การค้นพบประติมากรรมรูปเต่าที่เมืองพิมาย
เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2563 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ได้รับการประสานจากนางสาววรรณทิพย์ ปลื้มจิตร ผู้ปกครองของเด็กชายณัฎฐ์สักก์ จันทร์เกษม ว่าหลานชายได้พบประติมากรรมรูปเต่าอยู่ภายในโบราณสระโบสถ์(พบอยู่ใต้น้ำ) ภายในเมืองพิมาย และได้นำมามอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ในเวลาต่อมา
เมื่อลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า ตำแหน่งที่พบโบราณวัตถุอยู่ใต้น้ำ บริเวณด้านทิศใต้ของสระโบสถ์ ใกล้กับเนินดินกลางสระน้ำ โดยอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเนินดิน
โบราณวัตถุที่พบจากสระโบสถ์นี้ ได้แก่ ประติมากรรมรูปเต่า มีลักษณะการสลักเป็นรูปใบหน้าและกระดองเต่าอย่างชัดเจน ด้านบนกระดองเจาะช่องรูปสี่เหลี่ยม 7 ช่อง ล้อมรอบช่องสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ตรงกลางโดยด้านในช่องสามเหลี่ยมมีก้อนหินรูปสามเหลี่ยมวางอยู่ เมื่อนำประติมากรรมรูปเต่ามาทำความสะอาดและนำน้ำที่ขังอยู่ภายในช่องออก พบชิ้นส่วนแผ่นทองจำนวน 6 แผ่น บรรจุอยู่ภายในช่อง
สำหรับประติมากรรมรูปเต่าที่พบนี้ สันนิษฐานว่าเป็นแท่นบรรจุวัตถุมงคลที่ใช้ในการวางฤกษ์ของสระน้ำ และพบว่ามีรูปแบบสัมพันธ์กับประติมากรรมรูปเต่าที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณสระสรง เมืองพระนคร จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 นี้
ทั้งนี้ ในส่วนของข้อมูลการศึกษา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย จะขอนำเสนอบทความเกี่ยวกับประติมากรรมรูปเต่านี้ในเดือนถัดไป สามารถรอติดตามได้ผ่านเฟสบุ๊กเพจ https://www.facebook.com/PhimaiNationalMuseum/
----------------------------------------------
ข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย จังหวัดนครราชสีมา
----------------------------------------------
(จำนวนผู้เข้าชม 1063 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน