เสี่ยหนา เครื่องใช้ที่สำคัญของชาวจีนฮกเกี้ยนในจังหวัดภูเก็ต
           “เสี่ยหนา” เสี่ยหนา คือ ปิ่นโตหรือตะกร้าซึ่งเป็นเครื่องใช้ของชาวจีน คำว่า “เสี่ยหนา” เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน แปลว่า “มงคล” เสี่ยหนาจึงเป็นของใช้ในงานพิธีมงคลต่างๆ อาทิ งานแต่งงาน เสี่ยหนาของชาวจีนฮกเกี้ยนมีเอกลักษณ์ คือ ทำจากไม้ไผ่สานลงรักสีดำ แดง และปิดทอง รูปทรงของเสี่ยหนามี ๒ รูปทรง คือ ทรงกระบอกส่วนฐานและฝาแบนเรียบ และทรงรีส่วนฐานและฝาโค้ง บนตัวของเสี่ยหนาจะมีการตกแต่งด้วยลวดลายต่างๆ อาทิ เทพจีน สัตว์ ดอกไม้ และต้นไม้ เป็นต้น ขนาดของเสี่ยหนามีหลายขนาดขึ้นอยู่กับจำนวนชั้นพบมี ๑ ชั้น ๓ ชั้น และ ๗ ชั้น สำหรับเสี่ยหนาซึ่งเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง เป็นปิ่นโต ๓ ชั้น พร้อมฝาสานด้วยไม้ไผ่ ชั้นบนสุดเป็นลายโปร่งมีลายสีทองรูปดอกไม้และนก ที่ด้ามจับมีห่วงโลหะไว้สำหรับใส่คาน
          “เสี่ยหนา” เป็นของใช้ที่สำคัญในพิธีแต่งงานของชาวจีนฮกเกี้ยน โดยถูกใช้ในขั้นตอนการหมั้นซึ่งญาติฝ่ายเจ้าบ่าวจะนำของหมั้น อาทิ แหวน และขนมมงคลต่างๆ ใส่ลงในเสี่ยหนาและมอบให้ญาติฝ่ายเจ้าสาว ซึ่งในจังหวัดภูเก็ตนั้นมีชาวจีนฮกเกี้ยนอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ชาวจีนเหล่านี้ได้เข้ามาแต่งงานกับคนพื้นเมืองและได้นำ “เสี่ยหนา” เข้ามาใช้ในพิธีหมั้นด้วย ในปัจจุบันชาวภูเก็ตได้ประยุกต์การงานเสี่ยหนา โดยนำเสี่ยหนาที่มีขนาดเล็กมาใช้แทนกระเป๋าถือเมื่อสวมใส่ชุดพื้นเมืองหรือที่เรียกว่า “ชุดยาย๋า” “เสี่ยหนา” ถือเป็นเครื่องใช้ที่สำคัญของชาวจีนฮกเกี้ยนในจังหวัดภูเก็ต จึงถือเป็นศิลปวัตถุที่แสดงให้เห็นถึงประเพณีของชาวจีนในภูเก็ตได้เป็นอย่างดี








----------------------------------------------------
จัดทำข้อมูลโดย : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง
----------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง - ฤดี ภูมิภูถาวร. วิวาห์บาบ๋า. ภูเก็ต : บริษัท เวิลด์ออฟเซ็ทพริ้นติ้ง จำกัด, ๒๕๕๓.

(จำนวนผู้เข้าชม 1017 ครั้ง)