พระพุทธรูปปางแสดงธรรม ศิลปะทวารวดี ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
พระพุทธรูปปางแสดงธรรม พบที่วัดราชเดชะ(ร้าง) พระครูประภัศร์ธรรมาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระลอย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรีมอบให้ จัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ลำพระองค์พระพุทธรูป สลักจากหิน ส่วนพระเศียรหักหายไป สูงประมาณ ๑๘๘ เซนติเมตร พระพุทธรูปครองจีวรห่มคลุม จีวรเรียบ เห็นขอบสบงบริเวณบั้นพระองค์ ขอบสบงยาวถึงข้อพระบาทมีริ้วด้านข้าง ส่วนปลายจีวรเป็นลายเขี้ยวตะขาบ ปรากฏจีวรพาดผ่านพระกรทั้งสองข้าง แล้วทิ้งชายลงเป็นวงโค้งเบื้องหน้า พระกรทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ มีรูสำหรับเสียบเดือยต่อกับข้อพระกรและพระหัตถ์ที่สลักหินแยกชิ้น ซึ่งปัจจุบันได้หักหายไป สันนิษฐานว่าพระหัตถ์ที่หักหายไปทั้งสองข้างนั้นน่าจะแสดงวิตรรกะมุทรา (ปางแสดงธรรม) โดยการจีบพระอังคุฐ (นิ้วหัวแม่มือ) กับพระดัชนี (นิ้วชี้) เข้าหากัน เทคนิคการสลักแยกส่วนพระหัตถ์ออกจากพระวรกายเช่นนี้ พบในพระพุทธรูปปางแสดงธรรมขนาดใหญ่ที่สลักจากหินในวัฒนธรรมทวารดี
พระพุทธรูปองค์นี้ หากสมบูรณ์ น่าจะมีรูปแบบศิลปกรรมคล้ายคลึงกันกับพระพุทธรูปปางแสดงธรรม สลักจากหิน ที่พบจากเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีอื่น ๆ เช่น พระพุทธรูปปางแสดงธรรมพบที่เมืองนครปฐมโบราณ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ พระพุทธรูปปางแสดงธรรมพบที่จังหวัดลพบุรี จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ นอกจากนั้นยังมีการค้นพบชิ้นส่วนพระเศียร พระหัตถ์ และพระบาทพร้อมฐานพระพุทธรูปสลักจากหิน จากการขุดแต่งเจดีย์หมายเลข ๑๓ เมืองโบราณอู่ทอง ซึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นพระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม เช่นเดียวกัน
สุนทรียภาพโดยรวม และรูปแบบศิลปกรรมของพระพุทธรูปองค์นี้ ได้แก่ การครองจีวรห่มคลุม จีวรเรียบบางแนบพระวรกาย ยังคงแสดงถึงอิทธิพลของศิลปะอินเดียแบบคุปตะและหลังคุปตะ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๓ แต่การปรับเปลี่ยนการยืนในท่าตริภังค์ (ยืนเอียงสะโพก) และแสดงมุทรา (ปาง) ด้วยพระหัตถ์ขวา แบบศิลปะอินเดีย มาเป็นยืนในท่าสมภังค์ (ยืนตรง) และแสดงวิตรรกะมุทราสองพระหัตถ์ (ปางแสดงธรรม) น่าจะเกิดขึ้นในช่วงที่งานศิลปกรรมสมัยทวารวดีมีพัฒนาการจากศิลปะอินเดียซึ่งเป็นต้นแบบ จนมีเอกลักษณ์ของตนเองอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการแสดงวิตรรกะมุทรา (ปางแสดงธรรม) สองพระหัตถ์ ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมทวารวดี จึงอาจกำหนดอายุพระพุทธรูปองค์นี้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว)
พระพุทธรูปองค์นี้แม้จะมีสภาพไม่สมบูรณ์ แต่ถือเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของรูปแบบศิลปกรรมที่รับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดีย และมีการพัฒนาจากต้นแบบจนกระทั่งมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงเทคนิคเชิงช่างในการสร้างพระพุทธรูปปางแสดงธรรมขนาดใหญ่ที่สลักจากหินในวัฒนธรรมทวารวดีด้วย
--------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง https://www.facebook.com/Uthongmuseum/posts/1464498020414612
--------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒ สุภัทรดิศ ดิศกุล, ศิลปะในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑๓, กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๐.
พระพุทธรูปองค์นี้ หากสมบูรณ์ น่าจะมีรูปแบบศิลปกรรมคล้ายคลึงกันกับพระพุทธรูปปางแสดงธรรม สลักจากหิน ที่พบจากเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีอื่น ๆ เช่น พระพุทธรูปปางแสดงธรรมพบที่เมืองนครปฐมโบราณ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ พระพุทธรูปปางแสดงธรรมพบที่จังหวัดลพบุรี จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ นอกจากนั้นยังมีการค้นพบชิ้นส่วนพระเศียร พระหัตถ์ และพระบาทพร้อมฐานพระพุทธรูปสลักจากหิน จากการขุดแต่งเจดีย์หมายเลข ๑๓ เมืองโบราณอู่ทอง ซึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นพระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม เช่นเดียวกัน
สุนทรียภาพโดยรวม และรูปแบบศิลปกรรมของพระพุทธรูปองค์นี้ ได้แก่ การครองจีวรห่มคลุม จีวรเรียบบางแนบพระวรกาย ยังคงแสดงถึงอิทธิพลของศิลปะอินเดียแบบคุปตะและหลังคุปตะ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๓ แต่การปรับเปลี่ยนการยืนในท่าตริภังค์ (ยืนเอียงสะโพก) และแสดงมุทรา (ปาง) ด้วยพระหัตถ์ขวา แบบศิลปะอินเดีย มาเป็นยืนในท่าสมภังค์ (ยืนตรง) และแสดงวิตรรกะมุทราสองพระหัตถ์ (ปางแสดงธรรม) น่าจะเกิดขึ้นในช่วงที่งานศิลปกรรมสมัยทวารวดีมีพัฒนาการจากศิลปะอินเดียซึ่งเป็นต้นแบบ จนมีเอกลักษณ์ของตนเองอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการแสดงวิตรรกะมุทรา (ปางแสดงธรรม) สองพระหัตถ์ ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมทวารวดี จึงอาจกำหนดอายุพระพุทธรูปองค์นี้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว)
พระพุทธรูปองค์นี้แม้จะมีสภาพไม่สมบูรณ์ แต่ถือเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของรูปแบบศิลปกรรมที่รับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดีย และมีการพัฒนาจากต้นแบบจนกระทั่งมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงเทคนิคเชิงช่างในการสร้างพระพุทธรูปปางแสดงธรรมขนาดใหญ่ที่สลักจากหินในวัฒนธรรมทวารวดีด้วย
--------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง https://www.facebook.com/Uthongmuseum/posts/1464498020414612
--------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒ สุภัทรดิศ ดิศกุล, ศิลปะในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑๓, กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๐.
(จำนวนผู้เข้าชม 1376 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน