...

อธิบดีกรมศิลปากรตรวจแหล่งภาพเขียนสีในพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
อธิบดีกรมศิลปากรตรวจแหล่งภาพเขียนสีในพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา พร้อมมอบนโยบายการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งภาพเขียนสี (ศิลปะถ้ำ) ฝั่งทะเลอันดามัน

          นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจแหล่งภาพเขียนสีที่พบใหม่ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา ซึ่งสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช ได้รับการประสานจากอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา และขอความอนุเคราะห์เจ้าหน้าที่ร่วมสำรวจภาพเขียนสีโบราณ จึงดำเนินการสำรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ตามโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ ๒๗ – ๒๘ ตุลาคมที่ผ่านมา โดยสำรวจแหล่งภาพเขียนสีแหล่งเดิม ๖ แห่ง ได้แก่ เกาะปันหยี ถ้ำนาค เขารายา เขาเขียน ๑ เขาเขียน ๒ และเขาพระอาดเฒ่า และสำรวจพบแหล่งภาพเขียนสีแหล่งใหม่ จำนวน ๕ แหล่ง ได้แก่ เกาะทะลุนอก เกาะเขาเต่า ถ้ำนกกระเรียน เกาะไข่ และเกาะยางแดง รวมทั้งสิ้น ๑๑ แหล่ง



          อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากรตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งภาพเขียนสียุคก่อน ประวัติศาสตร์ที่ค้นพบ นับว่าเป็นการค้นพบทางโบราณคดีที่สำคัญมาก จึงได้มอบหมายให้สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช จัดทำโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งภาพเขียนสี (ศิลปะถ้ำ) ฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อรวบรวม องค์ความรู้เกี่ยวกับภาพเขียนสีในเขตพื้นที่จังหวัดกระบี่และพังงาอย่างเป็นระบบ และนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาเป็นพื้นฐานต่อยอดในเชิงพัฒนา เช่น การจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สินค้าที่ระลึก อันจะนำมาซึ่งการเพิ่มมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ มีการกระจายรายได้ให้กับชุมชนที่ร่วมกันดูแล และเป็นการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมด้วยอีกทางหนึ่ง





          ภาพเขียนสีตามเพิงผาหรือถ้ำบริเวณอ่าวพังงา รวมไปถึงบริเวณฝั่งทะเลอันดามันทั้งหมดที่สำรวจพบแล้วมีกว่า ๓๐ แห่ง เกือบทั้งหมดเป็นภาพที่เขียนขึ้นในยุคก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งผู้คนยังไม่มีตัวอักษรใช้สื่อสาร เรื่องราวภาพเขียนสีที่บันทึกจึงแสดงออกถึงวิถีชีวิตและการใช้พื้นที่ของผู้คนเมื่อราว ๓,๐๐๐ – ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว เช่น ภาพบุคคล ภาพสัตว์ชนิดต่าง ๆ ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ ภาพลวดลายเรขาคณิต โดยมนุษย์ในอดีตสามารถใช้ถ้ำและเพิงผาเป็นแหล่งพักพิงชั่วคราว ประกอบกิจกรรมหรือพิธีกรรมบางอย่าง หรือใช้พื้นที่เป็นแหล่งหลบลมมรสุมกระแสคลื่นลมในการเดินทางไปมาระหว่างแผ่นดินตอนใน และพื้นที่ชายฝั่งทะเล ที่มีการใช้เส้นทางตามลำน้ำและคลอง ลัดเลาะเชื่อมเข้าออกสู่ทะเล และอาศัยแหล่งอาหารตามธรรมชาติ จึงสามารถสะท้อนถึงกลุ่มคนผู้เขียนภาพเหล่านี้ว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดอีกด้วย









         จากประวัติการศึกษาที่ผ่านมา มีการค้นพบและสำรวจแหล่งภาพเขียนสีบริเวณอ่าวพังงา – อ่าวลึก ของนักวิชาการไทยและต่างชาติ โดยในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ – ๒๕๓๑ กรมศิลปากร ภายใต้การดำเนินงานของโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดี (ภาคใต้) ได้ทำการสำรวจแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์บริเวณชายฝั่งตะวันตกของประเทศ พบแหล่งภาพเขียนสีหลายแห่ง หลังจากนั้นในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นต้นมา มีการแจ้งพบแหล่งภาพเขียนสีเพิ่มเติมในพื้นที่จังหวัดพังงา กระบี่ และตรัง จึงดำเนินการสำรวจซ้ำแหล่งเดิมเพื่อตรวจสอบสภาพของแหล่งภาพเขียนสี และสำรวจแหล่งที่พบใหม่เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน

(จำนวนผู้เข้าชม 826 ครั้ง)