พระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม มีประภามณฑลหลังพระเศียร

พระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม มีประภามณฑลหลังพระเศียร
สำริด สูง ๒๔.๕ เซนติเมตร ศิลปะทวารวดี
อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ ปี มาแล้ว)
ได้จากเจดีย์หมายเลข ๑๑ เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

           พระพุทธรูปปางแสดงธรรม พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระเนตรเหลือบลงต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์หนา มีขอบพระโอษฐ์เป็นเส้นตรง อมยิ้มเล็กน้อย ขมวดพระเกศาใหญ่ พระรัศมีเป็นรูปกรวย ประทับยืนตรง ครองจีวรห่มคลุม จีวรบางแนบพระวรกาย พระหัตถ์แสดงวิตรรกะมุทรา (ปางแสดงธรรม) ทั้งสองข้าง ขอบจีวรด้านหน้าตกลงจากข้อพระหัตถ์เป็นวงโค้งอยู่เหนือขอบสบง ด้านหลังตกลงเป็นสี่เหลี่ยมมุมมน เบื้องหลังพระเศียรมีประภามณฑลเป็นวงโค้งประดับลวดลายเปลวไฟอยู่โดยรอบ
           พระพุทธรูปศิลปะทวารวดี ซึ่งมีประภามณฑลเป็นวงโค้งล้อมรอบด้วยเปลวไฟเช่นนี้ พบที่เจดีย์หมายเลข ๑๑ เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน ๓ องค์ พระพุทธรูปที่มีประภามณฑลแบบนี้ปรากฏอยู่ในศิลปะอินเดียแบบหลังคุปตะ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓ (ประมาณ ๑,๓๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว) และศิลปะอินเดียแบบปาละ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๗ (ประมาณ ๙๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว) ดังนั้นจึงกำหนดอายุพระพุทธรูปองค์นี้ไว้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว)
           พระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรมทั้งสองพระหัตถ์แสดงถึงพัฒนาการอันเป็นรูปแบบเฉพาะของศิลปะทวารวดี ผสมผสานกับการตกแต่งด้วยประภามณฑลรูปวงโค้งที่ล้อมรอบด้วยลวดลายเปลวไฟ ซึ่งยังคงอิทธิพลของศิลปะอินเดียอันเป็นต้นแบบ ทั้งนี้การทำประภามณฑลเป็นรูปวงโค้งล้อมรอบด้วยลวดลายเปลวไฟนี้ ยังพบในประติมากรรมรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธแบบมหายาน ศิลปะศรีวิชัย ซึ่งเจริญขึ้นบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย อีกด้วย

------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
------------------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. ศิลปะทวารวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๕๒. พนมบุตร จันทรโชติ และคณะ. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง และเรื่องราวสุวรรณภูมิ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๐. สุภัทรดิศ ดิศกุล, ศิลปะในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑๓, กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๐.

(จำนวนผู้เข้าชม 6224 ครั้ง)

Messenger