เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
วัวต่าง
ต่าง คือภาชนะสำหรับบรรทุกสิ่งของ มีคานพาดไว้บนหลังสัตว์ เช่น วัว ม้า ลา มักสานด้วยหวายหรือไม้ไผ่ เป็นรูปทรงกระบอกมีหูสำหรับสอดคานพาดบนหลังสัตว์ เรียกชื่อตามชนิดของสัตว์ที่ใช้บรรทุกสิ่งของ เช่น วัวต่าง ม้าต่าง ลาต่าง
จากลักษณะภูมิประเทศแถบดินแดนล้านนาที่มีลักษณะเป็นเทือกเขาสูงสลับกับที่ราบหุบเขาขนาดเล็กซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนที่กระจายตัวกันอยู่ห่างๆ แม่น้ำส่วนใหญ่เป็นแม่น้ำที่มีน้ำไหลเชี่ยวและมีเกาะแก่งจำนวนมาก ไม่สะดวกในการใช้ติดต่อสัญจรระหว่างชุมชน การเดินทางของผู้คนในดินแดนล้านนาในอดีตจึงใช้การเดินเท้าเป็นหลัก ส่วนการลำเลียงสิ่งของในการเดินทางนั้นนิยมใช้สัตว์ต่างบรรทุกสิ่งของ เนื่องจากสามารถเดินบนทางแคบๆ ทุรกันดารและปีนป่ายภูเขาได้สะดวกกว่าการใช้เกวียน อีกทั้งในอดีตไม่มีถนนเชื่อมต่อระหว่างเมือง การใช้สัตว์ต่างบรรทุกของทำให้สามารถลำเลียงสิ่งของได้มากกว่าการใช้แรงงานคน โดยชาวล้านนาและชาวไทใหญ่นิยมใช้วัวเป็นสัตว์พาหนะในการลำเลียงสิ่งของ ในขณะที่ชาวจีนฮ่อนิยมใช้ม้าและล่อในการบรรทุกสิ่งของ
การบรรทุกสิ่งของโดยใช้วัวต่างนี้ เดิมน่าจะใช้เพื่อการขนสิ่งของในการเดินทางมากกว่าเพื่อการค้า เนื่องจากในอดีตผู้ที่ทำการค้าขายส่วนใหญ่เป็นเจ้านาย ขุนนาง หรือกลุ่มคนที่ได้รับสิทธิพิเศษจากรัฐ สำหรับประชาชนทั่วไปมีการค้าขายไม่มากนักเนื่องจากวิถีชีวิตในอดีตเป็นการผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเองมากกว่าการผลิตเพื่อการค้า โดยสินค้าที่มีการซื้อขายในอดีตจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ประเภท เช่น เกลือ ปลาแห้ง เครื่องใช้ที่ทำจากโลหะ เมี่ยง จนกระทั่งกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เป็นต้นมาจึงเริ่มมีการนำสินค้าอื่นๆ ที่ผลิตจากโรงงาน เช่น ผ้า ด้าย ไม้ขีดไฟ เทียนไข น้ำมันก๊าด เป็นต้น มาขายตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล โดยพ่อค้าจะนำสินค้าจากท้องถิ่น เช่น ผลไม้ ของป่า น้ำผึ้ง น้ำมันยาง ขี้ครั่ง หนังสัตว์ มาขายแล้วซื้อสินค้าสำเร็จรูปกลับไปขายในหมู่บ้านที่เดินทางผ่าน สำหรับเมืองน่านพ่อค้านิยมเดินทางไปซื้อสินค้าที่ท่าอิฐ ท่าเสา จ.อุตรดิตถ์ โดยท่าอิฐนี้เป็นที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่มีพ่อค้านำมาจากที่ต่างๆ เช่นจากมะละแหม่ง รวมถึงสินค้าจากเรือที่ล่องขึ้นมาตามลำน้ำน่าน กับสินค้าที่พ่อค้าวัวต่างนำมาจากหมู่บ้านต่างๆ
หลังจากปีพ.ศ.๒๔๕๗ เป็นต้นมา ได้เริ่มมีการสร้างได้เริ่มมีการสร้างทางเกวียนซึ่งภายหลังได้ขยายเป็นทางรถยนต์เชื่อมพื้นที่ระหว่างจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ ส่งผลให้การใช้วัวต่างในการขนส่งสินค้าค่อยๆ น้อยลงจนกระทั่งหมดไปในที่สุดเมื่อมีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมได้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ
---------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
---------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง:
พจนานุกรมหัตถกรรม เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน : รศ.วิบูลย์ ลี้สุวรรณ สนพ.เมืองโบราณ รายงานการวิจัยเรื่องพ่อค้าวัวต่าง : ชูสิทธิ์ ชูชาติ ศูนย์ศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น, ๒๕๔๕
(จำนวนผู้เข้าชม 2315 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน