เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
สรุปการขุดตรวจทางโบราณคดี อาคารศูนย์การเรียนรู้ป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน
อาคารศูนย์เรียนรู้ป่าไม้ สวนรุกชาติเชตวัน ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองแพร่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ ริมแม่น้ำยมในเขต บ้านเชตวัน อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ เดิมเชื่อกันว่าอาคารหลังนี้ เป็นอาคารที่ทำการของบริษัท บอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติที่เข้ามาทำกิจการอุตสาหกรรมป่าไม้ในเมืองแพร่ ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ ต่อมาจากการศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องพบว่าอาคารหลังดังกล่าวน่าจะเป็นอาคารที่ทำการป่าไม้ภาคแพร่ กรมป่าไม้สยาม ซึ่งน่าจะสร้างในปี ๒๔๔๔ เพื่อเป็นสำนักงานควบคุมกิจการการทำไม้ของบริษัทต่างชาติในพื้นที่เมืองแพร่ จากข้อมูลภาพถ่ายเก่าพบว่า อาคารเป็นเรือนไม้ประยุกต์ มีลักษณะแบบอาคารทางราชการที่มีในเวลานั้น ที่นิยมสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่มีบริษัทต่างชาติได้รับสัมปทานเข้ามาทำอุตสาหกรรมป่าไม้ อาทิ อาคารสำนักงานป่าไม้ภาคเดิมที่ เชียงใหม่ ลำปาง นครสวรรค์ ฯลฯ อาคารหลังนี้จึงเป็นอาคารอนุสรณ์สถานสำคัญที่เก่าแก่ที่สุดหลังหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการอุตสาหกรรมป่าไม้ในเมืองแพร่ ปัจจุบันอาคารหลังนี้อยู่ในเขตสวนรุกขชาติเชตวัน อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ในความดูแลของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๓ (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๓ (แพร่) ได้มีโครงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารดังกล่าว โดยในการดำเนินงานได้เกิดกรณีข้อวิพากษ์จากภาคประชาสังคมในกระบวนการดำเนินงานที่ยังขาดกระบวนการศึกษาทางวิชาการในทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญในการอนุรักษ์อาคารและสภาพแวดล้อมภูมิทัศน์ดั้งเดิมอย่างเป็นวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๓ (แพร่) จึงได้บูรณาการร่วมกับสำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ กรมศิลปากร จัดทำกิจกรรมการศึกษาฯทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อให้การดำเนินงานปรับปรุงอาคารศูนย์เรียนรู้ป่าไม้ มีขั้นตอนดำเนินงานที่เป็นวิชาการเพื่อให้สามารถคงไว้ซึ่งคุณค่าของอาคารหลังนี้อย่างครบถ้วนและเพื่อเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนจังหวัดแพร่ต่อไป
สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ ได้เข้าดำเนินการศึกษาทางโบราณคดี ตั้งแต่วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๖๖๓ โดยการขุดทางโบราณคดีครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อศึกษาพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงของอาคารว่ามีรูปแบบดั้งเดิมและมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับการวิเคราะห์ทางสถาปัตยกรรมและองค์ประกอบไม้ส่วนต่างๆของอาคารที่คัดแยกไว้ เพื่อนำไปสู่การจัดทำรูปแบบการปฏิสังขรณ์ฟื้นคืนอาคารหลังนี้ให้มีคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์และความเป็นของแท้ดั้งเดิม
การดำเนินการหลัก คือ การขุดตรวจทางโบราณคดีเป็นร่องยาวผ่ากลางอาคาร (trench)ทั้งแนวกว้างและแนวยาว โดยจะทำการขุดคร่อมแนวฐานเสาอาคารเพื่อตรวจสอบร่องรอยการสร้างฐานรากอาคาร รวมถึงขุดตรวจบริเวณขอบอาคารที่เป็นมุมหรือจุดที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นการก่อสร้างต่อขยายอาคาร เพื่อตรวจสอบลำดับพัฒนาการการก่อสร้างต่อเติมอาคาร
สรุปการขุดตรวจทางโบราณคดี
จากการขุดตรวจทางโบราณคดี สามารถสรุปพัฒนาการของอาคารศูนย์เรียนรู้ป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน (อาคารป่าไม้เขต กรมป่าไม้) ได้เป็น ๕ ระยะดังนี้
อาคารระยะแรกเริ่ม
อาคารระยะแรกเริ่มมีขนาดเล็กกว่าอาคารในยุคปัจจุบันก่อนการรื้อถอน เป็นอาคารยกพื้น (ยกพื้นเตี้ย) ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีด้านยาวทอดไปตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ยาว ๑๘.๖๐ เมตร กว้าง ๑๑.๗๕ เมตร โดยมีเสาไม้ตั้งบนฐานก่ออิฐเป็นส่วนรองรับคานและพื้นใช้งานตัวอาคาร ฐานเสาก่ออิฐโผล่พ้นระดับพื้นด้านล่างอาคาร (พื้นใช้งานรอบอาคาร) ประมาณ ๑๐ เซนติเมตร อาคารมีมุขยื่นออกมาด้านหน้า ยาว ๕.๑๐ เมตร ในลักษณะเป็นมุขโถง ๒ ช่วงเสา แต่ละช่วงมีเสาไม้รองรับ ๓ ต้น กึ่งกลางด้านเป็นบันไดทางขึ้นอาคารจำนวน ๒ ขั้น และมีบันไดทางขึ้นด้านข้างที่ด้านสกัดของอาคารทั้ง ๒ ด้าน (ด้านทิศตะวันออกและตะวันตก) เมื่อพิจารณาร่วมกับประวัติศาสตร์การทำอุตสาหกรรมป่าไม้ในภาคเหนือและจังหวัดแพร่ สันนิษฐานได้ว่า อาคารหลังนี้น่าจะสร้างขึ้นครั้งแรกในปี๒๔๔๔ ซึ่งเป็นเวลาที่กรมป่าไม้สยาม ได้ตั้งสำนักงานป่าไม้เขตแพร่ขึ้น เพื่อกำกับกิจการการทำไม้ของบริษัทต่างชาติ ที่ได้เริ่มทำกิจการป่าไม้ในจังหวัดแพร่ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เช่นเดียวกัน
อาคารระยะที่สอง
อาคารมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าดังเช่นระยะแรก แต่มีมุขยื่นออกมาด้านหน้า (ทิศเหนือ) เพิ่มขึ้นอีก ๑ ช่วงเสา กลายเป็นมุขหน้ายาว ๓ ช่วงเสา อาคารปรากฏหลักฐานที่บ่งชี้การเปลี่ยนแปลงเป็นอาคารสองชั้นครั้งแรก คือ การพบแนวฐานบันไดซึ่งน่าจะเป็นองค์ประกอบที่สัมพันธ์กับการมีชานยื่นออกมารับมุขหน้าเพื่อเป็นจุดรับบันไดทางขึ้นสู่ชั้น ๒ และเปลี่ยนระบบฐานรากอาคารเป็นฐานตอม่อคอนกรีตเกือบทั้งหมด ทั้งนี้ยังมีบางจุดที่ยังใช้งานฐานเสาก่ออิฐของเดิม และมีการก่อผนังอิฐปิดพื้นที่ระหว่างฐานเสาแต่ละต้นและถมปรับพื้นภายในอาคารและเปลี่ยนพื้นใช้งานในอาคารจากระบบคานและพื้นไม้ไปเป็นพื้นปูอิฐ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมในพื้นที่และเสริมความมั่นคงฐานอาคาร ซึ่งระยะเวลาการปรับปรุงอาคารในระยะที่สองควรเกิดขึ้นในช่วง พ.ศ.๒๔๔๔-๒๔๘๗ ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่อาคารระยะแรกได้ถือกำเนิดขึ้นและก่อนที่จะปรากฏภาพถ่ายทางอากาศที่แสดงให้เห็นผังอาคารที่มีการเพิ่มปีกอาคารด้านตะวันออกและตะวันตก ซึ่งเป็นพัฒนาการของอาคารระยะที่สาม ทั้งนี้มีห้วงเวลาที่มีความน่าสนใจในที่อาจจะพอเจาะจงช่วงเวลาของการปรับปรุงอาคารระยะที่สองให้กระชับลงไปอีก คือ อาจอยู่ในราว พ.ศ.๒๔๗๒-๒๔๘๒ เนื่องจากในห้วงเวลา ๑๐ ปีนี้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในเมืองแพร่ ๓ ครั้ง ดังนั้นร่องรอยชั้นตะกอนน้ำท่วมและการปรับปรุงอาคารระยะที่สองนี้อาจเกิดขึ้นในห้วงเวลาดังกล่าวซึ่งมีเหตุปัจจัยและแนวทางการแก้ไขอันเนื่องจากปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่
อาคารระยะที่สาม
การปรับปรุงอาคารในระยะที่สาม ซึ่งเป็นช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอาคาร โดยพบหลักฐานทั้งการขยายอาคาร เพิ่มองค์ประกอบต่างๆ และการพบหลักฐานความเป็นอาคาร ๒ ชั้นอย่างชัดเจนจากภาพถ่ายทางอากาศ โดยมีการเพิ่มปีกอาคารออกไปอีกด้านละ ๑ ห้อง (ด้านตะวันตกและตะวันออก) และเปลี่ยนระบบเสารับน้ำหนักจากเสาตอม่อที่มีเสาไม้ปักลงในเสาเป็นระบบเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก รวมถึงการสร้างชานยกพื้นเตี้ยยื่นออกมาจากมุขหน้าอาคาร นอกจากนี้แล้วที่ด้านหลังอาคาร (ด้านทิศใต้) ยังพบองค์ประกอบอาคารที่มีความน่าสนใจ คือ บันไดทางขึ้นที่ก่อเป็นชั้นซ้อนแบบอัฒจรรย์ ขอบบันไดโค้ง แนวบันไดนี้ถูกเทพื้นซีเมนต์ทับในการปรับปรุงอาคารระยะที่สาม ที่ด้านทิศตะวันตกพบแนวร่องน้ำก่ออิฐยาวขนานกับแนวอาคาร ร่องน้ำมีแนวยาวต่อเนื่องไปทางแม่น้ำยม (ทิศตะวันตก) ร่องน้ำนี้น่าจะถูกปิดด้านบนด้วยฝาไม้ และกลบทับด้วยดินอีกครั้ง สันนิษฐานว่าแนวร่องน้ำน่าจะขนานยาวไปกับแนวอาคารโดยตลอด ซึ่งการปรับปรุงอาคารระยะที่สามน่าจะเกิดขึ้นก่อนปี ๒๔๘๗ ที่ปรากฏภาพถ่ายทางอากาศที่แสดงให้เห็นผังอาคารตรงตามข้อมูลการขุดตรวจทางโบราณคดี และอาจเกิดขึ้นหลังปี ๒๔๗๒-๒๔๘๒ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นห้วงเวลาเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมืองแพร่ที่มีการปรับปรุงอาคารระยะที่สอง
อาคารระยะที่สี่
เป็นระยะเวลาที่ปรากฏรูปแบบอาคารตามภาพถ่ายเก่าที่แสดงให้เห็นรูปแบบอาคารในปี ๒๔๙๘ ซึ่งผังและรูปแบบอาคารโดยรวมยังคงลักษณะของอาคารในระยะที่สาม เพียงแต่มีการเพิ่มเติมและยกเลิกการใช้งานบางส่วนของอาคารไป คือ การเพิ่มระเบียงที่ด้านแปด้านหน้าอาคาร โดยหลักฐานจากการขุดตรวจทางโบราณคดีพบฐานเสารองรับระเบียงขนานกับแนวผนังอาคาร และการพบหลักฐานชานบันไดทางขึ้นที่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของมุขหน้า ซึ่งเป็นบันไดขึ้นสู่ชั้น ๒ ของอาคาร โดยพบว่าปูนฉาบที่ผิวแท่นชานบันไดอยู่ในระดับต่ำกว่าผิวดินปัจจุบัน ๑๒ เซนติเมตร ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าระยะที่สี่มีการยกเลิกชานด้านหน้ามุขที่ใช้เป็นที่ตั้งบันไดขึ้นสู่ชั้น ๒ แต่เปลี่ยนมาสร้างบันไดขึ้นด้านข้างแทน และทำการถมปิดพื้นบริเวณมุขหน้าทำให้พื้นใช้งานภายในของอาคารและมุขหน้าเป็นระนาบเดียวกัน รวมถึงสร้างบันไดมุขหน้าใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลภาพถ่ายเก่าอาคารในปี ๒๔๙๘ ที่พอสังเกตเห็นองค์ประกอบเหล่านี้ ทั้งนี้ต่อข้อสันนิษฐานว่าอาคารในระยะที่สี่ควรเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด เมื่อพิจารณาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ประกอบพบว่าช่วงเวลาที่มีความเป็นไปได้ในการปรับปรุงอาคารน่าจะอยู่ในราว พ.ศ.๒๔๙๕-๒๔๙๘ ซึ่งพิจารณาจากเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ที่ว่า ในปี ๒๔๘๓ ได้มีการยุบป่าไม้ภาคแพร่รวมกับป่าไม้ภาคลำปาง และกรมป่าไม้ได้พิจารณากลับมาตั้งป่าไม้ภาคแพร่อีกครั้งในปี ๒๔๙๕ ดังนั้นห้วงเวลาของการปรับปรุงอาคารในระยะที่สี่ไม่ควรเกิดขึ้นระหว่างปี ๒๔๘๓-๒๔๙๔ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำนักงานป่าไม้ภาคแพร่ถูกยุบเลิกไป ดังนั้นห้วงเวลาที่น่าจะมีการปรับปรุงอาคารระยะที่สี่จึงควรอยู่ในราวปี ๒๔๙๕-๒๔๙๘ ที่กลับมาใช้งานอาคารนี้อีกครั้งในฐานะอาคารสำนักงานป่าไม้ภาคแพร่
อาคารระยะที่ห้า (สมัยปัจจุบัน)
เป็นช่วงเวลาหลังสุดของการก่อสร้างต่อเติมอาคาร ซึ่งทำให้อาคารมีรูปแบบดังที่ปรากฏก่อนการรื้อถอนในปี ๒๕๖๓ โดยปรากฏการต่อเติมใน ๒ บริเวณ คือ สร้างห้องมุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือ และห้องมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ของอาคารเพิ่มอย่างละ ๑ ห้อง โดยเป็นการก่อแนวอิฐจากขอบด้านยาวของอาคารยื่นออกไปให้เสมอกับขอบของปีกอาคารแล้วก่อเป็นแนวมุมฉากยาวไปบรรจบกับแนวขอบปีกอาคารทำให้เกิดเป็นห้องใหม่เพิ่มขึ้นมุมละ ๑ ห้อง รวมถึงการสร้างชานอาคารด้านหลังยื่นออกมา (เฉพาะชั้น ๒ โดยมีส่วนรับน้ำหนักเป็นเสาไม้และฐานตอม่อคอนกรีต)
ทั้งนี้จากภาพถ่ายทางอากาศของวิลเลียม ฮันท์ ในปี ๒๔๘๗ ปรากฏอาคารอีก ๑ หลัง ตั้งอยู่ด้านหลังเยื้องไปทางด้านตะวันตกของอาคารหลัก ซึ่งต่อมาจากข้อมูลภาพถ่ายระหว่างการรื้อถอนอาคารแสดงให้เห็นว่าส่วนนี้ได้กลายเป็นชานอาคารที่ยื่นออกไปแทน โดยมีพื้นที่ใช้งานเฉพาะชั้น ๒ ส่วนชั้นล่างเป็นโถงโล่ง จึงสันนิษฐานได้ว่า ชานอาคารด้านหลังนี้สร้างขึ้นหลัง พ.ศ.๒๔๘๗ ซึ่งเป็นการสร้างหลังจากที่อาคารหลังดังกล่าวถูกรื้อถอนไป
อาคารป่าไม้เขตแพร่....ไม่ใช่บอมเบย์เบอร์มา แต่คุณค่าไม่น้อยกว่ากัน
ข้อมูลจากหนังสือ "ระยะทางไปมณฑลภาคพายัพ พระพุทธศักราช ๒๔๖๕" ซึ่งเป็นเอกสารการตรวจราชการของกรมการปกครอง ระบุถึงการมีอยู่ของอาคารที่ทำการกองป่าไม้และบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์ว่าตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน โดยตั้งอยู่นอกเมืองด้านทิศใต้ใกล้แม่น้ำยม "... ในเมืองข้างกำแพงเมืองทางทิศใต้มีห้างของบริษัทอิสเอเชียติก นอกเมืองทางทิศใต้ มีถนนแยกไปทางทิศตะวันตกถึงลำน้ำยม ในถนนนี้มีที่ทำการกองป่าไม้ และห้างบอมเบเบอร์ม่า ..." จากเนื้อความพบว่าบันทึกนี้มิได้ให้รายละเอียดในเชิงตำแหน่งว่าอาคารทั้งสองแห่งตั้งอยู่สัมพันธ์กันอย่างไร ข้อมูลจากภาพถ่ายทางอากาศของวิลเลียม ฮันท์ ในปี ๒๔๘๗ คือ หลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงเห็นถึงลักษณะและสภาพแวดล้อมของอาคาร โดยพบว่าบริเวณริมแม่น้ำยม ในพื้นที่บ้านเชตวัน ปรากฏกลุ่มอาคาร ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกตั้งอยู่ด้านทิศเหนือ กลุ่มที่สองตั้งอยู่ด้านทิศใต้โดยมีถนนเชตวันคั่น จากที่ตั้งและการใช้งานอาคารในปัจจุบัน พื้นที่กลุ่มอาคารด้านทิศใต้ที่ปรากฏในภาพถ่ายเก่า ปัจจุบันคือพื้นที่สวนรุขชาติเชตวัน ซี่งเป็นที่ตั้งของอาคารที่ถูกรื้อถอน โดยอาคารหลังดังกล่าวนี้เมื่อสืบประวัติย้อนกลับไป พบหลักฐานว่าอย่างน้อยที่สุดในราวปี ๒๔๙๕-๒๔๙๘ อาคารมีสถานะเป็นสำนักงานป่าไม้เขตแพร่ ซึ่งเมื่อลำดับประวัติการตั้งสำนักงานป่าไม้เขตแพร่ที่มีมาตั้งแต่ปี ๒๔๔๔ ไม่พบเรื่องราวที่กล่าวถึงการย้ายที่ทำการสำนักงานฯไปในบริเวณอื่นภายในจังหวัดก่อนปี ๒๕๑๕ นั่นจึงแสดงให้เห็นว่า อาคารหลังดังกล่าวนี้ คืออาคารในราชการของกรมป่าไม้มาโดยตลอด และสรุปได้ในข้างต้นว่ากลุ่มอาคารที่เหลืออยู่ทางทิศเหนือ น่าจะเป็นที่ทำการสำนักงานบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์ เทรดดิ้ง
จากการนำภาพถ่ายทางอากาศของพื้นที่ในปี ๒๔๘๗ ทับซ้อนกับภาพถ่ายทางอากาศสภาพพื้นที่ปัจจุบัน พบว่าพื้นที่กลุ่มอาคารด้านทิศเหนือ ได้กลายเป็นแนวแม่น้ำยมไปแล้วทั้งหมด จึงกล่าวได้ว่าที่ทำการสำนักงานบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์ได้พังทลายลงไปในแม่น้ำยมทั้งหมดแล้วในอดีต จากการกัดเซาะตลิ่งและเปลี่ยนเส้นทางเดินของแม่น้ำในบริเวณดังกล่าวซึ่งเป็นโค้งลำน้ำ โดยห้วงเวลาที่อาคารที่ทำการบริษัท บอมเบย์เบอร์มาร์พังทลายหายไปนี้ น่าจะเกิดขึ้นหลังปี ๒๔๘๗ แต่น่าจะเกิดขึ้นก่อนปี ๒๕๐๕ ดังที่ไม่ปรากฏพื้นที่อาคารที่ทำการบริษัทฯเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดที่ดินแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นแปลงที่ดินที่เกิดจากการรวมที่ดิน ๓ แปลง คือ แปลงของกรมป่าไม้ แปลงของบริษัทแองโกสสยามคอเปอเรชั่น และแปลงของบริษัทอีสต์ เอเชียติกที่ขายให้กรมตำรวจ ซึ่งแปลความได้ว่า พื้นที่แปลงของบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์ส่วนหนึ่งอาจพังทลายลงแม่น้ำไปก่อนโดยยังมีบางส่วนคงเหลือที่ขายให้รัฐบาลไทยในปี ๒๕๐๐ นำไปสู่การนำที่แปลงดังกล่าวมารวมกันจนกลายเป็นโฉนดแปลงเดียวในปี ๒๕๐๕ ซึ่งก็คือที่ดินสวนรุกขชาติเชตะวันในปัจจุบัน
----------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ (มกราคม ๒๕๖๓)
----------------------------------------------------
(จำนวนผู้เข้าชม 1304 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน