เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
หลักฐานไวษณพนิกายที่พบในฝั่งอันดามัน : พระวิษณุมัธยมโยคสถานะมูรติ
พระวิษณุมัธยมโยคสถานะมูรติ
อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔
ศิลปะอินเดีย แบบปัลลวะ ประกอบด้วย
๑. พระวิษณุ
วัสดุ :
หินทรายที่เกิดจากเถ้าภูเขาไฟ (Tuffacous Sandstone)
ขนาด :
สูง ๒๓๕ เซนติเมตร กว้าง ๘๕ เซนติเมตร หนา ๒๕ เซนติเมตร
ประวัติ/สถานที่พบ :
พระวิษณุเป็นรูปเคารพในกลุ่มมัธยมโยคสถานกะมูรติ พบพร้อมฤษีมารกัณเฑยะ และนางภูเทวีที่โคนต้นตะแบก (ชาวบ้านเรียกว่า “ที่พระนารายณ์”) ริมฝั่งคลองตะกั่วป่าตรงข้ามกับเขาพระนารายณ์ (เขาเวียง) โดยมีข้อมูลว่าเดิมน่าจะประดิษฐานอยู่บนเขาพระนารายณ์ (เขาเวียง) วันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๙ เจ้าหน้าที่จากหน่วยศิลปากรที่ ๘ นครศรีธรรมราช ได้นำเทวรูป พระวิษณุ ฤษีมารกัณเฑยะ และแผ่นหินจารึกภาษาทมิฬจากที่พระนารายณ์ มาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง จังหวัดภูเก็ต
๒. ฤษีมารกัณเฑยะ
วัสดุ :
หินทรายที่เกิดจากเถ้าภูเขาไฟ (Tuffacous Sandstone)
ขนาด :
ขนาดสูง ๑๒๕ เซนติเมตร กว้าง ๗๗ เซนติเมตร หนา ๒๕ เซนติเมตร
ประวัติ/สถานที่พบ :
ฤษีมารกัญเฑยะ เป็นรูปเคารพในกลุ่มพระวิษณุมัธยมโยคสถานกะมูรติ พบพร้อมพระวิษณุ และนางภูเทวี ที่โคนต้นตะแบก (ชาวบ้านเรียกว่า “ที่พระนารายณ์”) ริมฝั่งคลองตะกั่วป่าตรงข้ามกับเขาพระนารายณ์ (เขาเวียง) โดยมีข้อมูลว่าเดิมน่าจะประดิษฐานอยู่บนเขาพระนารายณ์ (เขาเวียง) พ.ศ.๒๕๐๙ (เดือนมีนาคม-เมษายน) ถูกคนร้ายลักลอบสกัดพระพักตร์ออกไป (ปัจจุบันยังไม่พบส่วนพระพักตร์)
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง จังหวัดภูเก็ต
ฤษีมารกัญเฑยะ ตามลำดับวงศ์ที่กล่าวไว้ในปุราณะนั้น มีศักดิ์เป็นเหลนของฤษีภฤคุกล่าวคือ เป็นลูกของ มฤกัณฑุซึ่งเป็นหลานปู่ของฤษีภฤคุ การปรากฏกายของฤษีมารกัณเฑยะพร้อมนางภูเทวีโดยมีพระวิษณุอยู่ตรงกลางนั้น เรียกว่า พระวิษณุมัธยมโยคสถานะมูรติ
๓. นางภูเทวี
วัสดุ :
หินทรายที่เกิดจากเถ้าภูเขาไฟ (Tuffacous Sandstone)
ขนาด :
สูง ๑๑๕ เซนติเมตร กว้าง ๗๕ เซนติเมตร หนา ๒๕ เซนติเมตร
ประวัติ/สถานที่พบ :
นางภูเทวี เป็นรูปเคารพในกลุ่มพระวิษณุมัธยมโยคสถานกะมูรติ พบพร้อมพระวิษณุและฤษีมารกัณเฑยะที่โคนต้นตะแบก (ชาวบ้านเรียกว่า “ที่พระนารายณ์”) ริมฝั่งคลองตะกั่วป่าตรงข้ามกับเขาพระนารายณ์ (เขาเวียง) โดยมีข้อมูลว่าเดิมน่าจะประดิษฐานอยู่บนเขาพระนารายณ์ (เขาเวียง)
พ.ศ.๒๕๐๙ (เดือนมีนาคม-เมษายน) คนร้ายได้สกัดเอาพระพักตร์นางภูเทวีไปและนำส่วนองค์ไปทิ้งไว้ที่คลองบางปิด
พ.ศ.๒๕๑๐ ชาวบ้านพบส่วนองค์ของนางภูเทวีในคลองดังกล่าวจึงนำไปไว้ที่วัดนารายณิการาม ต.เหล อ.กะปง จ.พังงา
ต่อมาเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๖ กรมศิลปากรได้รับส่วนพระพักตร์นางภูเทวี จากบริษัทค้าของเก่าสปิงค์แลนด์ซัน จำกัด คืนจากประเทศอังกฤษ จึงนำมาเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง จังหวัดภูเก็ต (เฉพาะส่วนเศียร)
นางภูเทวี
เดิมปรากฏในคัมภีร์พระเวทในชื่อ ปฤถิวี เทพีแห่งปฐพี คู่กับทโยส เทพแห่งท้องฟ้า ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดเทพและเทพีทั้งหลาย ในยุคหลังปฤถิวีและทโยสถูกลืมเลือนไป แม้ปฤถิวีจะยังมีคนนับถืออยู่แต่เป็นเพียงเทพเล็กๆ ต่อมาเมือเข้าสู่ยุคของศาสนาฮินดู ปฤถิวีอยู่ในฐานะของชายาของพระวิษณุอีกองค์หนึ่ง เรียกว่า ภูเทวี เนื่องจากพระวิษณุทรงปราบอสูรผู้ขโมยแผ่นดินและยกแผ่นดินขึ้นเหนือน้ำในปางวราหาวตาร นอกจากนั้นในเทวีภาควตะกล่าวว่า เมื่อพระพรหมเกิดจากดอกบัวที่ผุดจากพระนาภีของพระวิษณุ มีของเหลวไหลออกมาจากพระกรรณ (หู) ทั้งสองข้างของพระวิษณุ ของเหลวนี้เกิดเป็นรากษก ๒ ตน ชื่อ มธุ และไกฏกะ รบกวนพระพรหม พระวิษณุตื่นขึ้น จึงฆ่ามธุและไกฏกะ ไขมันของแข็งของ ๒ รากษกได้ผนึกเข้ากับแผ่นดินปรากฏเป็นเทพสตรีหรือ ภูมิเทวี หรือ ภูเทวี ในปุราณะถือว่าภูมิเทวีเป็นชายของพระวิษณุหรือเป็นศักติของพระวิษณุเช่นเดียวกับมหามายาหรือมายาเทวี
การปรากฏของพระวิษณุมัธยมโยคสถานะมูรติ
การปรากฏกายของพระวิษณุที่ประดิษฐานในเทวสถาน มักมี ๓ ท่า คือ ท่ายืน เรียกว่า สถานกะมูรติ (Sthanaka-murti) ท่านั่งเรียกว่า อาสนมูรติ (Asana- murti) และท่านอน เรียกว่า ศยนะมูรติ (Sayana- murti)
ท่าประทับยืน มี ๔ แบบ คือ โยคสถานกะมูรติ (Yogasthanaka-murti) โภคสถานกะมูรติ (Bhogasthanaka-murti) วีรสถานกะมูรติ (Virasthanaka-murti) และอาภิจาริกสถานกะมูรติ (Abhicharikasthanaka-murti) โดยโยคสถานกะมูรติจะประกอบด้วยฤษี ๒ องค์ คือ ภฤคุ (Bhrigu) และมารกัณเฑยะ (Markandeya) นั่งคุกเข่าอยู่ทางขวาและซ้ายของพระวิษณุ หรืออาจเป็นนางภูเทวี และมารกัณเฑยะ อยู่ทางขวาและซ้ายของพระวิษณุตามลำดับ ในเทวสถานที่ประดิษฐานพระวิษณุในท่านี้จะต้องมีพระศิวะ ๔ กร สลักบนกำแพงด้านเหนือ (หันหน้าไปทางใต้) มีพระพรหมประทับยืน ๔ กร บนกำแพงด้านใต้ (หันหน้าไปทิศใต้) โดยถ้าพระวิษณุห้อมล้อมด้วยเทพ เทพี และฤาษี คือ พระศิวะ พระพรหม นางภูเทวี ภฤคุ มารกัณเฑยะ จัดเป็นโยคสถานกะมูรติชั้นสูงสุด (Uttama Class) ถ้าไม่มีพระพรหมและพระศิวะ จัดเป็นโยคสถานกะมูรติชั้นกลาง (Madhyama Class) และถ้าไม่มีฤษีจัดเป็นโยคสถานกะมูรติชั้นต่ำสุด (Adhana Class)
ดังนั้น การพบพระวิษณุพร้อมฤษีมารกัณเฑยะและพระนางภูเทวีที่แหล่งโบราณคดีเขาพระนารายณ์ (เขาเวียง) จึงจัดเป็นพระวิษณุมัธยมโยคสถานะมูรติ (ชั้นกลาง)
เขาพระนารายณ์ (เขาเวียง)
เป็นภูเขาลูกเล็กๆ ตั้งอยู่ตรงจุดที่คลองเหลและคลองรมณีย์ไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำตะกั่วป่า บนยอดเขามีเทวสถานเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระวิษณุและเทพบริวาร (ฤษีมารกัณเฑยะ และพระนางภูเทวี)
ก่อนการขุดค้นทางโบราณคดีพบเศษอิฐและเศษหินกระจายอยู่ทั่วไป ต่อมามีการขุดค้นและขุดแต่งในโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณคดีเขาพระนารายณ์ ตำบลเหล อำเภอกะปง จังหวัดพังงา ของสำนักศิลปากรที่ ๑๕ ภูเก็ต ใน พ.ศ.๒๕๕๒ พบโบราณสถาน ๒ แห่ง คือ
โบราณสถานหมายเลข ๑
เป็นที่ประดิษฐานเทวรูป พระวิษณุและเทพบริวาร เป็นอาคารก่ออิฐ มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๕ เมตร ยาว ๕.๒๐ เมตร มีฐานเขียงก่อซ้อนกัน ๒ ชั้น สภาพถูกขุดทำลายอย่างมาก จากการขุดแต่งไม่พบรอยเสาอาคารและกระเบื้องหลังคา
โบราณสถานหมายเลข ๒
เป็นฐานอาคารก่ออิฐไม่ทราบประโยชน์ใช้งาน พบเพียงแนวอิฐในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง ๒ เมตร ยาว ๒ เมตร สภาพชำรุดมาก
----------------------------------------------------------
ค้นคว้า/เรียบเรียงข้อมูล : น.ส.สุขกมล วงศ์สวรรค์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
----------------------------------------------------------
อ้างอิง
- บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ และเรไร นัยวัฒน์. ทุ่งตึก เมืองท่าการค้าโบราณ. ภูเก็ต : สำนักศิลปากรที่ ๑๕ ภูเก็ต, ๒๕๕๐.
- ผาสุข อินทราวุธ, รูปเคารพในศาสนาฮินดู. นครปฐม : มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์, ๒๕๒๒.
- พิริยะ ไกรฤกษ์, “พระวิษณุ : ประติมากรรมที่พบในภาคใต้,” สารานุกรมวัฒนธรรม ภาคใต้ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๖.กรุงเทพฯ:สถาบันทักษิณคดีศึกษา, ๒๕๒๙.
- รายงานเบื้องต้นการขุดค้น-ขุดแต่งโบราณสถานเขาพระนารายณ์ ตามโครงการโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณคดีเขาพระนารายณ์ ตำบลเหล อำเภอกะปง จังหวัดพังงา พ.ศ.๒๕๕๒.
- อมรา ศรีสุชาติ, ดร.“โยคะนิทรา,” พิพิธวิทยาการ รวมบทความวิชาการด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ และพิพิธภัณฑสถานวิทยา ๒๕๕๕. กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๖), หน้า ๑๑.
(จำนวนผู้เข้าชม 2802 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน