พระวิษณุบนคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย
ชายฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งอยู่บนคาบสมุทรมาลายู บริเวณภาคใต้ของประเทศไทย มีลักษณะภูมิประเทศเป็นคาบสมุทร คือเป็นพื้นดินแคบ ๆ ทอดตัวออกไปในแนวเหนือใต้ โดยมีทะเลขนาบทั้งสองฝั่ง ฝั่งตะวันตกคือทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย และฝั่งตะวันออกคือทะเลอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีการค้นพบร่องรอยวิวัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่สมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์ เช่นแหล่งโบราณคดี ถ้ำหลังโรงเรียน จังหวัดกระบี่ ที่สามารถกำหนดอายุได้ถึง ๔๐,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว ( สุรพล นาถะพินธุ ๒๕๕๐ : ๒๔ ) จนเข้าสู่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ด้วยชายฝั่งทะเลอันดามันตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นชัยภูมิสำคัญของเส้นทางสายไหมทางทะเลจึงมีปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นถึงการติดต่อค้าขายกันระหว่างชาติตะวันออกอย่างประเทศจีน กับชาติตะวันตกอย่างประเทศอินเดีย และอาหรับ-เปอร์เชีย มีความเจริญรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๕ – ๑๔ โดยมีข้อสันนิษฐานจากนักประวัติศาสตร์โบราณคดีว่าบริเวณชายฝั่งอันดามันอาจจะเป็นที่ตั้งของเมือง “เกอหลัว/ตักโกลา” ตามที่มีปรากฏในหลักฐานเอกสารโบราณ ( อมราศีสุชาติ ๒๕๕๗ : ๑๑๕ ) จากการเข้ามาติดต่อค้าขายของอินเดีย ทำให้พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เช่นจารึกภาษาทมิฬ อักษรปัลลวะ เทวรูปพระวิษณุ และหลักฐานอื่น ๆ ที่แสดงถึงการเข้ามาของกลุ่มคนที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในไวษณพนิกาย
ไวษณพนิกาย คือนิกายหนึ่งของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีการนับถือพระวิษณุเป็นเทพเจ้าสูงสุด แพร่หลายในอินเดียตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๕ – ๖ เน้นความภักดีด้วยวิธีง่าย ๆ ไม่ผ่านพิธีกรรมบูชายัญ ( จีราวรรณ แสงเพ็ชร์ ๒๕๖๑ : ๗๒) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถพบเทวรูปพระวิษณุได้ตามเมืองท่าสำคัญต่าง ๆ ในประเทศไทยพบหลักฐานเทวรูปรุ่นเก่าพระวิษณุสี่กร ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙ – ๑๐ จากวัดศาลาทึง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ศิลปะอินเดียเก่าก่อนสมัยคุปตะ แต่มีลักษณ์พื้นเมืองเด่นชัดยิ่งกว่าสุนทรียภาพของต้นแบบ เทวรูปพระวิษณุองค์นี้ยังถือเป็นเทวรูปฮินดูรูปแบบศิลปะอินเดียใต้ ที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย ( สันติ เล็กสุขุม ๒๕๕๔ : ๔๖ ) และอาจเก่าถึงช่วงศิลปะมธุราตอนปลาย และศิลปะอมราวดี ซึ่งมีความเจริญในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๗ – ๙ ( จีราวรรณ แสงเพ็ชร์ ๒๕๖๑ : ๗๓ )
จากการศึกษาของ ดร.จิราวรรณ แสงเพ็ชร์ ปี ๒๕๖๑ ในหัวข้อ “พระวิษณุจากหลักฐานโบราณคดีและประวัติศิลปะในประเทศไทย ช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙” สามารถจัดจำแนกความสัมพันธ์ระหว่างพระวิษณุในประเทศไทยกับพระวิษณุในศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกเป็น ๕ รูปแบบด้วยกัน ในส่วนของพระวิษณุที่พบบนฝั่งทะเลอันดามัน สามารถแบ่งได้สองรูปแบบ คือรูปแบบแรกเป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลศิลปะหลังคุปตะสมัยราชวงศ์ปัลลวะ ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๔ ผสมผสานกับลักษณะท้องถิ่น ในรูปแบบนี้พระวิษณุจะสวมกิรีฏมกุฎเรียบไม่มีลาย นุ่งผ้าโธตียาว ไม่คาดเข็มขัดผ้ากฏิสูตร รวมทั้งการจำหลักกล้ามที่เหมือนจริงตามหลักกายวิภาค แสดงให้เห็นถึงความเป็นท้องถิ่นตัวอย่างเช่น พระวิษณุ จากเขาพระเหนอ อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ รูปแบบที่สองเป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลศิลปะสมัยราชวงศ์ปัลลวะตอนปลาย ถึงสมัยต้นของราชวงศ์โจฬะ หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๗ ในรูปแบบนี้พระวิษณุจะสวมกิรีฏมกุฎทรงสูงจำหลักลวดลาย เป็นประติมากรรมนูนสูงขนาดใหญ่ พระหัตถ์ขวาล่างแสดงปางประทานอภัย พระหัตถ์ซ้ายล่างจับที่พระโสณี(สะโพก) ทรงถืออาวุธในพระหัตถ์ขวาบนและซ้ายบน คือจักรและสังข์ นุ่งผ้าโธตียาว คาดกฏิสูตรและเข็มขัด ที่มีการตกแต่งอย่างประณีต ตัวอย่างเช่น พระวิษณุจากเขาพระนารายณ์ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา ปัจจุบัน จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งลักษณะประติมานดังกล่าวเป็นไปตามหลักของคัมภีร์ ศิลปศาสตร์ภาษาสันสกฤตของอินเดียใต้ ได้แก่คัมภีร์อังศุมัทเภทาคม และคัมภีร์สุประเภทาคม ( เชษฐ์ ติงสัญชลี ๒๕๕๙ : ๖๓ ) ซึ่งต่อมาได้มีการผสมผสานกันระหว่างศิลปะแบบอินเดียเหนือ คือศิลปะปาละตอนต้น ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ จนกลายเป็นเอกลักษณะเฉพาะของศิลปะชวาภาคกลาง และอาจเป็นไปได้ที่จะตรงกับประติมากรรมในศิลปะศรีวิชัยทางภาคใต้ของประเทศไทย ( เชษฐ์ ติงสัญชลี ๒๕๕๘ : ๑๘๙ )
พระวิษณุจากเขาพระนารายณ์ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา จึงเป็นพระวิษณุในรูปแบบ ศิลปะอินเดียใต้ ปัลลวะ-โจฬะ ที่ค่อนข้างมีความสำคัญที่พบบนฝั่งทะเลอันดามัน และพบเพียงองค์เดียว ในประเทศไทย ที่อาจบอกเล่าเรื่องราวได้มากกว่าการเข้ามาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในช่วงเวลาดังกล่าว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง จังหวัดภูเก็ต สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๓ ได้จัดให้มีการเสวนา ทางวิชาการเนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทย ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ในหัวข้อ “พระวิษณุกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู บนฝั่งทะเลอันดามัน” โดยมุ่งเน้นให้มีการเสวนาในเรืองหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ประวัติศาสตร์-ศิลปะ ของพระวิษณุช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๗ บนคาบสมุทรมาลายู และฝั่งทะเลอันดามัน เพื่ออธิบายความสำคัญของเมืองท่าโบราณบนฝั่งทะเลอันดามัน รวมไปถึงรูปแบบทางประติมานวิทยาของพระวิษณุ จากเขาพระนารายณ์ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา ตามคัมภีร์ศิลปศาสตร์ภาษาสันสกฤต การรับและส่งต่ออิทธิพลต่อรูปแบบศิลปะอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคติการบูชาพระวิษณุจากอินเดียสู่คาบสมุทรมาลายู เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ บนฝั่งทะเลอันดามัน และคาบสมุทรมาลายูต่อไป
-----------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง
ไวษณพนิกาย คือนิกายหนึ่งของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีการนับถือพระวิษณุเป็นเทพเจ้าสูงสุด แพร่หลายในอินเดียตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๕ – ๖ เน้นความภักดีด้วยวิธีง่าย ๆ ไม่ผ่านพิธีกรรมบูชายัญ ( จีราวรรณ แสงเพ็ชร์ ๒๕๖๑ : ๗๒) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถพบเทวรูปพระวิษณุได้ตามเมืองท่าสำคัญต่าง ๆ ในประเทศไทยพบหลักฐานเทวรูปรุ่นเก่าพระวิษณุสี่กร ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙ – ๑๐ จากวัดศาลาทึง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ศิลปะอินเดียเก่าก่อนสมัยคุปตะ แต่มีลักษณ์พื้นเมืองเด่นชัดยิ่งกว่าสุนทรียภาพของต้นแบบ เทวรูปพระวิษณุองค์นี้ยังถือเป็นเทวรูปฮินดูรูปแบบศิลปะอินเดียใต้ ที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย ( สันติ เล็กสุขุม ๒๕๕๔ : ๔๖ ) และอาจเก่าถึงช่วงศิลปะมธุราตอนปลาย และศิลปะอมราวดี ซึ่งมีความเจริญในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๗ – ๙ ( จีราวรรณ แสงเพ็ชร์ ๒๕๖๑ : ๗๓ )
