เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ตุ๊กตาดินเผาจากแหล่งโบราณคดีคลองคูเมืองเดิม(คลองบ้านขมิ้น) เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
ในการดำเนินงานขุดค้นทางโบราณคดีพื้นที่ฝั่งตะวันออกและตะวันตกของคลองคูเมืองเดิม (คลองบ้านขมิ้น) เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ในโครงการอนุรักษ์และพัฒนากำแพงและคูเมืองกรุงธนบุรี ระหว่าง ปี งบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๘ – ๒๕๕๙ พบหลักฐานทางโบราณคดีที่น่าสนใจประเภทหนึ่ง คือ ตุ๊กตาดินเผา พบจำนวนกว่า๒๐ รายการ
ตุ๊กตาดินเผาเหล่านี้ มีวิธีทำแบ่งเป็น ๒ แบบ ได้แก่ แบบที่ ๑ ทำจากดินเหนียวขึ้นรูปด้วยพิมพ์และเผาด้วยอุณหภูมิต่ำกว่า ๑,๐๐๐ องศาเซลเซียส เป็นตุ๊กตาดินเผามีขนาดสูงระหว่าง ๕ – ๑๒ เซนติเมตร ปั้นเป็นรูปบุคคลเพศชายและเพศหญิง ในอิริยาบถยืนและนั่งพับเพียบ ตุ๊กตาเหล่านี้ล้วนไม่มีศีรษะ ตุ๊กตารูปคนบางชิ้นอยู่ในอิริยาบถยืนยืนข้างเด็กหรือนั่งอุ้มไก่ ส่วนตุ๊กตาเพศหญิงบางชิ้นอยู่ในอิริยาบถนั่งอุ้มเด็ก
แบบที่ ๒ พบเพียง ๑ ชิ้น เป็นตุ๊กตารูปคนนั่งชันเข่า ไม่มีส่วนศีรษะ ขนาดสูงประมาณ ๖ เซนติเมตร ทำด้วยดินขาวขึ้นรูปด้วยการปั้นและมีการเคลือบผิวด้วยน้ำเคลือบ โดยเผาในอุณหภูมิ ๑,๓๐๐ – ๑,๔๕๐ องศาเซลเซียส
ดินเผาเหล่านี้พบร่วมกับเศษเครื่องถ้วยจีนที่กำหนดอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๔ – ๒๕ จึงสันนิษฐานว่า อาจเป็นสิ่งที่ทำขึ้นตามในช่วงระยะเวลาเดียวกัน โดยลักษณะการพบที่ไม่ปรากฏส่วนศีรษะอยู่กับตัวตุ๊กตา อาจเปรียบเทียบได้กับตุ๊กตาที่ใช้ในพิธีกรรม ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงประทานอธิบายแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในสาส์นสมเด็จ ว่า “...อุบายเสียกะบาลอยูในประเภทลวงผี มักทำในเวลามีคนเจ็บไข้อาการส่อว่าถูกผีกระทำ หรือทำเมื่อขึ้นปีใหม่เพื่อจะทำให้ผีสำคัญว่าได้คนในครัวเรือนนั้นไปแล้ว ไม่มาค้นคว้าหาตัวในปีนั้น ลักษณะการเสียกะบาลที่ทำกันในกรุงเทพฯ ว่า ตามที่ได้เคยเห็นมาแต่เด็ก เอาดินเหนียวมาปั้นหุ่น(อย่างตุ๊กตา) แทนตัวคน จะให้แทนคนไหนเอาของที่คนนั้นใช้ เช่น ตัดเศษผ้านุ่งห่มเอาไปแต่งหุ่นเป็นสำคัญ แล้วเอากาบกล้วยมากรึงเป็นอย่างรูปกะบะ เรียกว่า กะบาล เอารูปหุ่นมากหรือน้อยแล้วแต่เหตุ ตั้งรวมลงในกะบาล มีข้าวปลาใส่กระทงน้อยๆ(จะหมายว่าเป็นเสบียงของหุ่นหรือเป็นเครื่องเซ่นผี ข้อนี้ไม่ทราบแน่) วางไปในกะบาลนั้นด้วย แล้วเอากะบาลนั้นไปตั้งไว้กลางแจ้งในลานบ้านสัก ๑ วัน แล้วเอาทิ้งเสียที่อื่น(เดิมเห็นจะทิ้งในป่าช้า)เป็นเสร็จพิธี... ตุ๊กตาสังคโลกรูปผู้หญิงอุ้มทารกคอหักทิ้ง หรือรูปผู้ชายอุ้มไก่สมัยสุโขทัย เรียกตุ๊กตาเสียกะบาล...ศาสตราจารย์เซเดส์ว่า คำกะบาลเป็นภาษาเขมร แปลว่า หัว...เสียกะบาล ก็คือเสียหัว ที่ตุ๊กตาสังคโลกคอหักโดยมากนั้นคงเป็นคนต่อยให้หักเมื่อทำพีธี จึงเลยเรียกกันว่า “พิธีเสียกะบาล”...รูปผู้หญิงอุ้มทารกนั้น คงทำเป็นพิธีเสียกะบาลเมื่อคลอดลูกเป็นพื้น เพราะคลอดลูกในสมัยนั้น น่าที่แม่จะเป็นอันตรายกันมาก...”
นอกจากนี้ ยังพบตุ๊กตาดินเผารูปบุคคลลักษณะเหมือนรูปเคารพ ส่วนศีรษะของบุคคล และลิง ซึ่งหลักฐานเหล่านี้ อาจมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อในครั้งอดีต
(ซ้าย) สภาพปัจจุบันพื้นที่ขุดค้นฝั่งตะวันออกของคลองคูเมือเดิม(คลองบ้านขมิ้น) (ขวา) สภาพปัจจุบันพื้นที่ขุดค้นฝั่งตะวันตกของคลองคูเมือเดิม(คลองบ้านขมิ้น)
(ซ้ายและขวา) ตุ๊กตาดินเผารูปบุคคลเพศหญิงในอิริยาบถอุ้มเด็ก ไม่มีส่วนศีรษะ พบจากหลุมขุดค้นฝั่งตะวันตกของคลองคูเมืองเดิม (คลองบ้านขมิ้น)
(ซ้าย) ตุ๊กตาดินเผารูปบุคคลเพศชายในอิริยาบถอุ้มไก่ ไม่มีส่วนศีรษะ พบจากหลุมขุดค้นฝั่งตะวันตกของคลองคูเมืองเดิม(คลองบ้านขมิ้น) (ขวา) ตุ๊กตาดินเผารูปบุคคลเพศชายในอิริยาบถอุ้มไก่ พบจากหลุมขุดค้นฝั่งตะวันตกของคลองคูเมืองเดิม(คลองบ้านขมิ้น)
(ซ้าย) ตุ๊กตาดินเผารูปบุคคลยืน ส่วนศีรษะและเท้าขาดหายไป มือขวาถือลูกกลม มือซ้ายวางบนตัวนก พบจากการขุดค้นฝั่งตะวันออกของคลองคูเมืองเดิม(คลองบ้านขมิ้น) (ขวา) ตุ๊กตาดินเผารูปบุคคลยืน ไม่มีส่วนศีรษะและเท้า มีเด็กยืนพิงกายทางด้านซ้าย พบจากการขุดค้นฝั่งตะวันออกของคลอง คูเมืองเดิม(คลองบ้านขมิ้น)
(ซ้าย) ตุ๊กตาดินเผาเคลือบรูปบุคคลนั่ง มือ ๒ ข้างประสานจับลูกกลม ส่วนศีรษะและเท้าขาดหายไป พบจากการขุดค้นฝั่งตะวันออกของคลองคูเมืองเดิม(คลองบ้านขมิ้น) (ขวา) ตุ๊กตาดินเผารูปเด็กทารกยืน ส่วนเท้าขาดหายไป พบจากการขุดค้นฝั่งตะวันออกของคลองคูเมืองเดิม(คลองบ้านขมิ้น)
(ซ้าย) ตุ๊กตาดินเผารูปช้าง พบจากการขุดค้นฝั่งตะวันออกของคลองคูเมืองเดิม(คลองบ้านขมิ้น) (ขวา) ส่วนศีรษะตุ๊กตาดินเผารูปลิง พบจากการขุดค้นฝั่งตะวันตกของคลองคูเมืองเดิม(คลองบ้านขมิ้น)
-----------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : เมธินี จิระวัฒนา นักโบราณคดีชำนาญการ กองโบราณคดี
-----------------------------------------------
(จำนวนผู้เข้าชม 2554 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน