เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง (ตอนที่ ๑)








          เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง ตั้งอยู่ที่บ้านเสมา ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยห่างจากตัวอำเภอกมลาไสย มาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ ๗ กิโลเมตร 
          สภาพภูมิประเทศตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำลำปาว เป็นที่ราบลุ่มสลับกับเนินดินและหนองน้ำธรรมชาติหลายแห่ง มีน้ำขังตลอดปีทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์จากตะกอนแม่น้ำที่พัดพามาทับถม ประกอบกับมีแหล่งน้ำธรรมชาติจำนวนมาก จึงเหมาะสมกับการตั้งชุมชนอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่ สมัยโบราณ อีกทั้งมีการคมนาคมที่สะดวก เพราะแม่น้ำลำปาวมีต้นน้ำอยู่บริเวณหนองหาน อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ไหลผ่านจังหวัดอุดรธานี จังหวัดขอนแก่น ลงสู่แม่น้ำชีที่เป็นแนวเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ กับ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ แหล่งเกลือสินเธาว์ ไม้เนื้อแข็งประเภท เต็ง รัง ตะแบก และไม้ยาง ปัจจุบันป่าไม้ในพื้นที่หมดสภาพแล้ว
          ลักษณะกายภาพของเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง ตัวเมืองมีคันดิน ๒ ชั้น กว้างประมาณ ๒๕ - ๓๐ เมตร สูงประมาณ ๒ - ๓ เมตร ระหว่างคันดินเป็นคูน้ำกว้างประมาณ ๒๐ เมตร ล้อมรอบเมืองที่มีแผนผัง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนบนของผังเมืองสอบเข้าหากัน ทำให้นักวิชาการบางท่านมองว่าคล้ายรูปใบเสมา โดยเชื่อมโยงกับหลักฐานใบเสมาโบราณที่พบเป็นจำนวนมากในบริเวณนี้ ตัวเมืองมีความยาวตามแนวทิศเหนือ - ทิศใต้ ประมาณ ๒,๐๐๐ เมตร กว้างตามแนวทิศตะวันออก - ทิศตะวันตก ประมาณ ๑,๑๕๐ เมตร
          ภายในตัวเมืองมีเนินดินสูงอยู่ ๓ เนิน เนินที่ ๑ อยู่ทางตอนเหนือของตัวเมือง มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ปัจจุบันเป็นสถานที่ประกอบพิธีศพของชาวบ้าน เนินที่ ๒ อยู่ทางตอนใต้ของเนินดินแห่งแรก มาเล็กน้อย เป็นเนินดินขนาดเล็กรูปร่างคล้ายตัวแอล (L) เนินที่ ๓ เป็นเนินดินขนาดใหญ่อยู่ในแนวกึ่งกลางของตัวเมืองแต่ค่อนมาทางด้านตะวันออก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของบ้านเสมาซึ่งประกอบไปด้วยบ้านเรือน วัดโพธิ์ชัยเสมารามและโรงเรียนประจำหมู่บ้าน นอกจากนี้ภายในตัวเมืองซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและประกอบกิจกรรมต่างๆ นั้น ยังมีร่องรอยของคูน้ำขุดสลับซับซ้อนอยู่ภายใน โดยเนินดินที่ ๑ ซึ่งมีระดับความสูงจากระดับพื้นที่ปกติภายในเมืองเกือบ ๑๐ เมตร ที่ชายเนินมีร่องรอยของคูน้ำขุดล้อมรอบเป็นรูปเกือบกลม ส่วนเนินดินที่ ๓ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านเสมาก็มีคูน้ำขุดล้อมรอบเช่นเดียวกัน ส่วนพื้นที่ราบบริเวณค่อนมาทางใต้ของตัวเมืองก็มีคูน้ำขุดในทางกว้างไปเชื่อมกับแนวคูเมือง และขุดตัดตรงคูเมืองทางตอนใต้ไปเชื่อมกับแนวคูน้ำที่อยู่ภายในเมือง
          ส่วนนอกเมืองห่างออกไปทางทิศเหนือประมาณ ๒๐๐ เมตร มีพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้ากว้าง ๒๕๐ เมตร ยาว ๕๐๐ เมตร ส่วนทางทิศใต้ของเมืองห่างของไปประมาณ ๒๕๐ เมตร มีหนองนกพิดซึ่งเป็นหนองน้ำธรรมชาติยาวเกือบ ๑,๐๐๐ เมตร ขนานไปกับแนวคูเมือง ด้านนอกตัวเมืองโดยรอบมีหนองน้ำธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วไป
          เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๓๔ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙ และประกาศแนวเขตพื้นที่โบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙ ตอนพิเศษ ๑๑๗ ง วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ระวางแนวเขตพื้นที่ประมาณ ๙๑๐ ไร่ ๓ งาน ๗๕ ตาราง

--------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นางสาวศุภภัสสร หิรัญเตียรณกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
--------------------------------------------

อ้างอิงจาก :
จังหวัดกาฬสินธุ์. แผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองฟ้าแดดสงยาง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๔.
ผาสุข อินทราวุธ และคณะ. รายงานการขุดค้นเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์. ม.ป.ท. : ม.ป.ป., ๒๕๓๔. (เอกสารอัดสำเนา)

(จำนวนผู้เข้าชม 1963 ครั้ง)

Messenger