แผ่นหินจำหลักภาพพระพุทธรูป ในวัฒนธรรมทวารวดี
          แผ่นหินจำหลักชิ้นนี้ เป็นโบราณวัตถุที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี ปรากฏร่องรอยการสลักภาพบนแผ่นหินเป็นภาพพระพุทธรูปอยู่ตรงกลาง เบื้องขวาของพระพุทธรูป สลักเป็นรูปธรรมจักรตั้งอยู่บนเสา เบื้องซ้ายของพระพุทธรูป สลักเป็นรูปสถูป ซึ่งโบราณวัตถุชิ้นนี้ ขุดพบบริเวณเมืองดงคอน (เมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดี) อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท โดยพระชัยนาทมุนี (นวม สุทัตโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร อำเภอเมืองฯ จังหวัดชัยนาท เก็บรวบรวมไว้ และมอบให้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี เก็บรักษาต่อมาจวบจนถึงปัจจุบัน

          แผ่นหินสลักภาพพระพุทธรูป ชิ้นนี้ นับเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นได้ชัดว่า ธรรมจักรในวัฒนธรรมทวารวดีนั้น มีการประดิษฐานไว้บนเสา โบราณวัตถุชิ้นนี้ ยังมีรูปแบบที่พ้องกับพระพิมพ์หินจำหลักที่พบที่โบราณสถานหมายเลข ๑ เมืองโบราณคูบัว อำเภอเมืองฯ จังหวัดราชบุรี คือมีการปรากฏของพระพุทธรูป ธรรมจักรประดิษฐานอยู่บนเสา และสถูป อยู่บนแผ่นหินจำหลัก ด้วยรูปแบบของโบราณวัตถุที่คล้ายคลึงกันนี้อาจแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองดงคอน ในจังหวัดชัยนาท และเมืองคูบัว ในจังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี เฉกเช่นเดียวกัน

--------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี https://www.facebook.com/prfinearts/posts/3687988877935196

--------------------------------------------------------

(จำนวนผู้เข้าชม 1021 ครั้ง)

Messenger