หลักฐานไวษณพนิกายที่พบในฝั่งอ่าวไทย : พระวิษณุ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑

หลักฐานศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในภาคใต้ของประเทศไทย ตอนที่ ๑๒ หลักฐานไวษณพนิกายที่พบในฝั่งอ่าวไทย : พระวิษณุ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑


          ๑. พระวิษณุ วัดศาลาทึง ถือเป็นประติมากรรมพระวิษณุที่เก่าที่สุดในประเทศไทย และอาจเป็นประติมากรรมพระวิษณุที่เก่าที่สุดในเอเชียอาคเนย์ วัสดุ หิน อายุ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ศิลปะ อินเดีย พบที่ วัดศาลาทึง จังหวัดสุราษฏร์ธานี ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
          - ลักษณะ : เป็นประติมากรรมยืนตรงแบบสมภังค์ ทรงกิรีฏมกุฎแบบหมวกทรงกระบอกสูงสลักลวดลายพรรณพฤกษา ทรงกุณฑลขนาดใหญ่ กรองศอ พาหุรัด และทองพระกร พระหัตถ์ขวาหน้าแสดงอภยมุทรา พระหัตถ์ซ้ายหน้าทรงสังข์ที่พระโสณี พระหัตถ์ขวาหลังทรงคทา พระหัตถ์ซ้ายหลังหักหาย สันนิษฐานว่าพระหัตถ์ซ้ายที่หักหายน่าจะทรงจักร ก้อนดิน หรือดอกบัว ทรงโธตียาวเป็นริ้ว คาดผ้ากฏิสูตรรูปวงโค้งขมวดปมไว้ที่พระโสณีทั้งสองข้าง และคาดทับด้วยผ้าพันรอบพระโสณีแบบตรง

           - วัดศาลาทึง (วัดชยาราม) ตั้งอยู่ที่ ต.ตลาด อ.ไชยา จ.สุราษฏร์ธานี เล่ากันว่าทางทิศตะวันออกของพระอุโบสถมีวิหารพราหมณ์ ชาวบ้านเรียกว่า “ในรายณ์” มาจากนามพระนารายณ์หรือพระวิษณุที่พบที่นี่ วัดศาลาทึง พบประติมากรรมในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (พระวิษณุ) ลัทธิเสาระ (พระสุริยะ) และศาสนาพุทธ (พระโพธิสัตว์อวโลติเตศวร)

           ๒. พระวิษณุ หอพระนารายณ์ วัสดุ หิน อายุ ประมาณครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ศิลปะ อินเดีย พบที่ หอพระนารายณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
           - ลักษณะ : เป็นประติมากรรมยืนตรงแบบสมภังค์ ทรงกิรีฏมกุฎ มีศิรจักรอยู่ด้านหลังของพระเศียร พระหัตถ์ขวาหน้าหักหายสันนิษฐานว่าทรงถือดอกบัวตูมในระดับพระโสณี พระหัตถ์ซ้ายหน้าทรงถือสังข์ไว้ที่พระโสณี พระหัตถ์หลังทั้งสองข้างหักหาย ทรงกรองศอ พาหุรัด มีสายยัชโญปวีตคาดพระอังสาซ้าย ทรงโธตียาวเป็นริ้ว คาดผ้าห้อยเป็นรูปวงโค้งอยู่ด้านหน้าพระเพลา

          - หอพระนารายณ์ ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ หน้า ๑๕๓๐ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙ หอพระนารายณ์อยู่ตรงข้ามกับหอพระอิศวร เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน โครงหลังคาเป็นไม้มุงกระเบื้องดินเผา ด้านหน้าเป็นรูปจั่วไม่ประดับลวดลาย หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ด้านหลังปิดทึบ มีหน้าต่างด้านละ ๓ ช่อง จากการขุดค้นทางโบราณคดี ปี พ.ศ.๒๕๕๒ ในโครงการค้นคว้าวิจัยโบราณคดีแห่งคาบสมุทรสยามโดย ดร.วัณณสาส์น นุ่นสุข จำนวน ๒ หลุม ในชั้นดินล่างสุดพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒

          ๓. พระวิษณุ วัดพระเพรง วัสดุ หิน อายุ ประมาณครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ศิลปะ อินเดีย พบที่ หอพระนารายณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช - ลักษณะ : เป็นประติมากรรมยืนตรงแบบสมภังค์ ทรงกิรีฏมกุฎ แบบหมวกทรงกระบอกสูงสลักลวดลายพรรณพฤกษา ทรงกุณฑล พระหัตถ์ขวาหน้าทรงถือดอกบัวตูม พระหัตถ์ซ้ายหน้าทรงถือสังข์อยู่ข้างพระโสณี พระหัตถ์ด้านหลังทั้งสองข้างหักหาย ทรงโธตียาวเป็นริ้ว มีผ้าคาดพระโสณีห้อยอยู่ด้านหน้าพระเพลาเป็นรูปครึ่งวงกลม

          - วัดพระเพรง ตั้งอยู่ที่ ต.นาสาร อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช ลักษณะโบราณสถานเป็นเนินดินรูปวงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ ๒๐ เมตร พบเศษอิฐกระจัดกระจาย ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเนินห่างจากวัดพระเพรง ราว ๔๐๐ เมตร มีการปรับพื้นที่เพื่อจัดสรรที่ดิน จึงได้พบหลักฐานทางโบราณคดี คือ ประติมากรรมในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (พระวิษณุ) และศาสนาพุทธ (พระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร)

          ๔. พระวิษณุ วัดตาเถร (ร้าง) วัสดุ หิน อายุ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ ศิลปะ อินเดีย พบที่ วัดตาเถร (ร้าง) จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช (ดร.วัณณสาส์น นุ่นสุข ให้ยืมจัดแสดง) - ลักษณะ : เป็นประติมากรรมยืนตรงแบบสมภังค์ พระเศียรหักหาย พระหัตถ์ขวาหน้าหักหาย พระหัตถ์ขวาหลังหักหาย พระหัตถ์ซ้ายหน้าทรงถือสังข์อยู่ข้างพระโสณี พระหัตถ์ซ้ายหลังถือคทาขนาดใหญ่ มีสายยัชโญปวีตเป็นเส้นค่อนข้างหนาคาดพระอังสาซ้ายยาวลงไปจนเกือบถึงชายผ้า ทรงโธตียาวลงมาถึงข้อพระบาท มีผ้าคาดพระโสณีห้อยอยู่ด้านหน้าพระเพลาเป็นรูปครึ่งวงกลม

          - วัดตาเถร (ร้าง) ตั้งอยู่ที่ หมู่ ๖ ต.โพธิ์ทอง อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของโบราณสถานโมคคลาน ประมาณ ๒ กิโลเมตร ชาวบ้านเล่าว่า ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ ได้ซื้อดินสำหรับปรับพื้นที่เพื่อสร้างบ้าน จากบ่อดินวัดตาเถร (ร้าง) ขณะปรับเกลี่ยหน้าดินได้พบเศษอิฐเป็นจำนวนมาก และได้พบรูปเคารพในลักษณะพระเศียรหักหาย จึงเดินทางไปยังบ่อดินเพื่อค้นหาส่วนพระเศียรแต่ไม่พบ สำหรับสภาพพื้นที่วัดตาเถร (ร้าง) ในปัจจุบันได้ถูกทำลายด้วยการขุดหน้าดินไปขาย

---------------------------------------------------
ค้นคว้า/เรียบเรียง : นางสาวสุขกมล วงศ์สวรรค์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
---------------------------------------------------

อ้างอิง :
- นงคราญ สุขสม. ประวัติศาสตร์และโบราณคดีสุราษฏร์ธานี. กรุงเทพฯ : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑๑ นครศรีธรรมราช, ๒๕๔๕. - พิริยะ ไกรฤกษ์, “พระวิษณุ : ประติมากรรมที่พบในภาคใต้,” สารานุกรมวัฒนธรรม ภาคใต้ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๖.กรุงเทพฯ: สถาบันทักษิณคดีศึกษา, ๒๕๒๙. - โบราณสถานและแหล่งโบราณคดี ในพื้นที่สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช เล่ม ๓ : นครศรีธรรมราช. งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น ปีงบประมาณ ๒๕๕๔.

(จำนวนผู้เข้าชม 7002 ครั้ง)