เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ธรรมาสน์เสาเดียว : การผสมผสานความเชื่อพุทธและผี
ธรรมาสน์ คือ ที่นั่งแสดงธรรมสำหรับพระสงฆ์ ในภาคอีสานสามารถพบเห็นได้ทั้งธรรมาสน์ไม้และธรรมาสน์ปูน ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะธรรมาสน์ไม้อีสาน ที่จำแนกออกได้เป็น ๓ ประเภทหลักๆ ได้แก่
๑) หอธรรมาสน์ ลักษณะเป็นธรรมาสน์ที่มีฐานสูงและมียอดเป็นชั้น
๒) ธรรมาสน์ตั่ง ลักษณะคล้ายเก้าอี้ทรงสี่เหลี่ยม มีพนักพิงด้านหลัง ไม่มีหลังคา
๓) ธรรมาสน์เตียง ลักษณะคล้ายเก้าอี้ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่มีพนักพิง ไม่มีหลังคา
ธรรมาสน์เสาเดียว จัดอยู่ในกลุ่มของหอธรรมาสน์ มีลักษณะเด่น คือ ส่วนฐานของธรรมาสน์จะมี เสาเดียว และมีคันทวยหรือแขนนาง รองรับน้ำหนักจากตัวเรือนธรรมาสน์ลงสู่เสา ส่วนตัวเรือนและส่วนยอดของธรรมาสน์ จะมีความคล้ายคลึงกับหอธรรมาสน์ที่พบได้ทั่วไปในภาคอีสาน เช่น ส่วนตัวเรือนมักนิยมสร้างในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส และได้รับการประดับตกแต่งให้สวยงามด้วยการทาสี เขียนภาพจิตรกรรม ที่ส่วนใหญ่สะท้อนความเชื่อทางพุทธศาสนา วิถีชีวิต และนิทานพื้นบ้าน ผสมผสานงานแกะสลักหรืองานฉลุไม้ โดยนิยมสลักรูปดอกไม้ ใบไม้ และลวดลายตามธรรมชาติ นอกจากความสวยงามแล้ว เจตนาก็เพื่อทำช่องให้อากาศถ่ายเท และเป็นการอำพรางอิริยาบทของพระสงฆ์ขณะนั่งเทศน์บนธรรมาสน์ ตัวเรือนมีทั้งแบบผนังโปร่งและผนังทึบ ส่วนยอดพบทั้งหลังคาทรงจั่ว หลังคาทรงจัตุรมุข (ทรงจั่วซ้อนชั้น) และหลังคาทรงมณฑป (ทรงปราสาท) ซึ่งจำนวนชั้นหลังคาที่ซ้อนก็ขึ้นอยู่กับช่างฝีมือผู้สร้าง ธรรมาสน์เสาเดียวถือเป็นเอกลักษณ์ ทางวัฒนธรรมที่พบเฉพาะในกลุ่มผู้ไท เช่นที่วัดโพธิ์ชัย บ้านหนองห้าง วัดศรีภูขันธ์ บ้านโคกโก่ง วัดหอคำ บ้านคำกั้ง วัดจุมจังเหนือ บ้านจุมจัง วัดบ้านหนองบัวทอง บ้านหนองบัวทอง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และ วัดพิจิตรสังฆาราม อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร
การสร้างธรรมาสน์นอกจากความเชื่อทั่วไปเรื่องบุญกุศลที่ทำให้ผู้สร้างได้รับอานิสงส์ เกิดในชาติหน้าจะพบแต่ความสุขความเจริญ เมื่อตายไปก็ได้เสวยทิพยสมบัติเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้า ชาวผู้ไทยังมี ความเชื่อเกี่ยวกับอานิสงส์ของการสร้างธรรมาสน์เสาเดียว ว่าจะส่งผลให้ในชาตินี้ผู้คนจะให้ความเคารพนับถือ ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับความเชื่อเรื่อง “หลักบ้าน” ที่ในภาคอีสานนิยมตั้งไว้กลางหมู่บ้านเพื่อเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของการยึดเหนียวจิตใจ และทำให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ตามคติความเชื่อเรื่องการนับถือผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ธรรมาสน์เสาเดียวมักสร้างไว้ในหอแจก (ศาลาการเปรียญ) ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับให้คนในชุมชน มารวมตัวเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การฟังเทศน์ในงานบุญเดือนสี่ (บุญผะเหวด หรือ บุญพระเวส) หรือ งานบุญกฐินที่องค์มหากฐินจะถูกตั้งอยู่บนธรรมาสน์ ทำให้ธรรมาสน์กลายเป็นสิ่งที่สื่อถึงการรวมตัวกัน อย่างสงบสุขของคนในชุมชน
จากความเลื่อมใสศรัทธาของชาวผู้ไทที่มีต่อพุทธศาสนา ทำให้เกิดการผสมผสานทางคติความเชื่อเรื่องการนับถือผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษเรื่อง “หลักบ้าน” ผนวกรวมกับคติความเชื่อทาง พุทธศาสนา ก่อให้เกิดสัญลักษณ์ทางคติความเชื่อเรื่องศูนย์รวมจิตใจ ที่คลี่คลายกลายมาเป็น “ธรรมมาสน์ เสาเดียว” สะท้อนให้เห็นถึงการรวมทั้งพุทธและผีเข้าไว้ด้วยกันของชาวผู้ไท
------------------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล: นางสาวศุภภัสสร หิรัญเตียรณกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สํานักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
------------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก
คำพันธ์ ยะปะตัง. ธรรมาสน์เสาเดียว : รูปแบบโครงสร้างและคติความเชื่อของชาวผู้ไท อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิจัยศิลปะและวัฒนธรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ๒๕๕๕. ทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์, “ธรรมาสน์ไม้อีสาน” ใน เอกสารประกอบการนำเสนอผลงานทางวิชาการของ กรมศิลปากร ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ วิจัย วิจักขณ์, วันที่ ๒๒ - ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๒, ณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร, หน้า ๑๗๐ - ๑๗๕.
(จำนวนผู้เข้าชม 1681 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน