เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
สิมวัดบ้านซิน สิมลาว การขยายตัวของกลุ่มวัฒนธรรมล้านช้างเข้าสู่พื้นที่วัฒนธรรมอยุธยา-รัตนโกสินทร์ ในโคราช
โบสถ์หรือสิมวัดบ้านซิน ตำบลค้างพลู อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา ตั้งทางด้านทิศตะวันตกของโบสถ์หลังใหม่ เป็นวัดในชุมชนบ้านซิน หมู่ ๒ ลักษณะเป็นโบสถ์หรือสิมที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมล้านช้าง วัดตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของหมู่บ้าน ติดกับลำเชียงไกร วัดบ้านซิน เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตามประวัติการก่อสร้างของวัดระบุว่าสร้างวัดเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๒๓ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๕ ภายในวัดยังเหลืออาคารที่เป็นโบราณสถานคือพระอุโบสถหรือสิมที่ข้อมูลของวัดกล่าวว่าสร้างขึ้นในราว ๓๐๐ ปีมาแล้ว ชาวบ้านได้ร่วมกันบูรณะซ่อมแซมกันเองในราว พ.ศ. ๒๕๑๔
สิมวัดบ้านซิน ลักษณะเป็นสิมโปร่ง (สิมโปร่งเป็นอาคารโปร่งโล่งขนาดกะทัดรัดประกอบด้วยเสาไม้ตั้งอยู่บนฐานยกพื้นรองรับหลังคาไม่มีผนัง ถ้าจะทำผนังก็มักจะทำแต่ด้านที่มีพระประธานและมักสร้างเล็กๆเพื่อให้พระสงฆ์ทำสังฆกรรมเพียงสี่ห้าองค์) เป็นสิมขนาด ๒ ห้อง (สามเสา) หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีขนาดประมาณ ๓ X ๖ เมตร มีชายคาต่อเป็นเพิงอยู่ทางด้านหน้า หลังคาชั้นเดียว สีหน้าหรือหน้าบันตีเป็นแผ่นไม้กระดานทั้งสองด้านไม่มีการตกแต่ง
อาคารมีลักษณะเป็นฐานก่ออิฐ สูงจากพื้นประมาณ ๑.๕๐ เมตร มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประตูทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันออก มีผนังเตี้ยๆสูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตรทั้งสามด้าน ด้านตะวันออกเว้นเป็นช่องทางเข้าตรงกลางประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ด้านข้างทางด้านท้ายอาคาร ทำผนังลาดค่อยๆสูงขึ้นไปจนถึงหัวเสา ผนังอาคารทางด้านหลังพระประธานก่อผนังสูงเต็มจนถึงหัวเสา ด้านท้ายอาคารก่อเป็นฐานพระเป็นแนวยาวตลอดผนังกว้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ตรงกลางก่อเป็นแท่นพระขนาดประมาณ ๑X๑ เมตร แทรกอยู่ ใช้สำหรับตั้งพระประธาน ก่อด้วยอิฐฉาบปูนทาสีตกแต่ง ฐานพระก่อเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายแบบฐานเอวขันแบบเดียวกับฐานอาคาร มีเสาไม้หกต้นอยู่ที่ผนังด้านเหนือและใต้ ด้านละ ๓ ต้นฝังลงไปจนถึงฐานสิม อิฐที่ก่อปิดเสาที่ส่วนฐานหลุดออก หลังคาเป็นหลังคาเครื่องไม้ ชั้นเดียวมุงด้วยแผ่นสังกะสี ไม่มีเครื่องตกแต่งชั้นหลังคา
พื้นที่ดินโดยรอบสิมได้รับการถมปรับขึ้นมาอีกประมาณ ๐.๕๐ เมตร จากระดับพื้นดินเดิม จนฐานเขียงหายไป จึงเริ่มปรากฎชั้นฐานที่ชั้นบัวคว่ำ บริเวณรอบโบสถ์พบแท่นก่ออิฐพังเป็นกองอิฐตั้งอยู่โดยรอบ จำนวน ๘ จุด มีจุดที่ค่อนข้างเห็นได้ชัดเจนอยู่ทางด้านหลังอาคารทำเป็นฐานใบเสมา ตัวใบเสมา ก่อด้ายอิฐฉาบปูนเป็นรูปดอกบัวทรงพุ่ม มีร่องรอยใบเสมาทำจากหินทรายสีแดงปักจมอยู่ที่พื้นด้านหน้าสิม การสำรวจพบว่าสิมมีสภาพชำรุดมาก ฐานสิมที่ก่ออิฐชำรุดจากการแยกบริเวณส่วนเสาทั้ง ๖ ต้น จนถึงบริเวณโคนเสา ส่วนฐานที่อยู่ด้านล่างปูนที่ฉาบไว้หลุดออกเกือบหมด และมีอิฐหลุดออกมา ปรากฏร่องรอยการซ่อมแซมโดยใช้ดินเหนียวผสมกับฟางละเอียดคลุกเคล้ากันมาพอกปิดไว้ และฉาบด้วย ปูนขาว สันนิษฐานว่าน่าจะซ่อมในปี พ.ศ.๒๕๑๔ ซึ่งการซ่อมในส่วนนี้บางส่วนก็พังแล้วเช่นกัน ผนังทางด้านทิศตะวันตกที่ก่อขึ้นมาสูงเสมอเสา ค่อนข้างชำรุดเสียหายมาก มีรอยแตกร้าวเป็นแนวยาว จากฐานจนถึงด้านบนของผนัง โครงสร้างหลังคาค่อนข้างดีอยู่ แต่ชำรุดจากปลวกและการเสื่อมสภาพของไม้ ส่วนประดับหลังคา หักหายไปหมดแล้ว
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ อาคารสถาปัตยกรรมประเภทสิมโปร่ง เป็นสถาปัตยกรรมเฉพาะของวัฒนธรรมแบบล้านช้าง มักพบในพื้นที่ที่เป็นเขตวัฒนธรรมของกลุ่มคนในวัฒนธรรมล้านช้าง เช่นพื้นที่ในจังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น เช่น สิมวัดราษี อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม สิมวัดไตรภูมิ บ้านผือฮี ตำบลดงแดง อำเภอจตุรพักตร์พิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนที่ใช้วัฒนธรรมล้านช้างเข้าสู่ดินแดนจังหวัดนครราชสีมาซึ่งใช้รูปแบบวัฒนธรรมอยุธยา – รัตนโกสินทร์ จากภาคกลาง อย่างน้อยก็ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ เป็นต้นมา จากสภาพของตัวโบราณสถานน่าจะมีอายุประมาณ ๑๕๐ – ๒๐๐ ปีมาแล้ว จากข้อมูลหมู่บ้านแต่เดิมบ้านซินเป็นหมู่บ้านที่มีชาวมอญและชาวลาวอพยพเข้ามาอยู่อาศัย ต่อมามีคนจากภายนอกเข้ามาจึงทำให้รูปแบบวัฒนธรรมดั่งเดิมหายไป ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ
---------------------------------------------------------
ข้อมูลโดย : นายกิตติพงษ์ สนเล็ก นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา
---------------------------------------------------------
(จำนวนผู้เข้าชม 2393 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน