เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
จดหมายเหตุว่าด้วยเรื่อง"เส้นทางกาแฟของเมืองจันทบุรี"
คำถามยอดฮิตของเพื่อนและคนที่รู้จักเมื่อยามเจอหน้า ที่เปิดร้านขาย"กาแฟ"ในเมืองจันทบุรี ว่า "มีเรื่องกาแฟบ้างเปล่า เค้าอยากรู้ประวัติกาแฟบ้านเราจัง เผื่อทำเป็นเรื่องราวให้ลูกค้าที่มานั่งดื่มกาแฟได้อ่านกัน" ผู้เขียนเองก็เป็นคนหนึ่งที่หลงไหลในกาแฟ ความสงสัยเช่นกันว่า เส้นทางของกาแฟเมืองจันทบุรีในอดีตเป็นอย่างไร และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี จะมีเอกสารชั้นต้นหรือชั้นรองมารองรับเรื่องนี้บ้างไหม จากการค้นคว้าเอกสารจดหมายเหตุ พบว่าใน พ.ศ.2457 ได้มีการระบุว่า...เมืองจันทบุรี โดยเฉพาะท้องที่อำเภอพลอยแหวน(ภายหลังคืออำเภอท่าใหม่) มีราษฎร"ทำสวนกาแฟ"ได้ผลประโยชน์ ซื้อขายกันมากกว่าที่แห่งอื่น ๆ และเป็นกาแฟที่ดี...แต่ยังไม่มีเอกสารระบุว่าเป็นพันธุ์ใด (ผู้เขียน)
...ราคาซื้อขายกาแฟในช่วงนั้น อยู่ที่ชั่งละ 70 สตางค์
ส่วนเอกสารชั้นรองที่ผู้เขียนได้อ่านเจอ ระบุว่า...จันทบุรีมีการปลูกกาแฟมาก่อนแล้ว จากบันทึก"เล่าเรื่องกรุงสยาม"เขียนโดย มงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์ สังฆนายกคณะมิซซังโรมันคาทอลิกประจำประเทศสยาม ได้กล่าวถึง"กาแฟ"ของเมืองจันทบุรี เมื่อคราวเดินทางมาชายทะเลตะวันออก ใน พ.ศ.2381 (สมัยรัชกาลที่ 3) ว่า...ราษฎรชาวจังหวัดจันทบุรีทั้งหมดแทบจะกล่าวได้ว่าประกอบการกสิกรรมอย่างเดียว... กาแฟ...รับสั่งให้ปลูกโดยพระเจ้าแผ่นดิน และก็ได้รับผลดี ข้าพเจ้าได้ดื่มกาแฟรสดีที่จวนท่านเจ้าเมือง...กาแฟในช่วงนั้น เป็นสินค้าออกของสยามส่งได้ปีละ 12,000 หาบ ราคาซื้อขายหาบละ 16 บาท ... และจากหนังสืออ้างอิงอีกฉบับกล่าวถึง"กาแฟ"ว่า...แต่เมื่อถึง พ.ศ.2469 การเพาะปลูกได้ลดน้อยลง มีปลูกที่สงขลาแห่งเดียว
จนกระทั่ง พ.ศ.2491-2495 กรมกสิกรรม ได้ค้นคว้าทดลองนำกาแฟที่ดีและเหมาะกับดินฟ้าอากาศของประเทศไทยมาปลูก คือพันธุ์โรบัสต้า และพันธุ์อาราบิคา และจัดตั้งสถานีทดลองขึ้นตามจังหวัดที่เคยปลูกกาแฟได้ผลดีมาก่อนแล้ว คือ จันทบุรี ยะลา ตรัง สงขลา และสุราษฎร์ธานี พื้นที่ทดลองปลูกทั้งหมด 1,034 ไร่ และในพ.ศ.2501 มีระบุว่า มีการปลูกกาแฟกันราว 40 จังหวัด และใน พ.ศ.2502 เพิ่มเป็น 50 จังหวัด มีผู้ปลูกถึง 8,826 ราย จำนวนที่ดิน 5,227 ไร่
นอกจากนี้ยังพบหนังสือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี ได้รายงานว่า...ในจังหวัดจันทบุรี(พ.ศ.2522) มีพื้นที่ปลูกกาแฟ (ซึ่งน่าจะเป็นพันธุ์โรบัสต้า เนื่องจากสามารถขึ้นได้ดีในไทย อีกทั้งให้ผลผลิตดีกว่าพันธุ์อื่น : ผู้เขียน) จำนวน 1,700 ไร่ แหล่งผลิตส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอท่าใหม่ ผลผลิตที่ได้ในช่วง พ.ศ.2522-2523 รวม 240-240.9 ตัน มูลค่า 14.5-16.8 ล้านบาท
ส่วนการเลิกปลูกกาแฟของจันทบุรีนั้นผู้เขียนไม่ทราบแน่ชัดว่ามาจากสาเหตุใด แต่ที่อ่านพบว่ามีโรคที่ร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นกับพันธุ์กาแฟคือ "โรครัสท์"เกิดจากเห็ดราจำพวก Rust fungi ชื่อHemileia Vastatrix B.and Br. ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งในหลายสาเหตุที่ทำให้จันทบุรีเลิกปลูกกาแฟกัน
---------------------------------------------------------
ผู้เขียน สุมลฑริกาญจณ์ มายะรังษี นักจดหมายเหตุชำนาญการ
---------------------------------------------------------
อ้างอิง
มงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์. 2549. เล่าเรื่องกรุงสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 3. แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ศรีปัญญา. มหาดไทย, กระทรวง. (2503). คำแนะนำการปลูกกาแฟ. พระนคร : โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น. หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี. (13)มท 2.2.4/16 เอกสารกระทรวงมหาดไทย ชุดมณฑลจันทบุรี เรื่องกระทรวงมหาดไทย สั่งให้จัดทำยานพาหนะต่างๆ ส่งเข้าไปกรุงเทพฯ (11 พฤษภาคม 2457 – 2 มิถุนายน 2462) อุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี, สำนักงาน. (ม.ป.ป.). การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงงานกาแฟผงสำเร็จรูป. ม.ป.ท.
(จำนวนผู้เข้าชม 1782 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน