เรื่องเล่าจากหอสมุดแห่งชาติ “วชิรญาณสุภาษิต” หนังสือแจกคราวฉลองหอพระสมุดวชิรญาณ ร.ศ. ๑๐๘
          เนื่องในวาระโอกาสครบรอบ ๑๑๕ ปี หอสมุดแห่งชาติ ในวันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓ นี้ ผู้เขียนขอนำผู้อ่านทุกท่าน ย้อนเวลากลับไปเมื่อ รัตนโกสินทร์ ศก ๑๐๐ (พุทธศักราช ๒๔๒๔) หรือ ๑๓๙ ปี ที่ผ่านมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนทรงมีพระราชดำริให้ขยายกิจการ หอพระสมุดวชิรญาณภายหลังเสด็จนิวัติพระนครกลับจากการเสด็จประพาสยุโรป ณ ช่วงเวลานั้นมีการจัดตั้ง หอพระสมุดสำหรับราชสกุลขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นองค์ประธานและองค์อุปถัมภก โดยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าลูกเธอ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมกันสร้างขึ้น เป็นการสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงโปรดพระราชทานนามหอพระสมุดนั้นว่า “หอพระสมุดวชิรญาณ” ตามพระสมณาภิไธยพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงผนวช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานตึกศาลา สหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ให้เป็นที่ตั้งหอพระสมุดวชิรญาณ และเสด็จ พระราชดำเนินทรงเปิด ในปีพุทธศักราช ๒๔๒๗
          ภายหลังในเดือนพฤษภาคม วันที่ ๑๔ และ ๑๕ พฤษภาคม รัตนโกสินทร์ ศก ๑๐๘ (พุทธศักราช ๒๔๓๒) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดให้มีการฉลองหอพระสมุดวชิรญาณขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ การครานั้นประกอบด้วยพระราชพิธีสงฆ์ การจัดโต๊ะเลี้ยงสมาชิกหอพระสมุดทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน การจัดตกแต่งหอพระสมุดด้วยพวงดอกไม้สดที่ร้อยกรองอย่างวิจิตร การออกร้านขายของ การประกวดร้อยกรองดอกไม้สด และการดนตรีขับร้อง ที่สำคัญมีการจัดพิมพ์หนังสือ “วชิรญาณสุภาษิต” เพื่อแจกแก่สมาชิกในงานฉลองหอพระสมุดวชิรญาณ ในครานั้นด้วย
          หนังสือวชิรญาณสุภาษิต เนื้อหามีทั้งคติพจน์ สุภาษิต ความเรียงอธิบายโวหารสุภาษิตในภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส ภายในเล่มเริ่มต้นด้วยการอัญเชิญพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อจะเสด็จสวรรคตมาลงไว้ในตอนต้น แล้วจึงถึงอารัมภพจน์ของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นจึงนำสุภาษิตต่าง ๆ ของกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ มาลงพิมพ์ไว้ตามลำดับ คือ โคลงสุภาษิตบทพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน ๓ บท ต่อด้วยบทสุภาษิตของกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ นอกจากนี้เป็นบทสุภาษิตของเจ้านายฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ขุนนางไทย ขุนนางต่างชาติ และพระสงฆ์ บทสุภาษิตที่แต่งมาถวาย ใช้รูปแบบคำประพันธ์หลายประเภท เช่น โคลงกระทู้ โคลงสุภาษิตซึ่งยกคาถาภาษาบาลีมาอธิบายความ กาพย์ กาพย์ห่อโคลง ฉันท์ กลอน และกลอนสักวา
          ปัจจุบัน “หนังสือวชิรญาณสุภาษิต” และ “ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖ รัตนโกสินทร์ ศก ๑๐๘” จัดเก็บและให้บริการ ณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ห้องหนังสือหายาก และห้องหนังสือประเทศเทศไทย ราชกิจจานุเบกษา และหนังสือนานาชาติ


หนังสือวชิรญาณสุภาษิต ร.ศ. ๑๐๘


ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖ รัตนโกสินทร์ ศก ๑๐๘

--------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นางสาวรวิวรรณ พุฒซ้อน บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
--------------------------------------------
บรรณานุกรม
“การฉลองหอสมุดวชิรญาณ” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖ (๑๙ พ.ค. ๑๐๘) ๕๗-๖๑. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ตำนานหอพระสมุด หอพระมณเฑียรธรรม หอวชิรญาณ หอพุทธสาสนสังคหะ แลหอสมุดสำหรับพระนคร. พระนคร: อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๑๒. แม้นมาส ชวลิต. ประวัติหอสมุดแห่งชาติ. พระนคร: กรมศิลปากร, ๒๕๐๙. วชิรญาณสุภาษิต. พระนคร: หอพระสมุดวชิรญาณ, ร.ศ. ๑๐๘.

(จำนวนผู้เข้าชม 1506 ครั้ง)

Messenger