ภาพสลักหน้าบันโบราณสถานปราสาทบ้านพลวง จังหวัดสุรินทร์
สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา
โบราณสถานปราสาทบ้านพลวง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านพลวง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทบ้านพลวงเป็นปราสาทก่อด้วยหินทราย ซึ่งเหลือแต่เพียงเรือนธาตุ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบด้วยคูน้ำรูปตัวยู (U) เว้นทางเข้าด้านทิศตะวันออก ถัดไปทางด้านทิศตะวันออก ประมาณ 100 เมตร มีบารายขนาดใหญ่ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของปราสาทบ้านพลวง มีลักษณะคล้ายกับปรางค์น้อย ของปราสาทพนมรุ้ง และปราสาทเขาปลายบัด 1 จังหวัดบุรีรัมย์ จากการกำหนดอายุปราสาทบ้านพลวง กำหนดให้มีอายุอยู่ในช่วง ครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 16 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 17 โดยกำหนดอายุจากรูปแบบศิลปกรรมที่พบ ซึ่งตรงกับศิลปะเขมรแบบบาปวน
ภาพสลักหน้าบัน ด้านทิศตะวันออก ของปราสาทประธาน ซึ่ง สลักภาพเล่าเรื่อง กฤษณาวตาร ตอน พระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ ประทับยืนเหนือหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัย กรอบซุ้มหน้าบันสลักเป็นลำตัวนาค 2 ตัว หันหลังชนกัน โดยเศียรนาคอยู่ที่มุมล่างซ้ายเเละขวา เเละปลายหางนาคอยู่ที่ส่วนยอด
พระกฤษณะ เป็น อวตารที่ 8 ของ พระนารายณ์ ซึ่งรู้จักกันทั่วไปว่า “กฤษณาวตาร” และเป็นบุคคลสำคัญของเรื่อง มหาภารตะ ภาพสลักในตอนนี้ เป็นเหตุการณ์ตอนวัยรุ่น ซึ่งพระกฤษณะพยายามโน้มน้าวให้คนเลี้ยงโค เลิกบวงสรวงบูชาพระอินทร์ เเละให้ไปบูชาภูเขาโควรรธนะแทน ทำให้พระอินทร์โกรธและ บันดาลให้เกิดพายุฝนตกหนักตลอดทั้ง 7 วัน 7 คืน เพื่อเป็นการลงโทษ แต่พระกฤษณะใช้นิ้วยกภูเขาโควรรธนะขึ้น เพื่อกำบังฝูงคนเลี้ยงโคเอาไว้ ตลอด 7 วัน 7 คืน กระทั่งท้ายที่สุด พระอินทร์ยอมพ่ายแพ้ กลุ่มคนเลี้ยงโคก็หันมานับถือเขาโควรรธนะแทนพระอินทร์ในเวลาต่อมา
บริเวณใต้หน้าบัน ยังปรากฏภาพสลักทับหลังพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ซึ่งเป็นเทพประจำทิศตะวันออก โดยองค์ประกอบภาพสลัก ประกอบด้วยพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ อยู่ในซุ้มเรือนแก้ว เหนือหน้ากาล คายท่อนพวงมาลัย มีใบไม้ตั้งขึ้นและตกลง แถวด้านบนสลักเป็นรูปโยคี ฝั่งละ 3 ตน โดยความพิเศษอยู่ที่ช้างเอราวัณ ซึ่งเป็นช้างเศียรเดียว คล้ายกับที่พบ ณ ปราสาทปรางค์กู่ อำเภอปรางค์กู่ ปราสาทตาเล็ง อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
---------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา
---------------------------------------------
(จำนวนผู้เข้าชม 6371 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน