ประติมากรรมปูนปั้นรูปบุรุษ
ประติมากรรมปูนปั้นรูปบุรุษ พบที่เจดีย์หมายเลข ๓ เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ประติมากรรมปูนปั้นรูปบุรุษ ยืนเอียงสะโพก เกล้าผมเป็นมวยสูงที่เรียกว่าทรงชฎามกุฎ ไม่มีรายละเอียดของเครื่องประดับศีรษะ แต่ปรากฏผ้าหรือสายรัดที่โคนมวยผม ใบหน้าค่อนข้างเหลี่ยม คิ้วต่อกันเป็นปีกกา ตาเหลือบมองลงต่ำ จมูกโด่ง ริมฝีปากได้รูป แสดงอาการอมยิ้มเล็กน้อย ใบหน้าแสดงความรู้สึกถึงความมีเมตตา เป็นประติมากรรมที่ถูกปั้นด้วยฝีมือช่างชั้นเยี่ยม ทั้งนี้ไม่ปรากฏรายละเอียดของเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ ลักษณะการยืนแบบเอียงตนของประติมากรรมชิ้นนี้ แสดงถึงอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบคุปตะ แต่เนื่องจากใบหน้าแสดงถึงงานฝีมือช่างที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะทวารวดีแล้ว จึงกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว)
ประติมากรรมปูนปั้นชิ้นนี้ ไม่มีลักษณะทางประติมานวิทยาของรูปเคารพพระโพธิสัตว์ เช่น รูปพระอมิตาภะหรือสถูปจำลองบนมวยผม อาจเกิดจากมวยผมส่วนบนหักหายไปก็เป็นได้ แต่มีลักษณะที่โดดเด่นคือ ช่างได้ถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกถึงความมีเมตตา ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่พระโพธิสัตว์ทรงมีต่อมวลมนุษย์ ประกอบกับท่ายืนแบบเอียงตน ชวนให้นึกถึงประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์ ที่พบจากมืองโบราณสมัยทวารวดีอื่น ๆ ในภาคกลางของประเทศไทย เช่น พระโพธิสัตว์ดินเผา พบที่เจดีย์หมายเลข ๔๐ เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน งานประติมากรรมปูนปั้นถือเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับศิลปกรรมสมัยทวารวดี แสดงให้เห็นถึงวิธี และรสนิยมในการตกแต่งศาสนสถาน ที่มีความหลากหลาย ทั้งประติมากรรมรูปเคารพ เช่น พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ เทวดา หรือลวดลายประดับต่าง ๆ ชวนให้จินตนาการว่าเมื่อครั้งที่ศาสนสถานเหล่านี้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ จะเปี่ยมไปด้วยความสวยงาม และแสดงถึงความศรัทธาของช่างในสมัยทวารวดีมากเพียงใด
-------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
-------------------------------------------------
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. ศิลปะทวารวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๕๒. สมศักดิ์ รัตนกุล. โบราณคดีเมืองคูบัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๕.
ประติมากรรมปูนปั้นรูปบุรุษ ยืนเอียงสะโพก เกล้าผมเป็นมวยสูงที่เรียกว่าทรงชฎามกุฎ ไม่มีรายละเอียดของเครื่องประดับศีรษะ แต่ปรากฏผ้าหรือสายรัดที่โคนมวยผม ใบหน้าค่อนข้างเหลี่ยม คิ้วต่อกันเป็นปีกกา ตาเหลือบมองลงต่ำ จมูกโด่ง ริมฝีปากได้รูป แสดงอาการอมยิ้มเล็กน้อย ใบหน้าแสดงความรู้สึกถึงความมีเมตตา เป็นประติมากรรมที่ถูกปั้นด้วยฝีมือช่างชั้นเยี่ยม ทั้งนี้ไม่ปรากฏรายละเอียดของเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ ลักษณะการยืนแบบเอียงตนของประติมากรรมชิ้นนี้ แสดงถึงอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบคุปตะ แต่เนื่องจากใบหน้าแสดงถึงงานฝีมือช่างที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะทวารวดีแล้ว จึงกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว)
ประติมากรรมปูนปั้นชิ้นนี้ ไม่มีลักษณะทางประติมานวิทยาของรูปเคารพพระโพธิสัตว์ เช่น รูปพระอมิตาภะหรือสถูปจำลองบนมวยผม อาจเกิดจากมวยผมส่วนบนหักหายไปก็เป็นได้ แต่มีลักษณะที่โดดเด่นคือ ช่างได้ถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกถึงความมีเมตตา ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่พระโพธิสัตว์ทรงมีต่อมวลมนุษย์ ประกอบกับท่ายืนแบบเอียงตน ชวนให้นึกถึงประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์ ที่พบจากมืองโบราณสมัยทวารวดีอื่น ๆ ในภาคกลางของประเทศไทย เช่น พระโพธิสัตว์ดินเผา พบที่เจดีย์หมายเลข ๔๐ เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน งานประติมากรรมปูนปั้นถือเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับศิลปกรรมสมัยทวารวดี แสดงให้เห็นถึงวิธี และรสนิยมในการตกแต่งศาสนสถาน ที่มีความหลากหลาย ทั้งประติมากรรมรูปเคารพ เช่น พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ เทวดา หรือลวดลายประดับต่าง ๆ ชวนให้จินตนาการว่าเมื่อครั้งที่ศาสนสถานเหล่านี้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ จะเปี่ยมไปด้วยความสวยงาม และแสดงถึงความศรัทธาของช่างในสมัยทวารวดีมากเพียงใด
-------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
-------------------------------------------------
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. ศิลปะทวารวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๕๒. สมศักดิ์ รัตนกุล. โบราณคดีเมืองคูบัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๕.
(จำนวนผู้เข้าชม 4955 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน