ภาชนะดินเผาทรงหม้อตาลพบจากการดำเนินงานทางโบราณคดีในกรุงเทพมหานคร
          ในการดำเนินงานทางโบราณคดีในกรุงเทพมหานคร เศษภาชนะดินเผาประเภทหนึ่งที่พบทั่วไป ในแหล่ง คือ เศษภาชนะดินเผาก้นกลม ตัวภาชนะคอดสั้น ขอบปากตั้งตรง หรือที่เรียกว่า ภาชนะทรงหม้อตาล
          ภาชนะดินเผาประเภทนี้ สันนิษฐานว่าใช้เป็นภาชนะบรรจุน้ำตาลเพื่อใช้ในครัวเรือน ซึ่งนับแต่สมัยอยุธยา – รัตนโกสินทร์ น้ำตาลเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่พ่อค้าชาวต่างประเทศนิยมชื้อจากไทย เนื่องจากคุณภาพดี ราคาถูก โดยในสมัยรัตนโกสินทร์ (พุทธศตวรรษที่ ๒๔ – ๒๕) น้ำตาลนับเป็นสินค้าสำคัญที่ชาวต่างประเทศให้ความสนใจ นอกเหนือจากข้าว เครื่องเทศ พริกไทยดำ รง ฝาง ฯลฯ บรรดาพืชผลเหล่านี้ส่งมาจากพื้นที่ตอนในของไทยมารวมอยู่ที่เมืองบางกอก แล้วจึงนำลงเรือสินค้าส่งต่อไปยังสิงคโปร์ บอมเบย์(ปัจจุบัน คือ มุมไบ ประเทศอินเดีย) และประเทศอังกฤษ เพื่อขายให้กับดินแดนต่างๆในยุโรป
          หนังสือวชิรญาณวิเศษ ร.ศ.๑๐๙ – ๑๑๐(พ.ศ.๒๔๓๓ – ๒๔๓๔) กล่าวถึง ผลผลิตน้ำตาลของไทยว่า “...สรรพน้ำตาลต่างๆที่ทำอยู่หรือมีอยู่ในประเทศเรานี้ มีอยู่ ๖ อย่าง คือ น้ำตาลทราย ๑ น้ำอ้อย ๑ น้ำตาลโตนด ๑ น้ำตาลมะพร้าว ๑ น้ำตาลจาก ๑ แต่น้ำตาลทรายนี้ต้องทำด้วยน้ำอ้อย น้ำตาลโตนดทำด้วยทะลายตาลหรืองวงตาลที่แรกออก น้ำตาลกรวดทำด้วยน้ำตาลทราย น้ำตาลมะพร้าวทำด้วยจั่นมะพร้าว น้ำตาลจากทำด้วยงวงจาก...” น้ำตาลที่มีการผลิตและใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทหม้อดินเผานั้นมีเฉพาะน้ำตาลโตนด ซึ่งราคาการจำหน่ายโดยทั่วไป ๑๔ หม้อเป็นเงิน ๑ บาท หากเป็นช่วงน้ำตาลโตนดขาดแคลน อาจจำหน่ายในราคา ๘ หม้อ ๑ บาท
          ภาชนะดินเผาทรงหม้อตาลที่พบส่วนใหญ่มีขนาดสูง ๗ – ๘ เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางส่วนปาก ๑๘ – ๒๓ เซนติเมตร อย่างไรก็ตาม ภาชนะดินเผารูปทรงนี้ยังพบในแหล่งโบราณคดีบริเวณศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรงพยาบาลศิริราช แหล่งโบราณคดีคลองคูเมือง(คลองบ้านขมิ้น) เช่นกัน โดยพบว่า ภาชนะดินเผาแบบนี้ หากมีขนาดเล็ก(ขนาดสูง ๓ – ๔ เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางส่วนปาก ๑๒.๖ – ๑๕ เซนติเมตร) มักพบมีปูนสีขาวบรรจุอยู่ภายในภาชนะดินเผานั้น

 
(ซ้าย) ต้นมะพร้าว พืชชนิดหนึ่งที่ให้น้ำตาลในสยาม จากงานเขียนของซีมง เดอ ลา ลูแบร์(Simon de la Loubère)
(ขวา) ซีมง เดอ ลา ลูแบร์(Simon de la Loubère) (พ.ศ.๒๑๘๕ – ๒๒๗๒) หัวหน้าคณะทูตฝรั่งเศสซึ่งเดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักอยุธยาเมื่อ พ.ศ.๒๒๓๐ 

 
(ซ้าย) ภาชนะดินเผาทรงหม้อตาล พบจากจากการดำเนินงานทางโบราณคดีบริเวณสนามด้านข้างพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
(ขวา) ภาชนะดินเผาทรงหม้อตาล พบจากการงมในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์

  
 

(ซ้าย – ขวา) ภาชนะดินเผาทรงหม้อตาลขนาดเล็ก พบจากแหล่งโบราณคดีคลองคูเมืองเดิม(คลองบ้านขมิ้น) เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร


------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นางสาวเมธินี จิระวัฒนา นักโบราณคดีชำนาญการ กองโบราณคดี

------------------------------------------------

(จำนวนผู้เข้าชม 1360 ครั้ง)

Messenger