฉพาะทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก

          ปราสาทซึ่งเป็นศาสนสถาน อาคารส่วนนี้เรียกว่า “สุคตาลัย” ตามที่ปรากฏในจารึกทรายฟอง ก่อสร้างด้วยศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก ประกอบด้วย ปราสาทประธาน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก บรรณาลัยหรือวิหาร ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วที่มีประตูซุ้ม(โคปุระ)เป็นทางเข้า และสระน้ำตั้งอยู่ด้านหน้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

          จากการศึกษาอโรคยศาลในหลาย ๆ แห่ง พบว่า ปราสาทประธานเป็นอาคารที่ประดิษฐานพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภา พระพุทธเจ้าทางการแพทย์ พระโพธิสัตว์พระศรีสูรยไวโรจนจันทโรจิ และพระโพธิสัตว์พระศรีจันทรไวโรจนโรหิณีศะ
          วิหารหรือบรรณาลัย ประดิษฐานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสี่กร ประทับนั่ง พระโพธิสัตว์วัชรปราณี? และพระยมทรงกระบือ และโคปุระ ประดิษฐานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสี่กร ประทับยืน
          จารึกเมืองพิมาย ตามประวัติกล่าวว่าพบบริเวณเมืองพิมาย เมื่อพิจารณาจากเนื้อความในจารึกที่มีข้อความเหมือนกับจารึกที่พบที่อโรคยศาลหลังอื่น ๆ ทำให้เชื่อได้ว่า เป็นจารึกประจำโบราณสถานหลังนี้
          จารึกมีสภาพชำรุด ข้อความที่ปรากฏกล่าวถึง พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงนมัสการพระไภษัชยคุรุไวทูรยะ พระศรีสูรยไวโรจนจันทโรจิ และพระศรีจันทรไวโรจนโรหิณีศะผู้ขจัดโรคภัย ทรงดูแลรักษาประชาชนผู้เจ็บป่วย เจ้าหน้าที่ประจำในสถานพยาบาล สมุนไพรและสิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผลตำลึง กฤษณา ขี้ผึ้ง น้ำผึ้ง การบูร ผักทอดยอด ข้าวสาร ภาชนะดีบุก เป็นต้น
          ประติมากรรมสำคัญที่พบจากการขุดแต่งกุฏิฤษีพิมาย ได้แก่ รูปเคารพประทับนั่งประคองวัชระทั้งสองพระหัตถ์ ซึ่งส่วนพระหัตถ์แตกหักไปแล้ว ลักษณะทางประติมานวิทยาเป็นพระวัชรธร แต่เมื่อพิจารณาจากข้อความที่ปรากฏในจารึกประจำอโรคยศาล และการนับถือพุทธศาสนา นิกายมหายานในกลุ่มประเทศจีน ทิเบต และญี่ปุ่น ทำให้นักวิชาการเชื่อว่า ประติมากรรมรูปนี้ คือ พระไภษัชยคุรุไวทูรยประภา
          ชิ้นส่วนพระหัตถ์ขวาถือพวงลูกประคำ ท่อนพระกรขวาถือดอกบัว ท่อนพระกรซ้ายถือหัตถ์ถือคัมภีร์ คงจะเป็นชิ้นส่วนของพระโพธิสตว์อวโลกิเตศวรสี่กร พบภายในโคปุระ
          กุฏิฤษี เป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองพิมาย เป็นสถานพยาบาลที่เก่าแก่ของชุมชนแห่งนี้ เมื่อราว ๘๐๐ ปีมาแล้ว

------------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นายสมเดช ลีลามโนธรรม นักโบราณคดีชำนาญการ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. จารึกในประเทศไทย เล่ม ๔ อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ภาพพิมพ์ , ๒๕๒๙. กรมศิลปากร. อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย. กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์สมาพันธ์ จำกัด, ๒๕๓๒. ทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์. “การศึกษาร่องรอยของบ้านเมืองโบราณบริเวณใกล้เคียงศาสนสถานประจำ โรงพยาบาลสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ในเขตจังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ และบุรีรัมย์.” วิทยานิพนธ์ ปริญญามหาบัณิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๕ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “ประติมานวิทยาของรูปเคารพในสุคตาลัย ศาสนาสถานประจำอโรคยศาล,” เมือง โบราณ ๔๐, ๓ (กรกฎาคม – กันยายน, ๒๕๕๗). ศิริพันธ์ ตาบเพ็ชร์. รายงานเบื้องต้น ทำเนียบอโรคยศาลในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์, ๒๕๕๕. Bhari, K.M. trans., “Ta Prohm Inscription.” in Ta Prohm A Glorious Era in Angkor Civilization. Bangkok : White Lotus, 2007.

(จำนวนผู้เข้าชม 1447 ครั้ง)

Messenger