อาคารเก่าเล่าเรื่องเมืองหว้านใหญ่
          อำเภอหว้านใหญ่แต่เดิมอยู่ในเขตเมืองพาลุกากรภูมิ ซึ่งตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๙ ขึ้นเมืองมุกดาหาร เขตเมืองพาลุกากรภูมิ ทางเหนือตั้งแต่ลำน้ำก่ำ ทางใต้ถึงห้วยบางทราย เมืองพาลุกากรภูมิถูกยุบเป็นหมู่บ้าน ขึ้นกับตำบลบ้านหว้าน เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๑ ขึ้นกับท้องที่อำเภอมุกดาหาร ตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอหว้านใหญ่ เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๑ ยกฐานะเป็นอำเภอหว้านใหญ่ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๖
          อำเภอหว้านใหญ่มีวัดที่สำคัญวัดหนึ่ง ได้แก่ วัดพระศรีมหาโพธิ์ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร เป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณวัดมีกำแพงล้อมรอบพื้นที่ประมาณ ๖ ไร่เศษ และมีสิ่งก่อสร้างสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอำเภอหว้านใหญ่ก็คือ อาคารที่ว่าราชการหว้านใหญ่ (เดิม)

          อาคารหลังนี้ตามประวัติระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗-๒๔๗๐ โดยช่างญวนชื่อ แก้วบุญสี (ศรี) แต่บ้างระบุว่าชื่อ หัสดี จากฝั่งประเทศลาวซึ่งมาบวชที่วัดแห่งนี้ แรกสร้างเชื่อว่าน่าจะใช้เป็นที่ว่าราชการหว้านใหญ่ในขณะนั้น เนื่องจากบริเวณหน้าจั่วอาคารด้านหน้าประดับรูปครุฑอย่างที่นิยมสร้างเป็นสถานที่ราชการในช่วงเวลานั้น จากนั้นเมื่อย้ายที่ว่าการกิ่งอำเภอหว้านใหญ่ออกไป ทางวัดน่าจะใช้เป็นกุฎิสงฆ์และใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในเวลาต่อมา
          ลักษณะตัวอาคารเป็นทรงตึกฝรั่ง ๒ ชั้น มีแผนผังเป็นรูปตัวที (T) ด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันออกทำเป็นมุกยื่นออกมา ชั้นล่างยกพื้นเตี้ย ส่วนหน้าเป็นโถงโล่ง มีบันไดทางขึ้นด้านหน้าและทั้งสองปีกซ้ายขวา ส่วนหลังกั้นเป็นห้อง ระหว่างช่วงเสาทำเป็นซุ้มวงโค้ง ชั้นที่ ๒ มีรูปแบบเช่นเดียวกับชั้นล่าง คือ ส่วนหน้าเป็นโถงโล่ง ส่วนหลังกั้นเป็นห้อง ระหว่างช่วงเสากั้นด้วยราวระเบียง ส่วนหัวเสาทำเป็นซุ้มวงโค้ง หลังคาส่วนหน้าทรงจั่วมุงกระเบื้องดินเผา หลังคาส่วนหลังทรงปั้นหยามุงกระเบื้องดินเผา
          อาคารหลังนี้นับเป็นอาคารที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่นิยมสร้างในสมัยนั้น และเป็นอาคารที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของอำเภอหว้านใหญ่ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๑๕ ตอนพิเศษ ๔ง พื้นที่ ๑ ไร่ ๑ งาน ๕๕.๗๙ ตารางวา

-----------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล: นางสาวเมริกา สงวนวงษ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
-----------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง:
-กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี.๒๕๕๖.รายงานสำรวจแหล่งโบราณคดีและโบราณสถาน ในจังหวัดมุกดาหาร.กรุงเทพฯ:เดือนตุลา. -คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ.๒๕๔๒.วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดมุกดาหาร.กรุงเทพฯ:คุรุสภาลาดพร้าว.

(จำนวนผู้เข้าชม 2928 ครั้ง)