พัฒนาการทางวัฒนธรรมของเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง
เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง (ตอนที่ ๓) พัฒนาการทางวัฒนธรรมของเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง

          ๑) ความเป็นมาก่อนพัฒนาการสู่ความเป็นเมืองทวารวดี จากการขุดค้นเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๔ ทำให้ทราบว่าพื้นที่บริเวณเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง แรกเริ่มมีคนสมัยโบราณเข้ามาอยู่อาศัยและทำกิจกรรมต่างๆ เมื่อประมาณ ๒,๒๐๐ - ๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว (ราวพุทธศตวรรษที่ ๓ - ๗) โดยปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยเฉพาะบริเวณโนนเมืองเก่า ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือภายในเมืองโบราณฟ้าแดดสงยางเท่านั้น ลักษณะเป็นชุมชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ก่อนที่จะมีการสร้างคูน้ำคันดินล้อมรอบ จากการขุดค้นในหลุมขุดค้นที่ ๑ - ๓ (FD 1 FD 2 และ FD 3) พบหลักฐานการทำศพครั้งที่ ๑ แบบฝังนอนหงายเหยียดยาว ร่วมกับเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินเขียนสีแดงบนพื้นสีขาวนวล ซึ่งเป็นรูปแบบภาชนะประเภทเด่นของวัฒนธรรมบ้านเชียง (สมัยสุดท้าย) กำหนดอายุราว ๒,๓๐๐ - ๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว จึงสันนิษฐานว่า ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ ที่เมืองฟ้าแดดสงยางแห่งนี้ น่าจะมีความสัมพันธ์กับชุมชนโบราณในวัฒนธรรมบ้านเชียง
          ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๗ เป็นต้นมา (ตั้งแต่ ๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว) พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่สูงขึ้นของชุมชนโบราณแห่งนี้ ได้แก่ การรู้จักผลิตภาชนะดินเผาจากเตาเผา ประเภทระบายความร้อนในแนวระนาบ (cross – draft kiln) โดยใช้ไม้ไผ่สานเป็นโครงของเตาก่อนใช้ดินพอกทับเป็นผนังเตา นอกจากนี้ยังพบหลักฐานการถลุงเหล็ก โดยการพบตะกรันเหล็ก และท่อดินเผาที่มีคราบของตะกรันเหล็กติดอยู่ ในช่วงเวลานี้พิธีกรรมการฝังศพจะนิยมบรรจุศพลงในภาชนะดินเผา (jar burials)
          ๒) พัฒนาการเมืองทวารวดี เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา (ประมาณ ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว) เป็นช่วงที่เมืองฟ้าแดดสงยางมีความเจริญรุ่งเรืองมากที่สุด มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่สำคัญ โดยเฉพาะการพบหลักฐานการนับถือพุทธศาสนา มีการสร้างศาสนสถาน ตลอดจนประติมากรรมรูปเคารพ และ ใบเสมาขึ้นมากมาย ขณะเดียวกันพิธีกรรมการฝังศพที่เคยปฏิบัติกันมาในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ก็ยังคงมีปรากฏให้เห็นอยู่
          ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖ (๑,๓๐๐ - ๙๐๐ ปีมาแล้ว) เกิดการสร้างเมืองขึ้นอย่างเป็นระบบ มีการขุดคูน้ำคันดินทำให้เมืองโบราณฟ้าแดดสงยางมีผังคล้ายรูปใบเสมาดังที่เห็นได้ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมเกิดขึ้นจากการแพร่หลายเข้ามาของวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งเชื่อกันว่า มีศูนย์กลางความเจริญอยู่ที่ภาคกลางของประเทศไทย หลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชุมชนโบราณในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือ พระพิมพ์ที่พบจากการขุดแต่งโบราณสถานภายในเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง ที่มีลายพิมพ์เหมือนกับพระพิมพ์ที่พบจากเมืองโบราณนครปฐม และยังเป็นพิมพ์ที่แพร่หลายอยู่ในลุ่มแม่น้ำมูล ที่บ้านโตนด อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา นอกจากพระพิมพ์แล้ว เครื่องใช้ประเภทต่างๆ โดยเฉพาะภาชนะดินเผาที่เป็นแบบนิยม ในวัฒนธรรมทวารวดีลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีปรากฏที่เมืองโบราณแห่งนี้ด้วย เช่น หม้อน้ำมีพวย (กาน้ำ) ตะคัน และ หม้อมีสัน เป็นต้น