จากการศึกษาของ ดร.จิราวรรณ แสงเพ็ชร์ ปี ๒๕๖๑ ในหัวข้อ “พระวิษณุจากหลักฐานโบราณคดีและประวัติศิลปะในประเทศไทย ช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙” สามารถจัดจำแนกความสัมพันธ์ระหว่างพระวิษณุในประเทศไทยกับพระวิษณุในศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกเป็น ๕ รูปแบบด้วยกัน ในส่วนของพระวิษณุที่พบบนฝั่งทะเลอันดามัน สามารถแบ่งได้สองรูปแบบ คือรูปแบบแรกเป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลศิลปะหลังคุปตะสมัยราชวงศ์ปัลลวะ ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๔ ผสมผสานกับลักษณะท้องถิ่น ในรูปแบบนี้พระวิษณุจะสวมกิรีฏมกุฎเรียบไม่มีลาย นุ่งผ้าโธตียาว ไม่คาดเข็มขัดผ้ากฏิสูตร รวมทั้งการจำหลักกล้ามที่เหมือนจริงตามหลักกายวิภาค แสดงให้เห็นถึงความเป็นท้องถิ่นตัวอย่างเช่น พระวิษณุ จากเขาพระเหนอ อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ รูปแบบที่สองเป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลศิลปะสมัยราชวงศ์ปัลลวะตอนปลาย ถึงสมัยต้นของราชวงศ์โจฬะ หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๗ ในรูปแบบนี้พระวิษณุจะสวมกิรีฏมกุฎทรงสูงจำหลักลวดลาย เป็นประติมากรรมนูนสูงขนาดใหญ่ พระหัตถ์ขวาล่างแสดงปางประทานอภัย พระหัตถ์ซ้ายล่างจับที่พระโสณี(สะโพก) ทรงถืออาวุธในพระหัตถ์ขวาบนและซ้ายบน คือจักรและสังข์ นุ่งผ้าโธตียาว คาดกฏิสูตรและเข็มขัด ที่มีการตกแต่งอย่างประณีต ตัวอย่างเช่น พระวิษณุจากเขาพระนารายณ์ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา ปัจจุบัน จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งลักษณะประติมานดังกล่าวเป็นไปตามหลักของคัมภีร์ ศิลปศาสตร์ภาษาสันสกฤตของอินเดียใต้ ได้แก่คัมภีร์อังศุมัทเภทาคม และคัมภีร์สุประเภทาคม ( เชษฐ์ ติงสัญชลี ๒๕๕๙ : ๖๓ ) ซึ่งต่อมาได้มีการผสมผสานกันระหว่างศิลปะแบบอินเดียเหนือ คือศิลปะปาละตอนต้น ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ จนกลายเป็นเอกลักษณะเฉพาะของศิลปะชวาภาคกลาง และอาจเป็นไปได้ที่จะตรงกับประติมากรรมในศิลปะศรีวิชัยทางภาคใต้ของประเทศไทย ( เชษฐ์ ติงสัญชลี ๒๕๕๘ : ๑๘๙ )
พระวิษณุจากเขาพระนารายณ์ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา จึงเป็นพระวิษณุในรูปแบบ ศิลปะอินเดียใต้ ปัลลวะ-โจฬะ ที่ค่อนข้างมีความสำคัญที่พบบนฝั่งทะเลอันดามัน และพบเพียงองค์เดียว ในประเทศไทย ที่อาจบอกเล่าเรื่องราวได้มากกว่าการเข้ามาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในช่วงเวลาดังกล่าว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง จังหวัดภูเก็ต สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๓ ได้จัดให้มีการเสวนา ทางวิชาการเนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทย ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ในหัวข้อ “พระวิษณุกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู บนฝั่งทะเลอันดามัน” โดยมุ่งเน้นให้มีการเสวนาในเรืองหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ประวัติศาสตร์-ศิลปะ ของพระวิษณุช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๗ บนคาบสมุทรมาลายู และฝั่งทะเลอันดามัน เพื่ออธิบายความสำคัญของเมืองท่าโบราณบนฝั่งทะเลอันดามัน รวมไปถึงรูปแบบทางประติมานวิทยาของพระวิษณุ จากเขาพระนารายณ์ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา ตามคัมภีร์ศิลปศาสตร์ภาษาสันสกฤต การรับและส่งต่ออิทธิพลต่อรูปแบบศิลปะอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคติการบูชาพระวิษณุจากอินเดียสู่คาบสมุทรมาลายู เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ บนฝั่งทะเลอันดามัน และคาบสมุทรมาลายูต่อไป
-----------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง
(จำนวนผู้เข้าชม 9313 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน