เมืองโบราณสมัยทวารวดีที่กำแพงเพชร
          กำแพงเพชรเป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งปรากฏชุมชนโบราณที่มีการสร้างคูน้ำคันดิน และโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องในสมัยทวารวดี โดยจากการดำเนินงานทางโบราณคดีพบเมืองโบราณในสมัยทวารวดี ๒ แห่ง ได้แก่ เมืองไตรตรึงษ์ และเมืองโบราณบ้านคลองเมือง
          เมืองไตรตรึงษ์ บ้านวังพระธาตุ ตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมืองกำแพงเพชร เป็นชุมชนโบราณริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง และเป็นเส้นทางคมนาคมในอดีตระหว่างหัวเมืองภาคเหนือกับชุมชนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลักษณะเป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมมุมมน ขนาดกว้าง ๘๐๐ เมตร ยาว ๘๔๐ เมตร ล้อมรอบด้วยคูน้ำคันดิน ๓ ชั้น จากการขุดค้นภายในเมืองพบหลักฐานโบราณวัตถุที่มีอายุร่วมสมัยในสมัยทวารวดี อาทิ ตะกรันจากการถลุงโลหะ ลูกปัด ตะเกียงดินเผา ฯลฯ
          เมืองไตรตรึงษ์เป็นชุมชนสำคัญบนแม่น้ำปิงสืบเนื่องถึงสมัยสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ๒๑) เพราะตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าระหว่างตะวันออกไปยังตะวันตก และจากทิศใต้ไปยังทิศเหนือ ได้พบหลักฐานที่สำคัญ คือ โบราณสถานสถาปัตยกรรมสุโขทัยบริเวณกลางเมือง เช่น เจดีย์ประธานทรงดอกบัวตูม (ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์) วัดเจดีย์เจ็ดยอด เจดีย์ทรงระฆัง วัดพระปรางค์ เป็นต้น
          เมืองโบราณบ้านคลองเมือง ตำบลโกสัมพี อำเภอโกสัมพีนคร เป็นชุมชนโบราณร่วมวัฒนธรรมทวารวดีอีกแห่งหนึ่งในกำแพงเพชร ลักษณะผังเมืองมีรูปทรงไม่แน่นอนล้อมรอบด้วยคูน้ำคันดินขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓๕๐ – ๔๐๐ เมตร ภายในเมืองพบโบราณวัตถุจำนวนมาก อาทิ ขวานหินขัดแบบมีบ่า ตะกรันจากการถลุงโลหะ แวดินเผา ฯลฯ ซึ่งเป็นหลักฐานทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานการอยู่อาศัยในช่วงสมัยสุโขทัย และสมัยอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๒๓) เช่น ฐานเจดีย์อิฐ ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งแบบสุโขทัย (เครื่องสังคโลก) ชนิดเคลือบและไม่เคลือบ เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พุทธศตวรรษที่ ๒๒) เป็นต้น











-------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
-------------------------------------------

บรรณานุกรม
ศิลปากร, กรม. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗), ๒๕๕๗.

(จำนวนผู้เข้าชม 2578 ครั้ง)