          ๓) พัฒนาการหลังเมืองทวารวดี ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘ (ประมาณ ๘๐๐ - ๗๐๐ ปีมาแล้ว ตรงกับสมัยนครวัด – บายน ของประวัติศาสตร์แห่งอาณาจักรกัมพูชาโบราณ) เมืองฟ้าแดดสงยางได้เริ่มปรากฏร่องรอยหลักฐานของวัฒนธรรมเขมรโบราณขึ้น จากการขุดค้นบริเวณโนนเมืองเก่า โนนวัดสูง และโนนฟ้าแดด ได้พบชั้นกิจกรรมการอยู่อาศัย และการก่อสร้างศาสนสถาน โดยเฉพาะการค้นพบกระเบื้องมุงหลังคา และเครื่องเคลือบ ซึ่งสันนิษฐานว่าผลิตจากเตาเผาในจังหวัดบุรีรัมย์ (แหล่งเตาบ้านกรวด) วัฒนธรรมเขมรโบราณที่แพร่เข้ามาได้ปรับเปลี่ยนแบบแผนการใช้ภาชนะจากภาชนะเนื้อดินธรรมดาในสมัยทวารวดีมาเป็นเครื่องเคลือบที่มีคุณภาพดีกว่า และได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการน้ำของเมืองโบราณแห่งนี้ โดยการสร้างบารายเพิ่มเติมจากระบบการจัดการน้ำในสมัยก่อนหน้าที่มีเฉพาะแค่คูน้ำคันดิน โดยสร้างบารายขนาดใหญ่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ของเมืองฟ้าแดดสงยาง (ปัจจุบันเป็นที่นา) นอกจากนี้รูปแบบการปลงศพภายในชุมชนได้เปลี่ยนความนิยมไป กลายเป็นนิยมเผาก่อนแล้วจึงเก็บอัฐิใส่โกศดินเผาไปฝังไว้ใต้ศาสนสถาน ดังหลักฐานที่ปรากฏในหลุมขุดค้นบริเวณโนนฟ้าแดด
          ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๓ (ประมาณ ๖๐๐ - ๒๐๐ ปีมาแล้ว) เมืองฟ้าแดดสงยาง ยังพบหลักฐานการอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น และจากการขุดค้นที่เมืองฟ้าแดดสงยางบริเวณโนนเมืองเก่า และโนนวัดสูง ได้พบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยพื้นเมืองและเครื่องถ้วยจีนที่กำหนดอายุอยู่ในสมัยอยุธยา ร่วมสมัยกับวัฒนธรรมล้านช้าง (ลาว) และจากการขุดแต่งโบราณสถาน ทำให้ทราบว่ามีการสร้างศาสนสถานแบบอยุธยาซ้อนทับฐานศาสนสถานแบบทวารวดีเกือบทุกแห่ง โดยเฉพาะฐานล่างของพระธาตุยาคูที่ปรากฏร่องรอยให้เห็นอย่างเด่นชัดในปัจจุบัน







---------------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นางสาวศุภภัสสร หิรัญเตียรณกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สํานักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
---------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก
จังหวัดกาฬสินธุ์. แผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองฟ้าแดดสงยาง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๔. ผาสุข อินทราวุธ และคณะ. รายงานการขุดค้นเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์. ม.ป.ท. : ม.ป.ป., ๒๕๓๔. (เอกสารอัดสำเนา) หวัน แจ่มวิมล. รายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณสถาน โบราณวัตถุ เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง บ้านเสมา ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์. กรมศิลปากร : หน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่น, ๒๕๑๑. (เอกสารอัดสำเนา)

(จำนวนผู้เข้าชม 2434 ครั้ง)

Messenger