ชื่อวัตถุ เลียงร่อนแร่ ทะเบียน ๒๗/๑๖/๒๕๓๘
อายุสมัย รัตนโกสินทร์ วัสดุ(ชนิด) ไม้ ขนาด กว้าง ๔๐ เซนติเมตร
ประวัติ พบที่ชายหาดกมลา บริเวณหลังภูเขา มอบให้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลางเมื่อ ๑๘ พ.ค. ๒๕๓๘ Mr .Keith Andrew๔๕/๗ ถ.เจ้าฟ้า หมู่ ๙ต.ฉลอง อ.เมืองจ.ภูเก็ต เก็บรักษา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง
          “เลียง” เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับร่อนแร่ ทำด้วยไม้เนื้อเหนียวและมีน้ำหนักเบา ตัวเลียงมีรูปทรงกลมก้นโค้งคล้ายกระทะแต่เลียงมีก้นที่ตื้นกว่า ขนาดของเลียงมีเส้น ผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ ๗๐-๗๖ เซนติเมตร ท้องลึกประมาณ ๗-๘ เซนติเมตร ปัจจุบันยังมีการทำขายอยู่ในราคาใบละ ๘๐๐-๑,๐๐๐บาท เลียง เป็นเครื่องมือในขั้นตอนการแยกแร่ดีบุกออกจากดิน หิน ทราย โดยคนที่จะร่อนแร่ต้องรู้ว่ามีแหล่งแร่อยู่ที่ใดบ้าง ซึ่งแร่ดีบุกนั้นพบได้ตามลำธารต่างๆ หรืออาจเป็นแร่ที่หลุดมาจากเหมืองแร่ขนาดใหญ่ซึ่งเรียกว่า ร่อนแร่ท้ายราง คนร่อนแร่จะต้องคุยหินแร่ กรวด และทรายที่ปะปนกันมาใส่ลงไปในเลียง และนำเลียงลงไปร่อนในน้ำ โดยต้องแยกเอาหินก้อนใหญ่ออกก่อน จากนั้นจึงใช้มือสองข้างจับเลียงแล้วแกว่งหมุนวนในน้ำ การทำดังกล่าวจะทำให้เศษดินหลุดออกไปกับน้ำ ส่วนแร่ดีบุกที่หนักกว่าจะตกลงไปอยู่ที่ก้นเลียง
          “ดีบุก” เป็นแร่ธาตุที่พบมากในบริเวณชายฝั่งอันดามันทั้งในภูเก็ต พังงา และระนอง ได้พบหลักฐานเอกสารในสมัยอยุธยาที่กล่าวว่า ดีบุก เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของภาคใต้ ต่อมาในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ชาวยุโรปสามารถคิดค้นวิธีป้องกันไม่ให้เหล็กเป็นสนิมเร็ว โดยการทำแผ่นเหล็กวิลาดหรือเหล็กอาบดีบุก ทำให้ดีบุกเป็นที่ต้องการของตลาดโลกและส่งผลให้การทำเหมืองแร่ขยายตัวเพิ่มขึ้น
          ในการทำเหมืองรุ่นแรกๆ ใช้แรงงานคน เป็นหลัก มีเครื่องมือต่างๆ เช่น ปุ้งกี๋ จอบ เสียม และมีเครื่องมือที่สำคัญ คือ เลียง โดยจะมีการนำเลียงไปร่อนแร่ตามที่ต่างๆ เช่น แม่น้ำ และท้ายรางส่งแร่ โดยส่วนใหญ่การร่อนหาแร่จะเป็นงานของผู้หญิงเพราะเป็นงานที่ไม่หนักมากนัก ต่างกับงานในเหมืองซึ่งต้องใช้แรงงานชายเป็นหลักเพราะเป็นงานที่หนัก ต่อมาจึงมีการคิดค้นเครื่องจักรเพื่อใช้ในเหมืองแร่โดยเฉพาะ เช่น หัวฉีดแร่ และเตาย่างแร่ เป็นต้น //ในปัจจุบันการใช้เลียงร่อนหาแร่ดีบุกยังคงมีอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก ซึ่งพบในพื้นที่จังหวัดระนอง และพังงา ตามลำธารสายเล็กๆ ซึ่งจะมีคนในหมู่บ้านมาร่อนหาแร่ดีบุกไปขาย โดยใช้เลียงในการร่อนหาแร่ “เลียง” จึงถือเป็นของใช้ที่อยู่คู่กับชาวอันดามันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน











-----------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง
-----------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิงและภาพประกอบ
- กัมพล มณีประพันธ์ และสงบ ส่งเมือง. “เหมืองแร่ในภาคใต้.” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๑๐. กรุงเทพ : อมรินทร์การพิมพ์,๒๕๒๙.
- “การร่อนแร่ โรงเรียนกระบุรีวิทยา” จาก www.youtube .com - www.manager.co.th

(จำนวนผู้เข้าชม 1905 ครั้ง)