จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดเสม็ด
          วัดเสม็ดไม่ปรากฏเด่นชัดว่าสร้างในสมัยใด แต่จากรูปแบบสถาปัตยกรรมของอุโบสถและภาพจิตรกรรมฝาผนัง ทำให้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่๓-๔ อุโบสถของวัดเสม็ดเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา รอบอาคารมีพาไล หน้าบันประดับปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษา ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย มีการเขียนจิตรกรรมฝาผนังทั้ง ๔ ด้าน โดยดำเนินเรื่องแบบทักษิณาวัตร เป็นการดำเนินเรื่องโดยเวียนไปทางขวาอย่างเข็มนาฬิกา โดยเริ่มเรื่องจากห้องภาพทางด้านซ้ายของพระประทาน
          ผนังด้านหน้าพระประธานหรือผนังหุ้มกลองหน้า มีการแบ่งห้องภาพออกเป็น ๒ ส่วน โดยใช้ลายหน้ากระดานเป็นลายประจำยามก้านแย่งเป็นตัวคั่น คือ ๑.ห้องภาพบริเวณผนังเหนือบานประตู มีการสลักรอยพระบาทลงรักปิดทองเป็นรอยลึกลงไปจากระดับผนัง อยู่บริเวณด้านบนกึ่งกลางผนัง ท่ามกลางภาพจิตรกรรมที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความอุตสาหะ พยายามของผู้คนทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะเป็น ภิกษุ ฆราวาส ตลอดจนเหล่าเทวดา บนสวรรค์ที่ต่างก็เดินทางดั้นด้นมาเพื่อนมัสการรอยพระบาท ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ประดิษฐานไว้บนยอดเขาแห่งนี้ โดยการผสมผสานระหว่างประติมากรรมและจิตรกรรมได้อย่างลงตัว ๒.ห้องภาพระหว่างบานประตู เขียนเรื่องวิกขายิตกอสุภ ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องของพระอสุภกรรมฐาน อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปลงและพิจารณาร่างกายของซากศพที่ถูกสัตว์ยื้อแย่งกัดกิน (โดยเป็นห้องภาพที่เรียงต่อจากผนังระหว่างบานหน้าต่างด้านซ้ายของพระประธาน)


ภาพที่ ๑ ผนังเหนือบานประตูด้านหน้าพระประธาน



ภาพที่ ๒ ห้องภาพระหว่างบานประตูด้านหน้าพระประธาน ผนังด้านหลังพระประธานหรือผนังหุ้มกลองหลัง มีการแบ่งห้องภาพเช่นเดียวกับผนังด้านหน้าพระประธาน มีการใช้ลายหน้ากระดานแบ่งคั่น เช่นเดียวกัน โดยผนังด้านบนเขียนเรื่องไตรภูมิ ผนังด้านล่าง ผนังบริเวณฐานชุกชี เขียนเป็นภาพนรก สัตว์เปรต



ภาพที่ ๓ ผนังด้านหลังพระประธานหรือผนังหุ้มกลองหลัง

          ผนังด้านซ้ายและด้านขวาของพระประธาน มีการเขียนและจัดวางภาพ โดยใช้ลายหน้ากระดานคั่น แบ่งภาพจิตรกรรมออกเป็นสองส่วน ในลักษณะเช่นเดียวกันกับผนังด้านหน้าและด้านหลังพระประธาน คือ ภาพจิตรกรรมเหนือบานหน้าต่าง และภาพจิตรกรรมระหว่างบานหน้าต่าง ภาพจิตรกรรมเหนือบานหน้าต่างนั้นเป็นภาพ เทพเทวดา พระภิกษุ นักสิทธิวิทยาธร มาชุมนุมกัน มีลายหน้ากระดานลักษณะเป็นลายประจำยามก้านแย่ง แบ่งออกเป็นชั้นๆ จำนวน ๓ ชั้น และชั้นบนสุดเขียนเส้นสินเทาคั่นเพียงชั้นเดียว และทุกตัวภาพทุกชั้นหันไปทางพระประธาน ประหนึ่งเป็นการแสดงการนมัสการสักการะบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปในแต่ละชั้น ดังนี้
          ชั้นแรก ชั้นเทพชุมนุม เป็นชั้นที่ถัดขึ้นมาจากลายหน้ากระดานที่คั่นระหว่างห้องภาพเหนือบานหน้าต่างและห้องภาพระหว่างบานหน้าต่าง เป็นชั้นที่มีการเขียนตัวภาพ เทวดา ยักษ์ ลิง ครุฑ ลงไปบนพื้นหลังสีน้ำตาล โดยแต่ละตัวภาพ มีทิพยดอกไม้ (ลักษณะของดอกไม้ที่จัดวางเป็นทรงพุ่มก้านยาวคล้ายตาลปัตร) เป็นตัวคั่น
          เหนือลายหน้ากระดานชั้นที่ ๒ และ ๓ ขึ้นไป เป็นภาพพระภิกษุถวายอัญชลี นั่งเรียงเป็นแถวในลักษณะภาพซ้ำอย่างเป็นระเบียบ ในชั้นที่ ๒ นี้ใช้พื้นหลังเป็นสีน้ำเงิน ส่วนชั้นที่ ๓ ใช้พื้นหลังเป็นสีน้ำตาล
          เหนือขึ้นไปจากภิกษุในชั้นที่ ๓ มีการใช้เส้นสินเทาเขียนแบ่งห้องภาพระหว่างชั้นที่ ๓ และ ๔ โดยพื้นที่ของชั้นที่ ๔ นี้เริ่มจากเส้นสินเทาจรดเพดาน เขียนแสดงภาพบรรยากาศของท้องฟ้า และก้อนเมฆ มีนักสิทธิวิทยาธรในมือถือมวลดอกไม้บุปผาชาติ เพื่อนำมานมัสการองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า



ภาพที่ ๔ ภาพจิตรกรรมเหนือบานหน้าต่างผนังด้านซ้ายและด้านขวาของพระประธาน

          ส่วนบริเวณผนังระหว่างบานหน้าต่างทางด้านซ้ายและขวาของพระประธาน เขียนบรรยายเรื่องพระอสุภกรรมฐาน โดยแต่ละห้องจะมีการเขียนภาพการปลง สังขารหรือการพิจารณาซากศพที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นการเขียนภาพบรรยายลักษณะพระภิกษุกำลังปลงและพิจารณาซากศพ โดยความหมายของคำว่าอสุภกรรมฐานแยกออกเป็น ๒ คำคือคำว่า อสุภ แปลว่า ไม่สวย ไม่งาม กรรมฐาน แปลว่า ตั้งอารมณ์ไว้ให้เป็นการเป็นงาน รวมได้ความว่า ตั้งอารมณ์เป็นการงานในอารมณ์ที่เห็นว่าไม่มีอะไรสวยสด งดงาม มีแต่ความสกปรกโสโครก น่าเกลียด อสุภกรรมฐานนี้เป็นเครื่องกำจัดราคะ ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย คลายรัก ยึดถือร่างกาย คลายความหลงรูป หลงสวย หลงงาม หลงได้






ภาพที่ ๕ ผนังระหว่างบานหน้าต่างทางด้านซ้ายและขวาของพระประธาน เขียนบรรยายเรื่องพระอสุภกรรมฐาน


--------------------------------------------------------
ผู้เขียน : นางสาววรรัก นวลวิไลลักษณ์ (นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน) สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี
--------------------------------------------------------

(จำนวนผู้เข้าชม 4614 ครั้ง)

Messenger