แผ่นดินเผารูปนรสิงห์ พบที่เมืองโบราณอู่ทอง
แผ่นดินเผารูปนรสิงห์ พบที่เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี
แผ่นดินเผาทรงสี่เหลี่ยม มีเสาทรงกลมเป็นกรอบทั้งสองข้าง ตรงกลางมีรูปบุคคลมีศีรษะเป็นสิงห์ หรือ รูปนรสิงห์ มีแผงคอ ตาโปน จมูกใหญ่ แยกเขี้ยวยิงฟัน ส่วนลำตัวเป็นรูปบุคคลอยู่ในท่านั่งชันเข่าบนฐานสี่เหลี่ยม แยกขา มือทั้งสองข้างยกขึ้นระดับศีรษะในลักษณะแบก ไหล่กว้าง เอวคอดเล็ก มีกล้ามเนื้อ ด้านหลังแผ่นดินเผาแบนเรียบ เนื้อดินมีรอยแกลบข้าว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของอิฐในวัฒนธรรมทวารวดี จากรูปแบบศิลปกรรมที่มีลักษณะแบบท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งคลี่คลายจากรูปแบบที่พบในศิลปะอินเดีย จึงกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๕ (ประมาณ ๑,๑๐๐ – ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว)
ประติมากรรมรูปนรสิงห์นี้ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเนื่องในคติเรื่องผู้พิทักษ์และผู้ค้ำจุนศาสนา เช่นเดียวกับประติมากรรมคนแคระแบก ซึ่งพบทั่วไปในเมืองโบราณภายใต้วัฒนธรรมทวารวดี ที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียเช่นเดียวกัน มักทำเป็นรูปบุคคลนั่งชันเข่า แยกขา แสดงท่าแบกโดยมีทั้งแบบที่ยกมือทั้งสองข้างขึ้นแบก และวางมือบนเข่าและใช้ไหล่แบกรับน้ำหนัก ส่วนมากมีศีรษะเป็นคน โดยพบที่มีศีรษะเป็นสัตว์ เช่น สิงห์ ลิง โค ไม่มากนัก นอกจากประติมากรรมลักษณะนี้จะใช้ประดับส่วนฐานของศาสนสถานแล้ว ยังพบว่าช่างทวารวดีใช้ประดับส่วนฐานของธรรมจักร อีกด้วย ประติมากรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่ สร้างขึ้นโดยใช้แม่พิมพ์ขึ้นรูปแล้วนำไปเผา เนื่องจากสามารถผลิตประติมากรรมรูปแบบเดียวกันได้เป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น เพื่อใช้ประดับโดยรอบฐานของศาสนสถาน
นอกจากที่เมืองโบราณอู่ทองแล้ว ยังพบประติมากรรมนรสิงห์ในท่าแบกที่เมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีแห่งอื่น เช่น ปูนปั้นรูปนรสิงห์จากเจดีย์จุลประโทน และรูปนรสิงห์ประดับฐานธรรมจักร พบที่เมืองนครปฐมโบราณ จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ทั้งนี้รูปนรสิงห์ซึ่งพบที่เมืองนครปฐมโบราณ มีความแตกต่างจากรูปนรสิงห์ซึ่งพบที่เมืองโบราณอู่ทอง เนื่องจากรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียเริ่มคลี่คลาย และช่างทวารวดีแต่ละกลุ่ม ได้สร้างประติมากรรมจากความคิดสร้างสรรค์ จนมีเอกลักษณ์เฉพาะของตน
-----------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
-----------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒ วรพงศ์ อภินันทเวช. “ประติมากรรมคนแคระในวัฒนธรรมทวารวดี: รูปแบบและความหมาย”. วิทยานิพนธ์ ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร , ๒๕๕๕.
(จำนวนผู้เข้าชม 863 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน