ลายรดน้ำประตูอุโบสถหลังเก่าวัดภาณุรังษี กรุงเทพมหานคร
         วัดภาณุรังษี เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ริมถนนจรัญสนิทวงศ์ ริมคลองบางพลู สันนิษฐานว่าเป็นวัดโบราณมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ “วัดบางพลูใน” ตามชื่อคลองบางพลูที่ไหลผ่านด้านทิศใต้ของวัด เช่นเดียวกันกับ “วัดบางพลูบน”(วัดเทพากร) และ “วัดบางพลูล่าง” (วัดเทพนารี) ที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียง ใน พ.ศ. ๒๔๔๖ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ทรงปฏิสังขรณ์วัดบางพลูใน แล้วเปลี่ยนนามวัดเป็น “วัดภาณุรังษี” (หม่อมเจ้าดำรัศดำรง เทวกุลฯ, ๒๔๗๒ : ๔๐)

          อุโบสถหลังเก่าวัดภาณุรังษี เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ไม่มีการเจาะช่องหน้าต่าง ประตูทางเข้าอยู่ที่ด้านหน้าเพียงด้านเดียว ส่วนด้านหลังมีเพียงช่องแสงรูปกลีบบัว สันนิษฐานว่าเดิมเป็นอุโบสถมหาอุดมาก่อน แล้วเจาะช่องแสงเพิ่มในสมัยหลัง ส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง เครื่องประดับหน้าบันแบบรวยระกา ประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ด้านสกัดหน้ามีหลังคาจั่นหับคลุม หน้าบันเป็นเครื่องก่อตกแต่งด้วยงานปูนปั้นนูนสูงรูปพระมหามงกุฎ น่าเสียดายที่งานประดับตกแต่งเกือบทั้งหมดมิได้เป็นของดั้งเดิม เพราะผ่านการซ่อมแซมหรือทำขึ้นใหม่เสียแล้ว

          อย่างไรก็ตาม อุโบสถหลังเก่าวัดภาณุรังษียังมีงานศิลปกรรมสำคัญและทรงคุณค่าหลงเหลือ เป็นบานประตูลายรดน้ำรูปพระบรมราชสัญลักษณ์และพระสัญลักษณ์ที่สื่อถึงพระราชโอรสและพระราชธิดา ๔ พระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี สันนิษฐานว่าทำขึ้นเมื่อ พ.ศ ๒๔๔๖ ในคราวเดียวกับที่สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ทรงปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้


          พระบรมราชสัญลักษณ์และพระสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนบานประตูอุโบสถหลังเก่า ประกอบด้วย
๑. พระเกี้ยว เป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์(พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)


๒. เทพบุตรทรงรถเทียมม้า เป็นพระสัญลักษณ์ที่สื่อถึงสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจันทรมณฑล (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์) โดยเป็นการเปรียบความหมายของพระนาม “จันทรมณฑล” ที่หมายถึง พระจันทร์(ดวงจันทร์) กับพระจันทร์ (เทพพระเคราะห์) ที่แสดงออกในรูปเทพบุตรทรงรถเทียมม้า


๓. มณีรัตนะ เป็นพระสัญลักษณ์ที่สื่อถึงสมเด็จเจ้าฟ้าชายจาตุรนตรัศมี (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์) เป็นการเปรียบความหมายของพระนาม “จาตุรนตรัศมี” ที่หมายถึง “ผู้มีรัศมีแผ่ไปในทิศทั้ง ๔ คือพระอาทิตย์” (ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๓๙ : ๒๒๖) กับ มณีรัตนะ (หนึ่งในรัตนะ ๗ ประการของพระจักรพรรดิ) มณีรัตนะเป็นแก้วที่เปล่งแสงสว่างจนทำให้เวลากลางคืนสว่างดุจเวลากลางวัน (แสง มนวิทูร, ๒๕๕๘ : ๒๓)


๔. พระอาทิตย์ เป็นพระสัญลักษณ์ที่สื่อถึงสมเด็จเจ้าฟ้าชายภาณุรังษีสว่างวงษ์ (สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช) เป็นการเปรียบความหมายของ พระนาม “ภาณุรังษี” ที่หมายถึง แสงของพระอาทิตย์ กับรูปพระอาทิตย์ครึ่งดวงเปล่งรัศมีเหนือผืนน้ำ

          นอกจากวัดภาณุรังษีแล้ว ยังมีงานสถาปัตยกรรมที่ตกแต่งด้วยพระบรมราชสัญลักษณ์ และพระสัญลักษณ์ในลักษณะเดียวกันนี้ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร แต่จะมีรูปแบบที่แตกต่างไปจากลายรดน้ำบนประตูอุโบสถหลังนี้ โดยผู้เขียนจะนำมาเสนอในโอกาสต่อไป

------------------------------------------------------------
ผู้เขียน : นายณัฐพงศ์ ศิริวัฒนพิเชษฐ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มวิชาการทะเบียนโบราณสถาน กองโบราณคดี
------------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
กองโบราณคดี. รายงานเบื้องต้นการสำรวจวัดภาณุรังษี. กรุงเทพฯ : กลุ่มวิชาการทะเบียนโบราณสถาน, ๒๕๖๐. ดำรัศดำรง เทวกุลฯ, หม่อมเจ้า (รวบรวม). พระประวัติสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศวรเดชฯ. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูหัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อปีมะเส็ง พุทธศักราช ๒๔๗๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๒. แสง มนวิทูร. คัมภีร์ลลิตวิสตระ พระพุทธประวัติฝ่ายมหาน ภาคภาษาไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้งฯ, ๒๕๕๘. อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. เทพฮินดู ผู้พิทักษ์พุทธสถาน. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๑. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ : บริษัท อักษรเจริญทัศน์ อจท.จำกัด, ๒๕๓๙.

(จำนวนผู้เข้าชม 2707 ครั้ง)

Messenger