กรมศิลปากรจัดตั้งศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียง เป็นศูนย์รวมโบราณวัตถุและแหล่งศึกษาวัฒนธรรมบ้านเชียง
          วันศุกร์ที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๓๐ น. นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วย รัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม และกรมศิลปากร เยี่ยมชมโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียง และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี








          กรมศิลปากร ได้ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียง (Ban Chiang Archaeological Research Center) ขึ้น เพื่อเป็นสถานที่รวบรวม จัดเก็บโบราณวัตถุในวัฒนธรรมบ้านเชียงและโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ร่วมสมัยวัฒนธรรมบ้านเชียงในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน ซึ่งแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงให้เห็นถึงหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชุมชนเกษตรกรรม และภูมิปัญญาทางด้านโลหกรรมของมนุษย์ เมื่อราว ๔,๓๐๐ ปีที่ผ่านมา และยังมีแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมบ้านเชียงกระจายอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกกว่าร้อยแหล่ง จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๓๕ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ด้วยคุณสมบัติตามเกณฑ์ข้อที่ ๓ “เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือสาบสูญไปแล้ว”










          ทั้งนี้ จากการดำเนินงานทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ - พ.ศ.๒๕๔๖ ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากและมีการศึกษาวิจัยหลักฐานที่พบจากนักวิชาการหลากหลายสาขาวิชา ทำให้องค์ความรู้สมัยก่อนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวัฒนธรรมบ้านเชียงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และใน พ.ศ. ๒๕๖๐ กรมศิลปากรได้รับคืนโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วง พ.ศ. ๒๕๐๓ – พ.ศ. ๒๕๑๗ และโครงกระดูกมนุษย์ที่ได้จากการขุดค้นที่บ้านเชียงโดยกรมศิลปากรร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ใน พ.ศ. ๒๕๑๗ – พ.ศ. ๒๕๑๘ ตลอดจนโบราณวัตถุที่สถาบันวิจัยของต่างประเทศส่งกลับคืนมาอีกหลายรายการ เพื่อนำมาเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง
          ศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียงแห่งนี้ มีการบริหารจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ปลอดภัย และให้บริการทางการศึกษาสำหรับนักวิจัยหรือนักวิชาการ ซึ่งจะช่วยบ่มเพาะและพัฒนานักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถและสามารถนำองค์ความรู้ไปส่งเสริมการพัฒนาประเทศได้ต่อไป โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๘ และได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารระยะแรกใน พ.ศ. ๒๕๖๒ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการในระยะที่ ๒ ซึ่งคาดว่าจะสามารถให้บริการได้ใน พ.ศ. ๒๕๖๖

(จำนวนผู้เข้าชม 1859 ครั้ง)

Messenger