เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
วัดพระนอน เมืองกำแพงเพชร
โบราณสถานวัดพระนอนตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือที่เป็นเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร ผังของตัววัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก อาคารต่างๆก่อสร้างด้วยศิลาแลงพื้นที่นอกกำแพงวัดด้านทิศตะวันออกมีอาคารศาลาโถง ที่อาบน้ำและบ่อน้ำที่ขุดเจาะลงไปในชั้นศิลาแลง ประตูทางเข้าอยู่ทิศตะวันออกทางเดินปูลาดด้วยศิลาแลงมีเสาปักตลอดสองฟากข้างทางเดิน
สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัดประกอบด้วยพระอุโบสถ เป็นอาคารที่ตั้งอยู่ตอนหน้าสุด ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รูปแบบของฐานอาคารเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ภายในอาคารปรากฏแท่นชุกชีที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูป มีเสาศิลาแลงรูปแปดเหลี่ยมเป็นเสารองรับเครื่องบน ด้านนอกอาคารมีเสาศิลาแลงรูปแปดเหลี่ยมเป็นเสาพาไลรองรับชายคาของอาคาร และมีฐานใบเสมา ๘ ฐานตั้งอยู่รอบพระอุโบสถ ใบเสมาสลักจากหินชนวนมีการแกะสลักลวดลายประเภทลายพรรณพฤกษา เป็นรูปดอกไม้อยู่ท่ามกลางเถาใบไม้มีกระหนกปลายแหลมและมีการแกะสลักเป็นภาพบุคคลเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ตอน ทรพีสู้กับพาลี (ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร)
ถัดจากพระอุโบสถไปทางด้านทิศตะวันตกเป็นวิหาร มีแผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อเป็นฐานหน้ากระดานและบัวคว่ำ ภายในอาคารปรากฏแท่นอาสนสงฆ์และแท่นฐานชุกชีที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถไสยาสน์(นอน) องค์พระพุทธรูปพังทลายคงเหลือแต่ส่วนโกลนของพระบาทที่บริเวณด้านทิศเหนือของแท่นฐานชุกชี เสาวิหารที่รองรับโครงสร้างเครื่องไม้และหลังคาเป็นเสาศิลาแลงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ กว้างด้านละ ๑ เมตร สูง ๖ เมตร มีน้ำหนักกว่า ๑๔ ตัน เป็นเสาศิลาแลงที่เป็นแบบชิ้นเดียวที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศไทย และถือเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่แสดงถึงความสมบูรณ์ในทรัพยากรและความสามารถในเชิงช่างในสมัยโบราณของเมืองกำแพงเพชร
เจดีย์ประธานอยู่ถัดจากวิหารไปทางด้านทิศตะวันตก เป็นแบบเจดีย์ทรงกลม หรือทรงระฆัง ฐานหน้ากระดานล่างสุดก่อเป็นฐานรูปสี่เหลี่ยม ด้านหน้าทำเป็นมุขเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป ถัดจากฐานหน้ากระดานรูปสี่เหลี่ยม เป็นฐานหน้ากระดานรูปแปดเหลี่ยมที่ซ้อนลดหลั่นกัน ๓ ชั้น ถัดไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ต่อด้วยชุดบัวคว่ำ ๓ ชั้น หรือชั้นบัวถลา รองรับองค์ระฆังและบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยม ส่วนยอดเจดีย์หักพังทลายไป
พระราชนิพนธ์ “เสด็จประพาสต้น” ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ระบุถึงการเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ โดยได้เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชรโบราณในเขตอรัญญิก ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๙ และได้ทรงมีพระราชนิพนธ์บรรยายเกี่ยวกับโบราณสถานวัดพระนอน ดังนี้
“...ถัดไปจึงถึงวัดพระนอน ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน วัดเหล่านี้ มักจะมีวิหารหรืออุโบสถใหญ่อยู่ข้างหน้า มีทักษิณล่างชั้นหนึ่งแล้วจึงถึงฐานบัตร ลักษณะวัดสุทัศน์ วิหารเหล่านี้ไม่เกิน ๕ ห้อง แต่คงมีมุขเด็จด้านหน้าอย่างวัดหน้าพระธาตุเมืองลพบุรี พนักเป็นช่องลูกฟัก เสาเป็นแปดเหลี่ยม ตัดแลงเป็น ๘ เหลี่ยมทีเดียว ด้านหลังมีมุขตั้งทักษิณชั้นล่างจนผนัง แลเสาใช้แลงอย่างเดียวไม่มีอิฐปน ใช้พื้นโบสถ์พื้นวิหารสูง ไม่ต่ำเหมือนอย่างกรุงเก่า เหตุที่เขารวยแลง แต่หลังคาจะหาตัวอย่างให้เห็นว่าเป็นอย่างไรไม่มีสักหลังเดียว ถัดโบสถ์หรือวิหารนี้ไป จึงมีก้อนกลางต่าง ๆ กัน ชิ้นหลังก็ยักไปต่าง ๆ กัน บางทีมีแต่ ๒ ชิ้น
จะว่าด้วยวัดพระนอนนี้ วิหารหน้าใหญ่มาก แต่โทรมไม่มีอะไรอัศจรรย์ ในทักษิณชั้นล่างตั้งสิงห์เบือน เห็นจะมากคู่แต่เดี๋ยวนี้เหลือ ๒ ตัว ชิ้นกลางเป็นวิหาร ๕ ห้อง กันไว้ข้างหน้า ๒ ห้อง ห้องหลัง ๒ ห้องเหมือนวิหารพระศาสดาวัดบวรนิเวศแลวิหารพระอัฏฐารสวัดสระเกศแต่ใหญ่มาก เสาใช้แลงท่อนเดียว เป็นเสา ๔ เหลี่ยมสูงใหญ่ ห้องข้างหน้ามีพระนอน ห้องข้างหลังมีพระนั่ง ๒ องค์ ชิ้นหลังเป็นพระเจดีย์ฐาน ๘ เหลี่ยม ระฆังกลมรูปแจ้งามมาก เกือบจะสู้พระเจดีย์กลางถนนเมืองย่างกุ้งได้ ยังดีไม่ซวดเซอันใด เหตุด้วยพื้นเป็นแลงแข็งไม่ต้องทำราก ชั่วแต่ยอดหักแต่ที่เหลืออยู่บัดนี้สูงกว่า ๑๕ วา ที่หน้าพระเจดีย์นี้มีที่บูชา เป็นศาลาหลังคา ๒ ตอน ลักษณะเดียวกับที่ทูลกระหม่อมไปสร้างไว้ในที่ต่าง ๆ ต่อไปข้างหลังมีฐานโพธิ์ แลมีวิหารอะไรอีกหลังหนึ่งชำรุดมากดูไม่ออก เป็นวัดใหญ่มาก แต่จะเรียกว่าวัดพระนอนก็ควร เพราะมี พระนอนเป็นสำคัญ ...”
การเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ได้เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชรโบราณในเขตอรัญญิก ในระหว่างวันที่ ๑๕ – ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๐ และได้ทรงมีพระราชนิพนธ์บรรยายเกี่ยวกับโบราณสถานวัดพระนอน ดังนี้
“…ที่วัดพระนอนนั้นยังมีชิ้นสำคัญอยู่ คือวิหารพระนอน ซึ่งทำด้วยฝีมือดี การก่อสร้างใช้แลงทั้งนั้น เสาเป็นเสากลมก่อด้วยแลงก้อนใหญ่ ๆ รูปอย่างศิลาโม่ ก้อนใหญ่ ๆ และหนา ๆ มาก ผนังวิหารมีเป็นช่องลูกกรง ลูกกรงทำด้วยแลงแท่งสี่เหลี่ยม สูงราว ๓ ศอก ดูทางข้างนอกงามดีมาก…”
วัดพระนอนจึงถือเป็นโบราณสถานอีกแห่งในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรที่มีความสำคัญยิ่งเป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของแผ่นดินเมืองกำแพงเพชร ทั้งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรและงานฝีมือศิลปกรรมในรูปแบบของสกุลช่างกำแพงเพชร ที่ปรากฏผ่านงานสถาปัตยกรรมและประติมากรรม ตลอดจนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดี
-------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
-------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
:
กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ: บริษัทบางกอกอินเฮ้าส์จำกัด, ๒๕๖๑. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒๖. กรุงเทพฯ : ไทยร่มเกล้า, ๒๕๒๙. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๑๙. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๑.
(จำนวนผู้เข้าชม 8233 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน